6 วิธีเปลี่ยนห้องเล็ก เป็นมุมทำงานสุดเวิร์ค
ห้องใครเล็ก ห้องใครรก ก็สามารถจัดมุมทำงานและบริหารการใช้พื้นที่ให้กลายเป็นมุมทำงานสุดเวิร์ค รองรับการ Work from Home (WFH) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ และวิถี New normal ที่เปลี่ยนบ้านให้เป็นออฟฟิศ ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงฟรีแลนด์ด้วย เมื่อจัดพื้นที่และตารางชีวิตให้ทำงานได้ดีแล้ว ก็สามารถทำงานได้คล่องไม่มีเบื่ออีกต่อไป
1.เริ่มต้นที่การบริหารพื้นที่ใช้งาน
หากบ้านมีพื้นที่เพียงพอก็สามารถจัดสรรมุมทำงานได้ไม่ยาก แต่สำหรับห้องขนาดเล็กอย่าพึ่งคิดว่าจะจัดมุมทำงานได้อย่างไรในเมื่อมีอยู่ห้องเดียว หันซ้ายก็เป็นเตียง หันขวาก็เป็นห้องน้ำ ถ้าเราคิดว่าโดยปกติทุกพื้นที่มีการใช้งานเป็นช่วงเวลา อย่างช่วงที่เราไม่ได้ใช้เตียง พื้นที่ตรงนั้นก็ถือเป็นที่ว่าง ซึ่งหากรู้จักจัดสรรและมีวินัยเพียงพอก็จะสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือ ห้องของคนญี่ปุ่นที่มีขนาดเล็ก แต่ก็สร้างวัฒนธรรมการพับเก็บที่นอนทุกครั้งในตอนเช้า จึงเกิดพื้นที่ว่างใช้ทำกิจกรรมอื่นต่อได้ เป็นการบริหารพื้นที่ใช้งานแบบทับซ้อนให้เหมาะกับกิจกรรมและเวลา มาดูตัวอย่างการบริหารพื้นที่ใช้งานตามช่วงเวลาสำหรับการ Work from Home กัน
2.วางโต๊ะดี ทำงานคล่อง
แต่ละคนชอบมุมนั่งทำงานต่างกัน บางคนชอบหันหน้าเข้าผนัง บางคนชอบมองวิว มาดูการจัดวางโต๊ะทำงานแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี แล้วเลือกจัดได้ตามชอบใจ หรือปรับให้มีมุมทำงานหลายมุมก็แก้เบื่อได้ดี
การวางโต๊ะทำงาน
-หันข้างให้หน้าต่าง ถือเป็นตำแหน่งที่ดี ได้รับทั้งแสงธรรมชาติและการพักสายตา แต่ก็หันกลับมามีสมาธิกับการทำงานได้
-หันหน้าเข้าผนัง สร้างสมาธิได้ดี มีพื้นที่ติดบอร์ดหรือชั้นวางของ เหมาะกับงานที่ต้องการการจดจ่อ
-หันหน้าเข้าหน้าต่าง ทำงานไปพักสายตาไปก็คลายเครียดได้ และแสงธรรมชาติช่วยให้สมองปลอดโปร่ง เป็นมุมที่เหมาะกับการคิดสร้างสรรค์หรือวางแผนงาน
-วางโต๊ะแบบลอยตัว เป็นการจัดโต๊ะที่ใช้พื้นที่มากกว่าโต๊ะวางชิดผนัง ให้ความรู้สึกไม่อึดอัด เหมาะกับการทำงานที่มีการพูดคุยงานกัน
-หันหน้า หันข้างให้ประตู เป็นตำแหน่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้ขาดสมาธิ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็กั้นด้วยฉาก ชั้นวางของ หรือกระถางต้นไม้ที่สูงระดับสายตาเวลานั่ง
3.ท่านั่งที่ถูกต้อง
-ท่านั่งทำงานที่สบาย คือ เท้าจรดพื้น และเข่าตั้งฉากอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก นั่งให้เต็มก้น หลังตรงแนบกับพนักพิง ไม่โน้มตัวเข้าหาหน้าจอ และไหล่อยู่ในท่าธรรมชาติ ไม่เกร็งหรือห่อไหล หากที่นั่งเก้าอี้ลึกเกินไป ควรใช้หมอนหนุนหลัง
-ปรับหน้าจอให้ตรงหน้าพอดี อยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย (20°) โดยที่ไม่ต้องก้มหรือแหงนคอมากเกินไป โดยมีระยะห่างจากหน้าจอประมาณหนึ่งช่วงแขน
-แป้นคีย์บอร์ดอยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก และใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน
4.ตั้งกฎการพัก
Work from Home อยู่บ้านคนเดียวก็จะเหงาๆ หน่อย จึงควรหาวิธีลดความเครียดจากการจดจ่อกับงาน อาจเป็นการบริหารระหว่างทำงาน หรือทำงานอดิเรกใหม่ๆ หลังช่วงเวลาทำงานแล้วถ่ายรูปอวดเพื่อนกัน แต่ก็ต้องระวังใจไม่พักจนเพลิน จึงแนะนำให้ตั้งกฎการพักให้ตัวเอง เช่น
-พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทุก 20 นาที เปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที ลุกเดินทุก 1 ชั่วโมง
-มีชั่วโมงฟิตหุ่น ลดพุง ในเมื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับ ลองสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง โดยเปลี่ยนเวลาที่เคยเดินทางวันละ 1-2 ชั่วโมง ให้เป็นเวลาออกกำลังกาย ใครที่เคยบ่นว่าไม่มีเวลาก็จะไม่มีข้อแก้ตัวอีกต่อไป
-ช่วงเวลาพักให้เปลี่ยนที่นั่ง เมื่อถึงเวลาพักเที่ยงหรือเบรกช่วงบ่าย แนะนำให้เปลี่ยนมุมนั่งและหยุดคิดเรื่องงาน ก็ช่วยลดความจำเจและล้าจากการทำงานได้
-ดูแลจิตใจ ใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นเวลาสำหรับการกลับมาดูแลจิตใจตัวเอง อย่างการทำงานอดิเรก เช่น ปลูกผักกินเอง ปลูกเห็ด เลี้ยงปลาตู้ จัดสวนกระถาง เพื่อเตรียมใจให้พร้อมรับมือกับงานที่จะกลับมาเยอะมากกว่าเดิมหลังผ่านสถานการณ์นี้ไป แถมอาจได้อาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากงานอดิเรกอีกด้วย
5.มีตัวช่วยพร้อม
มีหลายตัวช่วยดีๆ ที่ช่วยให้ Work from Home ได้อย่างราบรื่น เช่น
-หูฟังพร้อมไมค์ ช่วยสร้างสมาธิตัดเสียงรบกวนรอบตัว และใช้ประชุมออนไลน์ได้สะดวก
-แอปพิเคชั่นประชุมออนไลน์ เช่น Zoom Skype Line เพื่อประชุมและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน
-เซตสเตชันเนอรี่ หากเปลี่ยนมุมทำงานบ่อย เตรียมกล่องใส่เซตอุปกรณ์ทำงานไว้ข้างตัว ก็จะหาของง่ายไม่เสียเวลา
-Pocket Wi-Fi ถ้าใครไม่มีอินเตอร์เน็ตบ้าน หรือจะแชร์อินเตอร์เน็ตจากมือถือก็ไม่สะดวก เพียงซื้อซิมมาใส่ก็ใช้ได้เลย แล้วยังพกพาไปได้ทุกที่
6.แม้จะอยู่บ้าน ก็ต้องกำหนดช่วงเวลาทำงาน
ควรตั้งเวลาการทำงานให้ใกล้เคียงกับที่เคยทำที่ออฟฟิศ มีเวลาเข้างาน พักเที่ยง เบรกช่วงบ่าย และเวลาเลิกงาน หรือตั้งเวลาทำงานให้ได้วันละ 8-9 ชั่วโมง แม้แต่ละวันอาจไม่ตรงเวลาที่ตั้งไว้ แต่ก็พยายามทำงานให้เสร็จในเวลา ก็จะเห็นว่าในแต่ละวันเราทำงานได้คืบหน้าแค่ไหน และเป็นช่วงเวลาในการติดต่อประสานงานกับผู้อื่นด้วย อีกทั้งเมื่อสลับกับการไปออฟฟิศ ก็จะไม่ต้องปรับตัวมากนัก เป็นการรักษาสมดุลในการทำงาน
____________________________________________________________________
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : Jomm
ภาพประกอบ cover : pstaryu
ภาพประกอบเรื่อง : เอกรินทร์ พันธุนิล
อ่านเรื่องที่น่าสนใจ
13 ไอเดียจัดระเบียบมุมทำงานที่คุณเองก็ทำได้ให้น่าใช้งานกว่าที่เคย
เคล็ดลับการจัดวางโต๊ะทำงาน วางแบบไหนให้เหมาะกับเรา
จัดระเบียบมุมทำงานขนาดเล็ก ให้มีพื้นที่เหลือเยอะด้วยเทปหนามเตย
ติดตามบ้านและสวนได้ที่ www.facebook.com/baanlaesuanmag