นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำ Via Wien โดยคุณนิวัติ คูณผล เริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายจากความชอบส่วนตัว ผ่านกล้องฟิลม์และเลนส์มือสอง เผยเรื่องราวของกรุงเวียนนา ออสเตรีย ในแบบสตรีทสีขาวดำ ทั้งผู้คน ร้านค้า และงานสถาปัตยกรรม ที่นอกจากผลงานจะน่าสนใจแล้ว การจัดแสดงงานด้วยแสง ซึ่งถูกออกแบบมาโดยเฉพาะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
กล้องฟิล์มเก่า ที่ไม่รู้ว่าจะใช้ได้หรือไม่
“พอกลับมาใช้ฟิล์มภาพมันได้อารมณ์กว่า การถ่ายทำให้เราละเมียดขึ้น เพราะยุคที่ถ่ายด้วยมือถือด้วยกล้องดิจิตอล นี่ถ่ายแหลกเลย แต่ฟิล์มมันต้องรอ ต้องมีจังหวะ เราต้องประหยัด ก็เลยทำให้มี Passion ของการถ่ายฟิล์มเกิดขึ้น” คุณติ๊ก-นิวัติ คูณผล เจ้าของผลงานภาพถ่าย และมัณฑนากรแห่ง Process Architect & Planner อธิบายถึงการที่กลับมาถ่ายกล้องฟิล์มอีกครั้ง
นิทรรศการนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวของการไปใช้ชีวิตอยู่ 4 ปีที่เวียนนา เป็นเหตุให้คุณติ๊กได้ไปเดินเล่นที่ตลาดมือสอง จนได้ไปพบกล้องฟิล์มซึ่งวางเป็นกองๆ ขาย 10 ยูโร 20 ยูโร และ 30 ยูโร เข้า โดยผู้ขายเองก็ไม่รับประกันว่ากล้องที่ขายอยู่นั้นใช้งานได้ไหม คุณติ๊กจึงซื้อกล้องตัวหนึ่งกลับมาในราคาราว 1,200 บาท มันคือกล้อง Olympus OM2 และเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้
หลังจากนั้นคุณติ๊กก็ศึกษากล้องตะกูล OM มากขึ้น ไปซื้อเลนส์มือสองมาใช้งาน และซื้อกล้องอื่นๆ มาเพิ่มเติมภายหลัง แล้วตระเวณไปตามที่ต่างๆ เพื่อรอดูแสง เมื่อถ่ายเสร็จก็นำไปล้างและโพสต์งานลงบนโซเชียลในชื่อ Via Wien ทำให้เริ่มมีคนเข้ามาพูดคุยกัน เมื่อคุณติ๊กจะกลับเมืองไทย ทางแกลอรี่ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง(บ้านอาจารย์ศิลป์) จึงติดต่อในเรื่องการแสดงงานภาพถ่ายขาวดำชุดนี้
คน ถนน ไส้กรอก และสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่
เนื้อหาของภาพหลักๆ แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันได้แก่ ภาพสตรีทที่ว่าด้วยเรื่องผู้คน และเรื่องราวความเป็นไปบนท้องถนนที่กรุงเวียนนา ส่วนที่สองว่าด้วยเรื่องราวของร้านไส้กรอก ซึ่งไส้กรอกสไตล์เวียนนาถือเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ทุกคนต้องลิ้มลองเมื่อไปยือน และส่วนที่สามเป็นการกำหนดโจทย์ของคุณติ๊กเอง ในการตามไปถ่ายงานของสถาปนิกออสเตรียนาม Otto Wagner (1841-1918) ผสถาปนิกผู้นำกลุ่มในการวางผังเมืองและสร้างอาคารหลายแห่งในกรุงเวียนนาอย่างสถานีรถไฟที่มีกลิ่นของศิลปะอาร์ตนูโวเป็นต้น
คิดอย่างดีไซเนอร์ ผนังไม่ใช่แค่ผนังแขวนรูป
โดยในนิทรรศการยังมีอีกส่วนที่น่าสนใจ คือห้องที่จัดแสดงภาพโดยควบคุมแสงให้เป็นห้องมืด “เพราะเราเป็นมัณฑนากร ก่อนหน้านี้เราก็ทำงานกับ Exhibition อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็มองอะไรที่เป็น Exhibition ที่ไม่ใช่แค่การแขวนรูป ผมต้องวางแผนก่อนว่าห้องไหนเป็นภาพหมวดไหน พอรู้ว่าห้องเนี่ยเป็นภาพหมวดแสงและเงา ผมก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรกับห้องนี้สักอย่างล่ะ ก็จัดแสงดีกว่า เลยชวนน้องไลท์ติ้งดีไซเนอร์ ชื่อน้องผึ้งจาก Be Lit มา”
แสงในห้องแสดงแสงเงานี้ แบ่งออกเป็นสองเทคนิค เทคนิคแรกคือการส่องไฟเป็นกรอบสี่เหลี่ยมให้พอดีกับขนาดของภาพ ซึ่งจะช่วยให้ภาพดูคล้ายกับเรืองแสง กับอีกเทคนิคคือการจัดแสงส่องให้เป็นแถบรูปทรงของเส้นลำแสง เอียงพาดบนกำแพงล้อไปกับแสงจริงในภาพ เสมือนเป็นแดดที่แทรกตัวออกมาจากช่องตึก นับเป็นรูปแบบการจัดแสดงที่ส่งเสริมผลงาน ขยายเรื่องราวจากภาพสู่พื้นที่จริง
Via Wien
“Wien คือชื่อเมืองเวียนนา ในภาษาของเขา ภาษาเยอรมันที่เขาใช้คนออสเตรียจะเรียกตัวเองว่า Wiener ส่วน Via ก็แปลว่า ผ่าน ซึ่งเราก็ผ่านเวียนนามา” คุณติ๊กอธิบายถึงชื่อที่มาของนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำนี้ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวเมือง ซึ่งคนไทยอาจไม่คุ้นเคยในการไปใช้ชีวิตอยู่เท่าไรนัก ส่วนใครที่สนใจสามารถเข้าชมได้ นิทรรศการ Via Wien นี้จัดขึ้นที่ชั้นสอง ของบ้านอาจารย์ฝรั่ง (บ้านอาจารย์ศิลป์) ใกล้สะพานซังฮี้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 มกราคม 2564 สอบถามได้ที่ 065 234 0044 โดยชั้นล่างยังมีร้านกาแฟเก๋ๆ Craftman X บ้านอาจารย์ฝรั่ง ให้นั่งเล่นได้ด้วย