บ้านไม้ชั้นเดียว เกี่ยวหัวใจให้ผ่อนคลาย

บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงแสนสงบที่แทรกตัวอยู่กลางธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำนครนายกหลังนี้ เป็นที่พักกายพักใจจากชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวง จะมีก็เพียงเสียงของธรรมชาติและสายน้ำที่อยู่เบื้องหน้าเท่านั้นที่เห็นเมื่อไรก็ชวนให้หัวใจรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์อยู่เสมอ

บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณหนุ่ม  บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง

บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง
แบ่งเป็นเรือนไม้สองหลังเพื่อให้บ้านดูโปร่งและสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ทั้งสองหลังสามารถมองเห็นกันได้จากส่วนระเบียงทางเดินและริมน้ำ
ห้องนอน
ห้องนอนของเจ้าของบ้านในเรือนหลังแรก ออกแบบผนังด้านที่ติดริมน้ำเป็นกระจกบานกระทุ้งทั้งผืนเพื่อรับวิวและลมจากแม่น้ำ ตกแต่งห้องอย่างเรียบง่าย มีมุ้งกางกันยุงแทนการติดมุ้งลวดรอบบ้าน เพื่อไม่ให้บังวิวธรรมชาติอันงดงาม
ระเบียงไม้ บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง
ระเบียงนั่งเล่นที่ติดกับห้องนอนเป็นพื้นที่สำหรับนั่งเอกเขนกอ่านหนังสือ ทำที่นั่งไม้สูง 45 เซนติเมตร เป็นตัวแอล (L) เข้ามุมที่ระเบียง เพื่อปรับเปลี่ยนมุมนั่งเล่นได้ตามใจชอบ

บางครั้งเมื่อเราเบื่อชีวิตในเมือง การได้ออกมาใช้ชีวิตในต่างจังหวัดที่ไม่มีทั้งทีวี วิทยุ หรือโทรศัพท์ อาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถเติมเชื้อไฟให้คุณกลับมามีแรงลุยงานใหม่ได้อีกครั้ง

คุณหนุ่ม เจ้าของบ้านไม้แห่งนี้ มีความคิดว่าอยากมีบ้านริมน้ำมานานแล้ว จนวันหนึ่งมีโอกาสได้มาพบที่ดินที่เขาต้องการ ซึ่งบางคนไม่แน่ใจว่าจะนำมาสร้างบ้านดีหรือไม่ เพราะมีที่ดินติดกับวัด ตั้งห่างจากถนนหลักร่วมกิโล แถมถนนทางเข้ายังเป็นฝุ่นดินลูกรังอีกต่างหาก แต่เมื่อมาเห็นบรรยากาศริมน้ำที่ร่มเย็นและอัธยาศัยไมตรีที่น่ารักของเพื่อนบ้าน ทำให้เขาตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้และเริ่มสร้างบ้านในฝันทันที

บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตร วางแปลนแบ่งออกเป็นสองส่วน มีระเบียงรอบๆบ้านเพื่อความใกล้ชิดธรรมชาติเรือนหลังแรกใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวสำหรับพักผ่อนและใช้เวลาว่างอ่านหนังสือเงียบๆ ส่วนอีกหลังใช้เป็นที่รับรองแขกผู้มาเยือน ต่อเนื่องกับระเบียงกว้างยื่นสู่แม่น้ำใช้เป็นที่สังสรรค์ยามค่ำคืน

ระเบียงไม้
ระเบียงไม้ทำราวกันตกเตี้ยๆสำหรับเป็นม้านั่งในตัวและเพื่อไม่ให้บดบังวิวแม่น้ำ ทำให้ใกล้ชิดธรรมชาติได้ดีทีเดียว เหมาะเป็นมุมจิบกาแฟยามเช้าหรือนั่งสังสรรค์ตอนเย็นได้สบายๆ
ระเบียงไม้
ระเบียงกว้างส่วนเรือนรับรองแขกเปิดโล่งรับวิวแม่น้ำและธรรมชาติโดยรอบ
ระเบียงไม้ ระเบียงทางเดิน บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง
ระเบียงทางเดินไม้กว้าง 1.50 เมตร ปูพื้นไม้เว้นร่อง 5 มิลลิเมตร ด้านหนึ่งวางชั้นไม้และของเก่าตกแต่ง ทำราวกันตกเตี้ยๆสูงประมาณ 45 เซนติเมตร สำหรับนั่งเล่นได้ในตัวตลอดแนว
บานเฟี้ยม
ทางเข้าเรือนหลังที่สองสำหรับรับรองแขก ผนังด้านหนึ่งเป็นบานเฟี้ยมบ้านไทยโบราณที่มีลวดลายสวยงาม พร้อมช่องลมแกะสลักด้านบนเพื่อระบายความร้อน ทั้งหมดนี้สวยลงตัวโดยไม่ต้องหาของประดับเพิ่มเติมเลย
หน้าต่างบานกระทุ้ง
ด้านในเรือนรับรองติดตั้งหน้าต่างโบราณที่สามารถเปิดเป็นบานกระทุ้งและบานสะวิงได้ในตัว ทำให้เลือกใช้งานได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะรับแสงหรือรับลม ภายในตกแต่งด้วยของเก่าที่ซื้อจากตลาดในหมู่บ้านที่ชาวบ้านนำมาขาย

ออกแบบบ้านให้ยกพื้นสูงประมาณ 1-2 เมตร โดยไล่ระดับจากถนนทางเข้ามาจนถึงริมตลิ่ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงหน้าน้ำและเพื่อคงสภาพดินตามธรรมชาติไว้ เรือนไม้ทั้งสองหลังนั้นซื้อต่อมาจากบ้านเก่าที่กำลังรื้อทิ้งแล้วขนส่งนำชิ้นส่วนมาประกอบตกแต่งใหม่ตามความต้องการและเงื่อนไขของโครงสร้างเดิม โดยไม่ได้ตกแต่งผิวไม้เลยทำให้ได้บ้านที่มีบรรยากาศย้อนยุคพร้อมผิวสัมผัสอบอุ่นของไม้เก่าในสภาพเดิมจริงๆ

ห้องนอนไม้

ห้องนอน
ห้องนอนแขกสร้างแพตเทิร์นที่ผนังด้านหนึ่งโดยผสมวัสดุระแนงไม้และเหล็กเส้นทำลวดลายเส้นตั้งและเส้นนอน สร้างลูกเล่นให้ห้องดูน่าสนใจ

ภายในบ้าน คุณหนุ่มตกแต่งด้วยของเก่าที่หาซื้อได้ในตลาดละแวกบ้าน และใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ดูเรียบง่ายผสมผสานกับวัสดุธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากงานรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่คุณหนุ่มเคยทำมาก่อน เมื่อนำทั้งหมดมาบวกเข้ากับไอเดียสนุกๆก็สามารถสร้างสรรค์พื้นที่เฉพาะตัว อย่างห้องครัวเรือนไม้ ห้องน้ำเปิดโล่ง หรือของตกแต่งอย่างโคมไฟประดิษฐ์ ที่ทั้งหมดล้วนสวยงามแปลกตา แต่ก็แฝงไว้ด้วยความสมถะแบบชาวบ้าน ทำให้บ้านดูร่มรื่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร มองไปมุมไหนก็ดูผ่อนคลายสบายตา

ครัวไทย
ห้องครัวไทยที่มีหน้าต่างบานกว้างเพื่อระบายกลิ่น ใช้โครงคร่าวผนังไม้เป็นชั้นสำหรับวางเครื่องปรุงในตัว และใช้ไม้ในองค์ประกอบทุกส่วนเพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศของบ้านไทย ไม่ว่าจะเป็นที่วางเตา ฐานอ่างล้างจาน และโต๊ะเตรียมอาหาร แต่สำหรับครัวที่ใช้งานเป็นประจำไม่ควรมีไม้ไว้ใกล้เตาไฟมากนัก เพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ได้
ห้องน้ำ
ห้องน้ำแบบเปิดโล่ง แบ่งส่วนเปียกส่วนแห้งด้วยการกั้นผนังอิฐบล็อกโปร่งๆที่เจ้าของบ้านออกแบบขึ้นมาเอง อ่างอาบน้ำกรุไม้รอบด้านเพื่อให้เข้ากับบ้านไม้ สร้างสีสันด้วยผนังปูนสีเหลืองสูง 1 เมตรที่ด้านหลัง
ห้องอาบน้ำ
ส่วนฝักบัวอาบน้ำ ด้านล่างทำผนังปูนสูง 1 เมตร ด้านบนต่อเป็นผนังไม้ไผ่แบบธรรมชาติ ทำโครงหลังคาแบบโปร่งเพื่อแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนและใช้ติดตั้งดวงโคมส่องสว่างในห้องน้ำ
บ้านไม้
มุมหนึ่งในบ้านที่ให้ความรู้วึกเหมือนอยู่ในบ้านย้อนยุค เพราะเต็มไปด้วยของเก่าที่สะสมไว้อย่างทีวี พัดลม กล้องถ่ายรูป และของเล่นต่างๆ ทำหน้าต่างเชื่อมต่อไปยังส่วนหลังบ้าน เพื่อความต่อเนื่องและระบายลมให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น

เห็นแล้วคงทำให้หลายๆคนอยากทำบ้านในฝันของตัวเองให้เป็นจริงบ้างเหมือนกันใช่ไหม


เรื่อง : กรวรรณ คันโธ

ภาพ: จิระศักดิ์,ดำรง

สไตล์: ประไพวดี

บ้านไม้หลังเล็กริมสระบัว ได้อารมณ์บ้านต่างจังหวัด ทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ

ชีวิตธรรมดาในบ้านไม้ใต้ถุนสูง

10 แบบบ้านไม้หลังเล็ก ขนาดกำลังพอดีกับใจ โอบกอดด้วยธรรมชาติ