จัดการน้ำ
การออกแบบสวนเพอร์มาคัลเจอร์มองเห็นความสําคัญของน้ํา จําเป็นต้องออกแบบการรดน้ํา การระบายน้ําและบําบัดน้ํา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ําอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เริ่มต้นจากน้ําเสียในครัวเรือนจะไหลผ่านร่องน้ําหรือทางระบายน้ําไปสู่ภายนอก ระหว่างทางจะผ่านดินริมตลิ่งและไม้น้ําที่ขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งช่วยดักจับและกรองตะกอนได้ในระดับหนึ่ง โดยสามารถขุดทางระบายน้ําให้ไหลผ่านที่ดินทุกแปลงเพื่อกระจายความชื้น สอดคล้องกับการวางผังให้พืชที่เก็บผลผลิตอยู่ใกล้ เพื่อได้รับน้ําในปริมาณมากกว่าไม้ยืนต้นที่อยู่รอบนอก ซึ่งมีรากลึกสามารถหาน้ําเองได้มากกว่า แต่ต้องระวังไม่ให้น้ําเสียไปปนเปื้อนกับน้ําใต้ดินในธรรมชาติก่อนไปเก็บรวบรวมสู่บ่อรวมขนาดใหญ่ที่มักใช้การจัดการบําบัดแบบบึงประดิษฐ์ โดยการนําน้ําไปดักตะกอน บําบัดด้วยพืชน้ําและจุลินทรีย์หลายระดับ เพื่อไหลเวียนไปเป็นน้ําดีสําหรับกรองเพื่อใช้อุปโภคบริโภคต่อไป รวมถึงใช้รดน้ําต้นไม้
นอกจากนี้น้ําสะอาดที่สามารถกักเก็บและนํามาใช้ได้เสมอคือน้ําฝน ซึ่งควรทําบ่อหรือแท็งก์เก็บน้ําประเภทดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูแล้งตลอดทั้งปีหากจําเป็นสามารถใช้น้ําบาดาลได้ แต่ต้องใช้อย่างประหยัดและผ่านการขออนุญาตทางกฎหมายอย่างถูกต้อง
จัดการระบบนิเวศให้เกื้อกูลกัน
การจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนจําเป็นต้องแก้ไขความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศให้กลับมาอย่างสมบูรณ์ด้วย ทั้งธาตุอาหารในดิน คุณภาพน้ํา และมลพิษทางอากาศ นอกจากการปลูกต้นไม้หลายระดับ เรายังสามารถออกแบบสวนให้เกิดระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันและเกิดประโยชน์กับเราได้ เช่น การปลูกต้นไม้ที่ให้ดอกมีสีสันหรือกลิ่นหลากหลาย สามารถล่อแมลงหลายชนิดให้มาสนใจแทนที่จะทําลายผลผลิตในสวน แต่ในบริเวณที่เราต้องการปลูกต้นไม้เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจปลูกต้นไม้บางชนิดอย่างตะไคร้หอมแซมหรืออยู่ในทิศที่ลมผ่านให้กลิ่นช่วยไล่แมลงได้ หรือใช้สมุนไพรไล่แมลงสูตรต่างๆ ซึ่งหากเราไม่ใช้สารเคมีและไม่กําจัดแมลงในธรรมชาติเมื่อมีแมลงหลายชนิดมารวมกันก็จะเกิดห่วงโซ่อาหารที่แมลงศัตรูพืชจะถูกกําจัดในธรรมชาติได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงจัดการสัตว์เลี้ยงให้เกื้อกูลกันโดยการปล่อยให้ไก่และห่านมากินแมลงศัตรูพืชต่อไป ส่วนเป็ดก็เลี้ยงแบบให้กินวัชพืช และเลี้ยงไส้เดือนให้พรวนดินและมีจุลินทรีย์ช่วยในกระบวนการย่อยสลายในธรรมชาติ
ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า
นอกจากปัจจัย4ที่มนุษย์ต้องใช้สําหรับดํารงชีวิตแล้ว พลังงานเองก็เป็นสิ่งสําคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแนวคิดของเพอร์มาคัลเจอร์จะพึ่งพิงพลังงานจากธรรมชาติที่สะอาดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษขึ้นใหม่ หรือใช้พลังงานน้อยและทําให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยบางครั้งก็นําเอาภูมิปัญญาในอดีตมาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทําจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ประโยชน์คือการลดขั้นตอนและพลังงานทางอุตสาหกรรมในการผลิต การขนส่ง และการกําจัด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติในพื้นที่ หาง่าย ไม่จําเป็นต้องขนส่งมาจากที่อื่นไกล และสามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งปลอดการใช้สารเคมี
แน่นอนว่าพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปอย่างน้ํามันดิบ ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติจะถูกเลือกมาใช้ในกรณีสุดท้ายแล้วเท่านั้น โดยจะเน้นไปที่การใช้แรงงานจากคนและสัตว์ในการทํางานหรือกิจกรรมต่างๆ พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการอยู่อาศัยหรือบริการต่างๆจะเป็นพลังงานสะอาดในธรรมชาติ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ํา และพลังงานลม ใช้การออกแบบอาคารหรือการวางผังต้นไม้ให้รับลมและผ่านบ่อน้ําเพื่อให้ที่อยู่อาศัยเย็นสบายที่สุด ลดการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศเพื่อให้เกิดสภาวะน่าสบาย
จํากัดเพื่อกลับมาใช้ใหม่
เพื่อให้เกิดความสมดุลของอาหารที่นําเข้าและนําออกโดยไม่ต้องไปพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกมากเกินความจําเป็น เราจําเป็นต้องไม่ทิ้งหรือนําของเสียออกไปนอกพื้นที่จนกลายเป็นภาระแก่สิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดขยะ ปริมาณมลพิษและของเสียให้น้อยที่สุดแล้ว ขยะหรือของเสียโดยเฉพาะจากในครัวเรือนหรือการทําเกษตรยังต้องสามารถย่อยสลายได้ โดยการขุดหลุมหรือทําบ่อหมักใบไม้ที่ร่วงมาในธรรมชาติทุกใบสามารถใช้ทําปุ๋ยได้กิ่งก้านนอกจากนํามาบดทําฟืนหรือโรยทางเดินแล้ว สามารถทําเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียวกับเศษอาหาร ด้วยกรรมวิธีหลายรูปแบบ ทั้งการขุดหลุมขยะ บ่อหมัก หรือให้ไส้เดือนช่วยย่อยสลาย รวมทั้งนําซากพืชมาใช้คลุมดินเพื่อรักษาความชื้น
มีไอเดียที่นิยมใช้ในสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์คือHugelkultur หรือการทําคันดิน โดยจะใช้กิ่งไม้ ซุง ท่อนไม้ และเศษใบไม้หั่นเป็นท่อนวางนอนตามแนวแปลงปลูก จะเป็นในลักษณะของการวางบนดินไปเลย วางในกระบะปลูกหรือลงหลุมตื้นๆก็ทําได้ จากนั้นจึงนําดินถมทับเป็นคันดินหนาอย่างน้อย15เซนติเมตร ซึ่งคันดินต้องมีความสูงจากพื้นดินรอบๆอย่างน้อย60เซนติเมตร เพื่อใช้สําหรับปลูกพืชที่เราต้องการได้หลายชนิด แล้วจึงนําฟางมาคลุมดินเพื่อช่วยเก็บความชุ่มชื้นของผิวดิน นอกจากพวกเศษต้นไม้ที่อยู่ด้านล่างจะสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้แล้ว ยังช่วยเก็บความชื้นแม้ไม่ได้รดน้ําถึง3สัปดาห์ ต้นไม้ที่ปลูกบนคันดินก็สามารถเจริญเติบโตต่อได้ทําให้ไม่ต้องใช้พลังงานหรือสิ้นเปลืองน้ํามากจนเกินไป
เรื่อง:ปัญชัช
ภาพ:คลังภาพบ้านและสวน