บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูง ที่มีลมโกรกตลอดทั้งปี
บ้านไม้ใต้ถุนสูง สุขใดเล่าจะเท่าได้อยู่บ้านในฝัน…เชื่อว่าหลายคนคงมีภาพฝันของบ้านตัวเองในแบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนอยากอยู่บ้านปูนโมเดิร์น บางคนชอบความเข้มขรึมของบ้านสไตล์ลอฟต์ บางคนชินกับอาคารพาณิชย์ แต่สำหรับคุณบอย–ธีระศักดิ์และคุณยุ้ย – ชื่นประภา พรหมลา สองสามีภรรยา ฝันที่จะมี แบบบ้านใต้ถุน สำหรับอยู่อาศัยระยะยาว เน้นอยู่สบาย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ที่สำคัญคือต้องเป็นบ้านที่ไม่สร้างภาระ
“เราคุยกันสองคนว่าถ้าจะทำบ้านสักหลังหนึ่งต้องทำอย่างไรดี เพราะเราไม่ได้มีเงินมาก เราอยากทำแบบไม่เครียด ค่อย ๆ ทำ ยุ้ยก็เลยบอกว่าทำบ้านในฝันของพี่บอยก็แล้วกัน เพราะพี่คิดถึงบ้านยาย เป็น แบบบ้านใต้ถุน ทำจากไม้เก่า มีชานกว้าง ๆ ที่อาบน้ำและทำกับข้าวอยู่ตรงระเบียง ก็เลยทำบ้านหลังนี้ขึ้นมา”
นั่นคือคำบอกเล่าของคุณบอยและคุณยุ้ยอดีตบาร์เทนเดอร์และพนักงานบัญชีที่ใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมืองหลวงมาเป็นเวลานานจนถึงจุดอิ่มตัว จึงเลือกหันหลังให้ชีวิตที่เร่งรีบแล้วกลับภูมิลำเนามาปลูกผักออร์แกนิกอย่างจริงจังภายใต้แบรนด์ตาวีฟาร์มเขาใหญ่บนที่ดินกว่า 50 ไร่ โดยพวกเขาเลือกออกแบบบ้านขนาดพอดีสำหรับคนสองคนและน้องหมาสองตัวคือซีซาร์และผักคอสที่เข้ามาเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
“เราไม่ได้มีลูก เลยคิดว่าทำหลังเล็ก ๆอยู่กันสองคนพอ มีแค่ห้องนอน ห้องน้ำ เน้นเป็นที่นั่งเล่นกว้าง ๆ สบาย ๆ เพราะชีวิตประจำวันเราก็อยู่แต่ข้างล่างกับข้างนอก กว่าจะได้นอนก็มืดค่ำแล้ว นอนแค่ 6-7 ชั่วโมงก็ตื่น”
ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงสุดแสนเรียบง่าย โดยข้างล่างทำหน้าที่เป็นทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก มุมดริปกาแฟเล็ก ๆ ของคุณบอย และด้านบนที่มีเพียงห้องนอนกับห้องน้ำ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวบ้านจะอยู่ห่างออกมาจากร้านอาหารและคาเฟ่ที่นับเป็นที่ทำงานของทั้งสองไม่มากนัก ทว่าให้บรรยากาศเงียบสงบเหมือนหลุดไปยังอีกพื้นที่หนึ่งดังที่คุณบอยนิยามไว้ว่าเป็น“บ้านที่เราเอาไว้กลับไปตั้งสติ”เป็นพื้นที่ที่ทำให้ชีวิตช้าลงและหันไปสนใจสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาในการออกแบบรวมก่อสร้างร่วม 8 เดือนที่คุณบอยอาสาเป็นลูกมือกับช่างไม้เพียงคนเดียวในการค่อย ๆ ทำฝันให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยมีแนวคิดว่าต้องเอาของที่มีอยู่มาใช้ทั้งหมด ต้องประหยัดและไม่เกิดการทิ้ง จึงเลือกใช้ไม้เก่าจากการรื้อบ้านคุณยายมาทำ ซึ่งไม้เก่าเหล่านี้ก็มาพร้อมกับร่องรอยของตะปู รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้มาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเด็กอีกด้วย
“เราคุยกับช่างว่าทำอย่างไรก็ได้ขอให้เป็นบ้านที่ทำแล้วไม่ต้องเครียด แล้วก็ต้องเอาของที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ แล้วก็ไม่ต้องทำให้เนี้ยบ บางทีเราก็ชอบเวลาแสงผ่านช่องตะปูเข้ามา คงเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ชอบดูร่องรอยพวกนี้ อย่างหน้าต่างที่มีรอยขีดเขียนเราก็คิดว่าวันนั้นคิดอะไร เขียนอะไรอยู่ เราคิดว่าไม่ต้องขัดทิ้งไปเพราะมันเป็นเรื่องราว เป็นประวัติศาสตร์ และเราก็ไม่ได้เน้นสวย ทันสมัย เราเน้นอยู่สบาย อยู่แล้วต้องเย็น ไม่รุงรัง แล้วก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการทำความสะอาด”
ภายใต้งบประมาณสามแสนบาท หากแต่คุณค่าทางจิตใจและความภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นเทียบกันไม่ได้เลย เพราะตลอดการสนทนากับทั้งคู่ทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง การพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงแบบที่คนสองคนค่อย ๆ ช่วยกันสร้างขึ้นมาโดยไม่เป็นภาระ ไม่ต้องสร้างหนี้สิน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นบ้านอยู่สบายที่ตอบโจทย์การเป็น “บ้านไว้อยู่” ที่อยู่สบายทั้งกายและใจ
เจ้าของ : คุณธีระศักดิ์-คุณชื่นประภา พรหมลา
ออกแบบ : คุณธีระศักดิ์ พรหมลา
เรื่อง: บราลี
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์
ชีวิตธรรมดาในบ้านไม้ใต้ถุนสูง
“เฮือนธรรม” บ้านพื้นถิ่นไทย ในขนบแบบญี่ปุ่น