บ้านปูนทรงกล่องที่เต็มไปด้วยของสะสม
บ้านปูนสองชั้นที่ออกแบบมาจากชีวิตของผู้อยู่อาศัย ที่ลงลึกไปถึงรายละเอียดความชอบของสมาชิกแต่ละคน นำไปสู่การหาจุดร่วมที่เหมือนกัน นั่นคือทุกคนมีความคุ้นเคยกับเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าและของใช้สมัยก่อน ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศอันแสนอบอุ่นในบ้าน และมีส่วนทำให้คนในครอบครัวมีความสุขมากๆ ที่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Volume of Love Architect
การได้มาพูดคุยกับคนที่รักบ้านหรือรักในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เหมือนการได้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปมีความรู้สึกร่วมกับภาพในอดีต นอกจากเรื่องดีๆที่พรั่งพรูออกมาพร้อมรอยยิ้ม ยังสัมผัสได้ถึงหัวใจที่พองโต พร้อมจะสูบฉีดความปีติให้ออกมาท่วมท้นทุกความรู้สึก ซึ่ง คุณชัช – ชัชวาลและคุณเล็ก – อุไรวรรณ เกษรมาลา ได้ร่วมกันเก็บเกี่ยวทุกความผูกพันและคลุกเคล้าให้เข้ากันใน บ้านปูนสองชั้น ที่อบอุ่นหลังนี้
ครั้งแรกที่ได้มาเยือนบ้านหลังนี้เป็นช่วงเย็นในวันอากาศดี นอกจากจะเห็นบ้านปูนผนังสีเหลืองที่ตกแต่งด้วยไม้เก่าดูอบอุ่นแล้ว เรายังเห็นรอยยิ้มต้อนรับจากเจ้าของบ้านและ อาจารย์เบิร์ด – อัครพงศ์ อนุพันพงศ์ สถาปนิกและอาจารย์ประจำสาขาสถาปัตยกรรม ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังนั่งคุยกันบนระเบียงไม้หน้าบ้านที่มีลมพัดโชยเอื่อยๆพอสบายตัว
หลังจากทักทายและเดินชมบ้านสองชั้นที่เน้นการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าและของสะสมแล้ว วงสนทนาขนาดย่อมก็เริ่มขึ้นภายในห้องรับประทานอาหารที่อยู่ถัดจากระเบียงไม้หน้าบ้าน มีตู้ไม้เก่าหลายใบที่ใช้เก็บของและโชว์ของสะสม ทั้งชุดจานแก้วซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นของขวัญวันแต่งงานของคุณพ่อคุณแม่ หรือภาพวาดฝีมือ น้องเถาทอง เกษรมาลา ลูกชายของคุณชัชและคุณเล็ก
“ในช่วงแรกที่ดินสำหรับสร้างบ้านเป็นที่ดินหน้าแคบเพียง 11 เมตร พื้นที่ 55 ตารางวา จึงสร้างเป็นบ้านตามแนวลึกเข้าไป หลังจากนั้นได้ซื้อที่ดินข้างบ้านด้านทิศใต้หน้ากว้างเท่ากันเพิ่มอีก 55 ตารางวา ก็เลยย้ายโรงจอดรถออกไปแล้วปรับเป็นห้องอาหารห้องนี้ ผมชอบปลูกต้นไม้ จึงขยายสวนให้ใหญ่ขึ้น กลายเป็นสวนกลางบ้าน” แล้วอาจารย์เบิร์ดก็เสริมว่า “ก่อนออกแบบเราใช้เวลาทำความรู้จักกันนานพอสมควร ใช้การพูดคุยเพื่อรับฟังและค้นหาตัวตนของเจ้าของบ้าน บางทีก็ชวนกันไปดูสถานที่ที่ตกแต่งอย่างที่ชอบหรือไปดูร้านที่ชอบไปซื้อของเก่า ซึ่งก็มีเรื่องที่ทำให้รู้สึกทึ่งในตัวพวกเขา”
หลังจากทราบว่าคุณชัชทำงานด้านกำกับสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนคุณเล็กมีธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย ทำให้เกิดความรู้สึกเดียวกับที่อาจารย์เบิร์ดเล่าว่า
“ผมทึ่งที่เจ้าของบ้านรับรู้เรื่องศิลปะได้เยอะมาก เพราะโดยส่วนตัวจะเข้าใจว่า คนที่เรียนมาด้านนี้เท่านั้นถึงจะเข้าใจศิลปะและความเป็นธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งคุณชัชเคยเล่าให้ฟังว่า บางครั้งมีเวลาว่างก็ขับรถออกต่างจังหวัดไปดูฝนตก ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความสุนทรีย์และจับจุดได้ว่าบ้านต้องนำธรรมชาติกับศิลปะมาผสมผสานกัน”
และบ้านหลังนี้ก็ออกมาเป็นเช่นนั้น ทั้งห้องนั่งเล่นและมุมทำงานชั้นล่างที่เปิดโล่งเห็นสวน มีชานเชื่อมกับห้องอาหารและห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถออกมานั่งเล่นได้สบาย ส่วนชั้นบนมี 2 ห้องนอนที่ออกแบบให้ลมพัดผ่านเย็นตลอดวัน ซึ่งทุกมุมของบ้านก็ร้อยเรียงเรื่องราวด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าและไม้เก่า กลายเป็นความสวยงามอย่างมีศิลปะ
สถาปนิกให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านมาก และมีความชอบที่ไปในแนวทางเดียวกัน โดยเล่าว่า “คุณชัชชอบสะสมจักรยาน ชอบอยู่บ้าน ชอบสังสรรค์ ฟังเพลงทุกแนวตั้งแต่หมอลำ ไทยเดิม ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต ร็อคแอนด์โรล คลาสสิก รวมทั้งเพลงบรรเลง ส่วนคุณเล็กชอบทำอาหาร ชอบสะสมผ้าไทย และชอบงานแฮนด์เมด แต่ที่ทั้งคู่เหมือนกันคือชอบของเก่า”
พอถามถึงสาเหตุที่ชอบของเก่า ก็เป็นเพราะทั้งสองคนอยู่บ้านไทยมาตั้งแต่เด็ก จึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตแบบไทย มีความคุ้นเคยกับเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าและของใช้สมัยก่อน เป็นความประทับใจที่ปลูกฝังมาและเติบโตขึ้นไปพร้อมกับวันเวลา
“เฟอร์นิเจอร์บางส่วนมาจากบ้านเดิม และพอแน่ใจว่าจะสร้างบ้านก็ค่อยซื้อเก็บไว้ ผมไปร้านขายของเก่าทุกวันเสาร์ แถวสะพานสมเด็จพระนั่งเกล้าและถนนราชพฤกษ์ เพราะต้องไปรอรับลูกซึ่งเรียนพิเศษแถวนั้น ไปคุยกับเจ้าของร้านบ้าง ไปซื้อของบ้างจนรู้จักกัน ช่วงกลางคืนก็ไปตลาดคลองถม ซึ่งไม่คุ้มค่าน้ำมันหรอก แต่ได้บรรยากาศ ได้รู้จักคนเยอะ” คุณชัชเล่าไปยิ้มไป
“จุดประสงค์ของการออกแบบบ้านคือ อยากให้คนในครอบครัวมีความสุขมากๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นได้เราต้องรู้จักทุกคนและหาจุดร่วมกัน หน้าที่ของเราคือสร้างสถานที่ และสถานที่นี้เองที่จะกล่อมเกลาคนให้เติบโตขึ้นมาในที่ซึ่งมีธรรมชาติผสานกับศิลปะ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา”
อาจารย์เบิร์ดพูดไว้ในระหว่างการสนทนา บ่งบอกถึงความตั้งใจและสิ่งที่ครอบครัวนี้เป็นอยู่ ซึ่งได้รวมทุกเรื่องราวและความรู้สึกที่เก็บเกี่ยวร่วมกันมาเสมือนการ “บ่ม” ที่มีความหมายตรงตัวว่า ทำให้สุขด้วยความอบอุ่น เช่นเดียวกับบ้านนี้ก็สุขด้วยความอบอุ่นเช่นกัน บ้านปูนสองชั้น
เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์, ดำรง ลี้ไวโรจน์
สไตล์: ประไพวดี โภคสวัสดิ์
เจ้าของ : คุณชัชวาล – คุณอุไรวรรณ เกษรมาลา