“บ้านชุมดวง” การคืนชีวิตบ้านไม้ 100 ปี ใกล้พัง ใน 97 วัน

บ้านไม้เก่าย่อมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา น่าเสียดายหากจะปล่อยให้เสื่อมสลายไป ด้วยความผูกพันและความชอบงานช่างไม้ไทยในสายเลือดของ คุณบาส – โสภณ ปลูกสร้าง ซึ่งย้ายจากการเป็นคนเมืองกรุงกลับมายังบ้านเกิดที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย จึงริเริ่มนำบ้านไม้โบราณหลายหลังมาปรังปรุงให้คืนชีวิตอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ บ้านชุมดวง หลังนี้ที่เคยเป็นเรือนแพอยู่ในแม่น้ำยม ซึ่งได้รับบูรณะให้เป็นอย่างที่เห็นด้วยเวลาเพียง 97 วันเท่านั้น

เจ้าของ คุณโสภณ  ปลูกสร้าง FB : สิบสองหน่วยตัด

งานช่างอยู่ในสายเลือด

“ก่อนนั้นทำงานด้านธุรกิจโรงแรมและเครื่องสำอางที่กรุงเทพฯ แล้วจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้ เนื่องจากคุณปู่เป็นช่างไม้และสืบทอดมาถึงคุณพ่อ จึงเติบโตและซึมซับงานช่างไม้ไทยมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากความชอบที่ผูกพันคือ บ้านไม้เก่า และทุกอย่างที่เกี่ยวกับบ้านไม้ และส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจนี้ก็มาจาก นิตยสาร บ้านและสวน ซึ่งที่บ้านสะสมหนังสือและติดตามมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก”

บ้านไม้เก่าสืบทอดสู่เจ้าของใหม่

การหา บ้านไม้เก่า สำหรับคุณโสภณมี 2 แหล่ง คือ ดูในเพจที่รักและชื่นชอบงานไม้ก็จะได้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน และการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของบ้านโดยตรง “บ้านไม้โบราณแต่ละหลังเป็นมรดกตกทอดของแต่ละครอบครัว เราจึงต้องแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า เราตั้งใจนำมาอนุรักษ์ไว้ อย่างบ้านชุมดวงหลังนี้ซึ่งเป็นบ้านของตระกูลใหญ่ในจังหวัดสุโขทัย การเข้าไปเจรจาจึงต้องมีความชัดเจนว่าเราอยากนำบ้านบูรณะให้อยู่คู่กับเมืองสวรรคโลกต่อไป เจ้าของบ้านจึงยินดีส่งต่อบ้านมาให้เราดูแล และใช้ชื่อว่า “บ้านชุมดวง” ตามชื่อสกุลเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของเดิม”

อดีตคือเรือนแพในแม่น้ำยม

“เป็นบ้านไม้สักทองทั้งหลังอายุ 90-120 ปี โดยประมาณเพราะไม่ได้มีการบันทึกที่ชัดเจน เดิมเป็นของ กำนันหลู่ ชุมดวง และนางจันทร์เป็ง ชุมดวง ตกทอดมาถึง นายบุญธรรม ชุมดวง และ นายอารยะ ชุมดวง ตามลำดับ ซึ่งนายบุญธรรม เป็นตัวแทนบริษัท หลุยซ์ ที เลียวโนเวนส์ (Lois T.Leonowens) ซึ่งได้รับสัมปทานทำป่าไม้สักแห่งแรกในภาคเหนือ เดิมบ้านนี้เป็นเรือนแพอยู่ในแม่น้ำยม ใช้เป็นสำนักงานของบริษัทค้าไม้บอร์เนียวประจำเมืองสวรรคโลกในการตรวจนับไม้ซุงที่ล่องมาจากแพร่ ก่อนจะปล่อยไม้ไปต่อที่นครสวรรค์และเข้าโรงเลื่อยที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ พอเลิกสัมปทานแล้ว จึงยกบ้านมาปลูกบนบก”

ย้ายและประกอบใหม่ใน 97 วัน

บ้านไทยโบราณใช้ระบบการก่อสร้างแบบสลักเดือย และมีการยกย้ายเรือนกันเมื่อมีการขยายครอบครัวหรือเปลี่ยนถิ่นฐาน นับเป็นบ้านระบบน็อกดาวน์เช่นเดียวกับสมัยนี้ คุณโสภณเล่าถึงเมื่อวันที่ไปย้ายบ้านว่า “ในการรื้อบ้านลง มีการจดและทำสัญลักษณ์ตำแหน่งไม้ไว้ด้วยตัวเองกับคุณพ่อซึ่งเป็นช่างไม้ที่มีความชำนาญในเรื่องส่วนประกอบและเทคนิคการประกอบเรือน แล้วนำมาประกอบชิ้นส่วนเข้าที่เดิมทั้งหมดในพื้นที่บ้านปัจจุบันซึ่งห่างจากที่เดิมประมาณ 6 กิโลเมตร มีการปรับปรุงบางส่วน คือ ฐานรากบ้านเดิมเป็นไม้ซึ่งผุพังตามอายุ เมื่อนำมาสร้างใหม่ จึงเปลี่ยนใช้ฐานรากและตอม่อคอนกรีต เพื่อให้มีความทนทานและป้องกันปลวก มีการปรับปรุงลายฉลุช่องลมด้านหน้า เนื่องจากมีการถอดของเดิมออกไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน จึงได้หาข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุถึงรูปแบบและสีสัน แล้วทำใหม่เพื่อใส่กลับไปที่เดิม เนื้อไม้ทั้งหมดทำการล้างน้ำ ผึ่งไว้ให้แห้ง เมื่อประกอบกลับแล้วจึงทาสีย้อมไม้ ส่วนสีอาคารใช้วิธีการขูดสีเพื่อดูสีเดิมที่อยู่ชั้นในสุดซึ่งพบว่าเป็นสีเขียว แล้วจึงไปหาข้อมูลต่อว่าในยุคนั้นใช้สีเขียวแบบไหน โดยพยายามทำให้เหมือนเดิมที่สุด

ลวดลายเสาและบานเฟี้ยม

“ส่วนที่น่าสนใจของบ้าน คือ เสากับประตูบานเฟี้ยม ซึ่งทุกบานมีการแกะสลักลวดลาย “ปูรณฆฏะ” หรือ ลาย “หม้อดอก” (ลวดลายภาชนะรูปหม้อน้ำบรรจุกอดอกบัว ทั้งก้าน ใบ และดอกบัว เพื่อเป็นพุทธบูชาซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะทางลังกา) เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และปกติจะเห็นเสาของบ้านโคโลเนียลทั่วไปเป็นเสาเหลี่ยม แต่บ้านนี้เป็นเสาไม้กลึง ซึ่งน่าจะอิงกับรูปแบบทางอินเดีย ในมุมมองของผมคิดว่าบ้านนี้น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์เดียวกับ พระตำหนักสวนหงส์ ในพระราชวังดุสิต ที่มีองค์ประกอบแบบสถาปัตยกรรมแบบ Picturesque ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแนวสัญลักษณ์นิยมที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีนและแขก”

(Picturesque มีรากศัพท์เดิมจากภาษาละติน Pittoresco หรือ Pittoresque ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เสมือนภาพวาด ใช้เรียกงานศิลปกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ในยุโรป ที่มีลักษณะอ่อนหวานงดงามดั่งภาพวาด)

บ้านไม้มีชีวิต

บ้านไม้เก่า
บ้านไม้เก่า
บ้านไม้เก่า

“การบูรณะบ้านไม้เก่าใช้เวลาน้อยกว่าการสร้างใหม่มาก เพราะเป็นบ้านระบบสลักเดือย อย่างบ้านชุมดวงใช้เวลาประกอบและตกแต่งเพียง 97 วัน บ้านไม้เหมือนมีชีวิตที่ต้องการการดูแล เนื้อไม้มีการปรับเปลี่ยนสภาพตามฤดูกาล อย่างฤดูฝนก็ต้องเปิดหน้าต่างให้ลมระบายความชื้น ซึ่งโดยปกติบ้านที่มีคนอยู่อาศัย มีการเคลื่อนไหว บ้านจะคงสภาพได้ดีกว่าบ้านที่ปล่อยทิ้งร้างหรือถูกปิดตายจะทรุดโทรมเร็วกว่ามาก”

บ้านเก่าในวิถีใหม่

“บ้านที่ได้มาเกือบทุกหลังเป็นบ้านริมน้ำ และเป็นความเชื่อส่วนตัวที่ตอนไปรื้อบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวว่าเราจะนำมาสร้างให้อยู่ริมน้ำเหมือนเดิม ความตั้งใจของการบูรณะคือใช้เพื่อการอยู่อาศัยเอง แล้วหลังจากนั้นก็จัดสรรพื้นที่เพื่อให้เกิดการใช้สอย ปัจจุบันปรับใช้พื้นที่เป็นคาเฟ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเรือนของร้านสิบสองหน่วยตัด เป็นร้านอาหารและที่พักอาศัยของผม การบูรณะให้เหมือนเดิม 100% อาจจะไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของคนปัจจุบัน แต่ถ้านำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ติดกระจก ติดแอร์บ้างก็จะอยู่ได้จริง  เป็นอีกวิธีในการอนุรักษ์บ้านที่มีคุณค่าและมูลค่าทั้งทางศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ให้คงอยู่”  บ้านชุมดวงเป็นอีกตัวอย่างของการพยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมไว้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการบูรณะตัวบ้านให้กลับมาคงสภาพเดิม แต่ได้ประยุกต์พื้นที่บ้านให้เกิดการใช้สอย ให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวา และผสานอดีตให้อยู่ร่วมกับปัจจุบันอย่างงดงาม

บ้านไม้เก่า
บ้านไม้เก่า
บ้านไม้เก่า
บ้านไม้เก่า

เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ คุณโสภณ ปลูกสร้าง


อ่านเรื่องที่น่าสนใจ

บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่มีลมโกรกตลอดทั้งปี

บ้านไม้สีขาวใต้ถุนสูง ในวงล้อมของสวน

รวมบ้านไม้สไตล์ล้านนา อบอุ่น อยู่สบาย