เมนูกัญชา จากต้นไม้ต้องห้ามสู่การศึกษา-ต่อยอด-และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันกฎหมายปลดล็อกบางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงที่ไม่ใช่ส่วนช่อดอกและเมล็ดให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดอยู่ในรายการของยาเสพติด โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลที่นำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทยโดยใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรคก็ไม่หยุดที่จะเริ่มต้นศึกษาสรรพคุณในด้านต่างๆของกัญชา เพื่อนำมาใช้รักษาคนไข้และต่อยอดเป็นวัตถุดิบที่ช่วยชูรสในการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย เมนูกัญชา
ปัจจุบันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ปลูกและนำกัญชามาสกัดเพื่อผลิตยาอย่างถูกต้องสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้และรักษาในแพทย์แผงปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ทำให้มีองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวกับสรรพคุณในส่วนต่างๆของกัญชามากพอสมควร ก่อนนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดเป็นเมนูอาหาร “มาชิมกัญ” ที่นำเอาส่วนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อย่างถูกกฎหมายอย่างส่วนใบของกัญชามาใช้ประกอบอาหารทั้งทำก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัดกะเพรา เล้งแซ่บ ขนมปัง ยำและเครื่องดื่ม
อาหารที่ปรุงใช้ข้อมูลตั้งต้นจากภูมิปัญญาเดิมของตำหรับยาไทยมารังสรรค์เป็นอาหารที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol) หรือสาร THC ในปริมาณที่น้อย โดยเริ่มต้นให้บริการเฉพาะเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก่อน ซึ่งการนำกัญชามาใช้ในเมนูอาหารถือว่าเป็นตัวนำร่องก่อนต่อยอดในธุรกิจสปาและการท่องเที่ยวต่อไป เพื่อให้ความรู้ด้านงานวิชาการการใช้ประโยชน์จากกัญชาเกิดความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยทำงานร่วมกับองค์กรอาหารและยา (อย.) และสถาบันกลุ่มกัญชาทางการแพทย์เกี่ยวกับการควบคุมหรือกำกับให้ข้อมูลความรู้
กินใบกัญชาแล้วอันตรายหรือไม่
ในจำนวนสารทั้งหมดในต้นกัญชากว่า 500 ชนิด จะมีสารหลักที่สำคัญและนำมาสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ รวมถึงมีงานวิจัยรับรองในปริมาณมากอย่างกว้างขวาง คือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol) หรือสาร THC ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “สารเมา” มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol) หรือสาร CBD ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในกัญชาสายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยจะมีสาร THC มากกว่าสาร CBD หากบริโภคในปริมาณสูง ระยะยาวจะทำให้เสพติด ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ สำหรับผู้ที่เคยรับประทานมาก่อน ควรบริโภคในปริมาณน้อย เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศรีษะ และหัวใจเต้นแรง หากมีอาการดังกล่าวควรแก้ด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่มีไตและตับบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาฟาร์รินหรือยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางควรหลีกเลี่ยงการบริโภคกัญชา รวมถึงไม่แนะนำให้รับประทานคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตามจากการวิจัยและทดลองเบื้องต้นพบว่าแต่ละคนจะมีความไวต่อสาร THC ไม่เท่ากัน แม้จะให้บริโภคในรูปแบบของสารที่สกัดแล้วในปริมาณเท่ากันก็ตาม นอกจากบริโภคตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้วควรสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองด้วยเช่นกัน
สรรพคุณของอาหารจากกัญชา
ในองค์ความรู้ด้านตำหรับยาไทยและภูมิปัญญาดั้งเดิมจะใส่ใบกัญชาในอาหารหรือเป็นส่วนผสมในยาแผงไทยเพื่อเป็นเครื่องชูรส บางพื้นที่ใช้เป็นผักแกล้มได้อีกด้วย ทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยเจริญอาหารและสามารถทานข้าวได้ ลดอาการเจ็บปวดและนอนหลับง่ายมากขึ้น การรับประทานใบกัญชาสดจะมีเพียงกรดเตตราไฮโดรแคนนาบินอลิค (Tetrahydrocannabinolic acid) หรือสาร THCA ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่ทำให้เกิดอาการเมา มีบางงานวิจัยกล่าวว่ามีประโยชน์ในการปกป้องสมองจากสารพิษและช่วยลดอาการอักเสบอีกด้วย แต่เมื่อนำใบสดมาปรุงโดยผ่านความร้อนสาร THCA จะเปลี่ยนเป็นสารเมา THC ยิ่งใช้เวลาปรุงนานก็ยิ่งทำให้สาร THCA เป็นเป็นสาร THC ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งการปรุงด้วยไขมันหรือในน้ำมันก็จะยิ่งทำให้สาร THC อยู่ในอาหารได้ดียิ่งขึ้น โดยใบแก่จะมีปริมาณสาร THC มากกว่าใบอ่อน
การจะนำใบกัญชามาทำอาหารนั้น วัตถุดิบจะต้องมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ยังถือว่าผิดกฎหมาย ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถปลูกเองในบ้านได้ ยกเว้นเป็นหน่วยงานภาครัฐบาลที่ได้รับอนุญาตและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องความปลอดภัยของการใช้กัญชามากนัก จึงเกรงว่าผู้ประกอบการอาจนำไปใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ตั้งใจเตรียมพัฒนาหลักสูตรให้องค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารจากกัญชาอย่างถูกต้องและยั่งยืน ให้สามารถจัดอบรมด้านการนำไปใช้ประกอบอาหารและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง อนาคตอาจมีอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาให้เรารับประทานได้เป็นเรื่องปกติ หรือมีการใช้กัญชาเป็นเครื่องดื่มมึนเมาทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นได้
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชิมอาหารจากใบกัญชาและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาต่อยอดเป็นธุรกิจหรือรักษาด้านสุขภาพได้ที่
ร้าน อภัยภูเบศร เดย์ สปา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ. เมืองปราจีนบุรี จ. ปราจีนบุรี 25000
โทรศัพท์ : 0-3721-1088 ต่อ 3125, 086-534-9534
เวลาให้บริการ : 09.00 – 17.00
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข และ เอกรัตน์ ปัญญะธารา