กล้วย ถือว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ แทบทุกส่วนตั้งแต่ ลำต้น ใบ ผล ปลี สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งรับประทาน ใช้ทดแทนภาชนะ ตามงานบุญ ประเพณีต่าง ๆ ก็ขาดไม่ได้ จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้ได้จัดสวนด้วยกล้วยด่างที่มีความสวยงาม สามารถนำมาใช้งานด้านการจัดตกแต่งสถานที่ได้ดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
กล้วยกับการจัดสวน
แต่เดิมกล้วยเป็นต้นไม้ปลูกหลังบ้าน ท้ายสวน ซึ่งเรามักใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆของต้น แต่ด้วยลักษณะเด่นของกล้วยคือ มีใบขนาดใหญ่สีเขียวสด บางชนิดมีสีสันสะดุดตา สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ กล้วยจึงเริ่มเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไม้ประดับที่นำมาใช้จัดตกแต่งสถานที่ได้ดี สามารถนำมาใช้งานได้หลายลักษณะ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับสวนสไตล์ทรอปิคัล เช่น สวนบาหลี สวนป่า การเลือกกล้วยชนิดต่าง ๆมาใช้งานให้เหมาะสมก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความสวยงามให้สถานที่ได้ โดยอาจแบ่งประเภทการใช้งานได้ดังนี้
-
- ปลูกเพื่อใช้เป็นฉากหลัง บริเวณรั้ว หรือกำแพงบ้าน ลดความกระด้างของพื้นผิว และพรางสายตาจากภายนอก ควรเลือกกล้วยที่มีลักษณะลำต้นสวยงาม สีสันสะดุดตาเพื่อสร้างความแตกต่างให้ฉากหลัง เช่น กล้วยนาก กล้วยนางพญา กล้วยน้ำ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยบัว กล้วยเสือพราน
- ปลูกเป็นกลุ่มประดับแปลง เลือกใช้กล้วยที่มีความสูงไม่มาก และให้ดอกสีสันสวยงาม เช่น กล้วยรักตกัทลี กล้วยรุ่งอรุณ
- ปลูกเป็นไม้ประธานในสวนหย่อม ควรเป็นกล้วยที่มีลักษณะเด่นของ ต้น ใบ ดอก หรือ ผล เช่น กล้วยคุนหมิง กล้วยนาก กล้วยผา
- ปลูกเป็นจุดเด่น ควรปลูกอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย ใกล้ศาลา มุมนั่งเล่น เลือกใช้กล้วยที่มีลักษณะเด่นสะดุดตาทั้งรูปทรงต้น สีสัน ลักษณะดอก ผล เช่น กล้วยผา กล้วยร้อยหวี กล้วยคุนหมิง กล้วยไข่พระตะบอง กล้วยเสือพราน กล้วยกล้าย กล้วยเทพนม
- ปลูกบริเวณน้ำตกและลำธาร เลือกใช้กล้วยที่มีความกลมกลืน และสามารถแทรกตัวอยู่กับหินได้ เช่น กล้วยผา กล้วยรุ่งอรุณ
- เพื่อให้มีสีสันสวยงาม ควร ใช้กล้วยที่มีใบ ดอก หรือปลีสีสันสดใส เช่น กล้วยบัว กล้วยรักตกัทลี กล้วยรุ่งอรุณ กล้วยเสือพราน
- ปลูกเป็นแนวทางเดิน เลือกกล้วยที่ให้ร่มเงาได้ดี แตกเป็นพุ่มสวยงาม เช่น กล้วยไข่ กล้วยตานี กล้วยน้ำว้าค่อม กล้วยหอมแกรนด์เนน กล้วยเสือพราน
- ปลูกในพื้นที่แคบ ขนาดพื้นที่จำกัดควรเลือกกล้วยที่มีทรงพุ่มขนาดเล็ก การแตกหน่อค่อนข้างน้อย เช่น กล้วยคุนหมิง กล้วยหอมเขียวค่อม กล้วยหอมแกรนด์เนน
กล้วยด่างน่าสะสม
ถิ่นกำเนิด
กล้วยเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี จัดอยู่ในวงศ์ MUSACEAE สูงตั้งแต่ 2-9 เมตร มีลำต้นจริงเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน (Rhizome) ลำต้นที่พ้นดินขึ้นมา คือ ลำต้นเทียม (pseudostem) การเรียงของใบและกาบใบเป็นวงกลมซ้อนกันเป็นตัวพยุงต้นเหนือดิน แต่ดั้งเดิมแล้วกล้วยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเอเชียใต้ ปลูกกันมากในแถบประเทศจีน อินเดีย และมีการกระจายพันธุ์ไปยังเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และทางฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยสันนิษฐานว่าพ่อค้าและนักเดินเรือ ชาวโปรตุเกสเดินทางและนำไปปลูกกระจายพันธุ์ ส่วนคำว่า Banana ซึ่งเป็นชื่อเรียก กล้วย นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาแอฟริกันตะวันตก ว่า Banan หมายถึง นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า มีเรื่องเล่าน่าสนใจเรื่องหนึ่งเล่าว่า กล้วย คือ ผลไม้ที่พระเจ้าทรงห้ามไม่ให้อดัมและอีวากิน ซึ่งก็แปลกดีที่ไม่ใช่ผลแอ๊ปเปิ้ล อย่างที่เคยได้ยินมา ส่วนเครื่องห่อหุ้มร่างกายในสมัยแรกก็คือใบกล้วยนี่เอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและเรื่องเล่าของแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป
กล้วยกับวิถีไทย
คนไทยเรามีความผูกพันกับกล้วยมาช้านาน ว่ากันตั้งแต่เกิดจนโต ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลมากมาย หญิงที่คลอดบุตรต้องพึ่งพาหมอตำแยคลอดเองที่บ้าน พอเด็กเกิดจะใช้ใบตองวางบนกระด้งรองตัวเด็กอ่อน ส่วนแม่ก็นำใบตองรองบนกระดานเวลาอยู่ไฟ หลังจากเด็กหย่านมจะได้กินอาหารยอดนิยมคือ กล้วยบด โตมาอีกหน่อยเริ่มวิ่งได้ก็มีม้าก้านกล้วย กับปืนก้านกล้วยเป็นของเล่น ครั้นถึงคราวแต่งงานต้นกล้วย และต้นอ้อยถูกนำมาใช้แห่ขันหมาก งานบุญงานเทศกาลทั้งหลายก็ใช้ใบตอง และกาบกล้วยทำกระทง บายศรี รวมทั้งส่วนต่าง ๆของกล้วยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ตั้งแต่ใบตองใช้แทนถุงพลาสติกใส่ก๋วยเตี๋ยวห่อ กระทงใบตองใส่ขนมครก แม้แต่ใบแห้งยังนำมาใช้มวนบุหรี่ พอออกปลี หัวปลีก็กลายเป็นกับข้าวหลายชนิด ทั้งผักแนม ขนมจีน จะนำมาทอดกรอบหรือยำก็อร่อย ส่วนผลกล้วยนอกจากเป็นผลไม้ที่รสชาติอร่อยแล้ว ยังนำมาทำขนมได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ขนมกล้วย ข้าวต้มมัด กล้วยบวชชี กล้วยตาก ต้นกล้วยนั้นพอลอกกาบฝานออกเป็นเส้นยาว ๆ แล้วตากให้แห้ง ใช้เป็นเชือกกล้วยซึ่งเหนียวทนทาน มัดสิ่งของได้แน่นไม่แพ้เชือกจากวัสดุสังเคราะห์ ต้นทั้งต้นนำมาฝานบาง ๆได้หยวกกล้วยที่เป็นทั้งอาหารคน และใช้เลี้ยงสัตว์อย่างเช่น ผสมกับรำเลี้ยงสุกร ถึงแม้ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากกล้วยจะไม่มากมายและแพร่หลายอย่างแต่ก่อน เนื่องจากมีวัสดุทดแทนที่ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ยังพอเห็นอยู่ประปราย เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติที่สะอาด ย่อยสลายได้ดีไม่เกิดสารตกค้าง ที่สำคัญคือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เกร็ดความเชื่อเรื่องกล้วย
เรื่องเล่าและความเชื่อสนุก ๆของกล้วยมีมากมาย ลองดูกันว่าแต่ละที่ แต่ละเมืองมีความเชื่อกันอย่างไรบ้าง
- คนไทยเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรกินกล้วยแฝดเพราะจะทำให้มีลูกแฝด ซึ่งก็ตรงกันกับชาวฟิลิปปินส์ที่เชื่อว่าสตรีมีครรภ์รับประทานกล้วยแฝดจะได้ลูกแฝด
- พม่าถือว่าใบตองเป็นของสูงใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ถ้าไม่มีเครื่องราชูปโภคเงิน ทอง จะใช้กระทงใบตองแทน
- ชาวจีนนิยมใช้ผลกล้วยทั้งหวีเป็นของเซ่นไหว้ในเทศกาลต่าง ๆ ให้ความหมายว่าเป็นนิ้วมือที่พนมไหว้แสดงการสักการะ
วิธีการปลูกกล้วย
- ไม่ควรปลูกกล้วยในที่ที่มีลมแรง เนื่องจากแผ่นใบมีขนาดใหญ่ ทำให้ต้านลม ใบแตกตามเส้นใบ และฉีกขาดดูไม่สวยงาม
- พื้นที่ขนาดเล็กควรหมั่นตัดใบและหน่อทิ้งเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้พุ่มแน่นทึบ และรกเกินไป
- ควรปลูกในดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง ได้รับแสงเต็มที่ และพื้นที่ปลูกไม่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ
- ปกติกล้วยจะออกเครือเมื่อมีอายุได้ 9 เดือน จากวันที่เริ่มปลูก และต้นที่ออกเครือจะมีใบไม่เกิน 14 ใบ
- นอกจากกล้วยแล้วยังมีพืชที่มีลักษณะคล้ายกันกับกล้วยซึ่งเป็นที่นิยมนำมาใช้จัดสวนไม่แพ้กัน คือ เฮลิโคเนีย กล้วยพัด ปักษาสวรรค์
ข้อมูลประกอบ
เฉลิมศักดิ์ บุญทวี. 2548. กล้วยจัดสวน. สำนักพิมพ์บ้านและสวน, กรุงเทพฯ.
เบญจมาศ ศิลาย้อย. 2545. กล้วย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
ส. พลายน้อย. 2531. พฤกษนิยาย. สำนักพิมพ์บำรุงสาร์น, กรุงเทพฯ.
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน