รีโนเวตตึกแถวให้มีสเปซแบบบ้านเดี่ยว

การรีโนเวตตึกแถว 3 คูหากลางเมือง ให้มีสเปซแบบบ้านเดี่ยว โดยเปิดคอร์ตกลางบ้านซึ่งแม้จะเสียพื้นที่ใช้สอย แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นแสนคุ้มค่า พร้อมแก้ปัญหาพื้นบ้านต่ำกว่าถนน และออกแบบฟาซาดเท่ๆ ที่ใครผ่านไปมาก็ต้องสะดุดตา

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: ID Architect

ใครจะนึกว่าตึกแถวสองชั้นครึ่งอายุ 35 ปี ในย่านอารีย์สัมพันธ์ ที่ทั้งเคยอยู่ต่ำกว่าระดับถนนมีน้ำท่วมและอยู่ในบริบท “เมือง” จะกลายร่างเป็นบ้านที่มีสเปซแบบบ้านเดี่ยวแต่อยู่ในโครงสร้างตึกแถวเดิม บ้านเท่ๆ หลังนี้เป็นของ คุณอิษ – อิษฎาและคุณอ้อน – อรณา แก้วประเสริฐ ซึ่งตั้งใจ รีโนเวทตึกแถว ให้เป็นเรือนหอ ด้วยฝีมือการออกแบบของคุณอิษที่เป็นทั้งสถาปนิกเจ้าของ ID Architect และคุณพ่อป้ายแดง ซึ่งไม่เพียงดูแลการก่อสร้างเองเพื่อควบคุมให้อยู่ในงบประมาณ แต่ยังใช้วัสดุเดิมมาออกแบบผสมผสานความเก่าและใหม่ให้อยู่ด้วยกันแบบไร้กรอบของคำจำกัดความใดๆ

รีโนเวทตึกแถว
ตึกแถวสามคูหาที่ออกแบบให้มีสเปซแบบบ้านเดี่ยว ทำฟาซาดแนวโมเดิร์นลอฟต์ด้วยพื้นผิวปูนเปลือย เหล็กสนิม และอิฐโชว์ และเพิ่มพื้นที่ใช้งานด้วยการต่อเติมดาดฟ้าชั้นบนเป็นห้องด้วยโครงสร้างเบา

รีโนเวทตึกแถว

รีโนเวตตึก แต่ไม่ทิ้งวิถีชีวิตเดิม

ตึกแถวเป็นอาคารที่ออกแบบมาให้ตอบรับระบบอุตสาหกรรมและสังคมในยุคก่อน จึงมีระบบโครงสร้างซ้ำๆ กัน มีช่วงเสาไม่กว้าง เน้นการใช้สอยเต็มพื้นที่ และมีทำเลติดถนนเพื่อให้ค้าขาย เป็นทั้งกรอบจำกัดและเสน่ห์แบบวิถีคนเมือง และเป็นความท้าทายสำหรับสถาปนิกในการ รีโนเวตตึกแถว และทลายกรอบเหล่านั้น

“ตึกแถวนี้เดิมเป็นบ้านของครอบครัวภรรยาซึ่งใช้อยู่อาศัยสองคูหาและให้เช่าหนึ่งคูหา เมื่อจะแต่งงานจึงมองหาเรือนหอ แต่ด้วยภรรยาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่มาตลอดและเป็นลูกคนเดียว จึงคิดว่าเราไม่ควรละทิ้งวิถีชีวิตเดิม และคิดถึงอนาคตถ้าเรามีลูก ก็จะเป็นครอบครัวขยายที่มีคุณตาคุณยายคอยเกื้อหนุนและดูแลกัน จึงตัดสินใจรีโนเวตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน” คุณอิษเล่าย้อนความถึงจุดเริ่มต้นในวันนั้นซึ่งนำมาสู่แนวคิดของการอยู่ตึกแถวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ก่อนรีโนเวต
รีโนเวทตึกแถว
ออกแบบสเปซด้านในทำเป็นโถงสูงสองชั้น แล้วทำฟาซาดก่ออิฐโชว์แนวเว้นช่องให้ระบายอากาศได้ตลอดเวลา
คุณพ่อชอบนั่งเล่นรับลมหน้าบ้าน จึงออกแบบเป็นเคาน์เตอร์สไตล์คอฟฟี่บาร์และหน้าต่างบานกระทุ้งจากประตูหน้าต่างเก่าไว้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน

บ้านเดี่ยวในตึกแถว

“แนวคิดแรกที่เกิดขึ้น คือ การทำพื้นที่ตึกแถวให้มีสเปซและฟังก์ชันครบแบบบ้านเดี่ยว มีพื้นที่เปิดโล่งรับแสงธรรมชาติได้ มีสวนในบริเวณบ้าน มีที่จอดรถ มีรั้ว มีการแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็นสัดส่วน อาจฟังดูไม่มีอะไรพิเศษ แต่เป็นสิ่งที่คนอยู่ตึกแถวไม่อาจมีพื้นที่ใช้สอยดังกล่าว จึงเปิดสเปซกลางตึกเป็นคอร์ตที่ทำเป็นสวนขนาดเล็ก ให้แสงและลมธรรมชาติเข้ามาสัมผัสพื้นที่ภายในบ้านได้ทั่วถึงทุกห้อง ชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับนั่งเล่น รับประทานอาหาร ทำครัว และมีห้องผู้สูงอายุสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีฟังก์ชันครบในตัว ชั้น 2 เป็นโฮมออฟฟิศ ID Architect ที่ใช้ทั้งทำงาน ประชุม และเป็นพื้นที่เล่นของลูก ส่วนชั้น 3 เตรียมไว้เป็นห้องนอนลูกในอนาคต”

คุณอิษชอบรถวินเทจและมีพื้นฐานด้านช่างอยู่บ้าง จึงมีมุมเวิร์คชอปอยู่ที่โรงรถหน้าบ้าน พอมีเวลาก็จะซ่อมบำรุงและตกแต่งรถเป็นงานอดิเรก
จะเห็นรถมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ทั่วบ้าน เป็นทั้งของตกแต่งและใช้งานจริง ซึ่งเป็นความฝันอย่างหนึ่งของคุณอิษที่อยากจอดมอเตอร์ไซค์โชว์ไว้ในบ้าน
ยอมเสียพื้นที่ใช้สอยในบ้าน โดยทุบพื้นออกแล้วทำหลังคาโปร่งแสงให้กลายเป็นคอร์ตกลางบ้าน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือแสงธรรมชาติ การระบายอากาศ มุมมองที่โปร่งโล่ง และบ้านที่อยู่สบาย

รีโนเวทตึกแถว

อย่าไว้ใจโครงสร้างเก่า

“อย่าไว้ใจโครงสร้างเก่า” เป็นข้อคิดของคุณอิษที่ฝากถึงแฟนๆ บ้านและสวน เพราะเมื่อมีการรื้อมักเจอสิ่งไม่คาดคิดเสมอ เช่นเดียวกับตึกนี้ “ก่อนรีโนเวตต้องสำรวจโครงสร้างเดิม ดูการทรุดร้าวต่างๆ ถือว่าโชคดีที่ไม่มีการทรุด ตอนแรกประเมินว่าอยู่ในสภาพดี 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเข้าทำงานพบส่วนที่เสียหายเยอะ คือ บริเวณคานกันสาดด้านหน้าซึ่งเกิดน้ำขังและคานร้าว วิศวกรเข้ามาตรวจโครงสร้าง โดยดูขนาดหน้าตัดเสา คาน และกะเทาะเนื้อปูนออกเพื่อดูขนาดเหล็กเสริมภายใน และทดสอบความแข็งแรงของเนื้อคอนกรีต ซึ่งพบว่าเนื้อคอนกรีตป่นราวกับดินเลย และสนิมกินเนื้อเหล็กจนเหลือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จึงทุบและหล่อคานใหม่ มีการเสริมคานเหล็กและทำพื้นห้องน้ำบางส่วนใหม่”

ทุบพื้นชั้น 2 เพื่อเปิดสเปซห้องนั่งเล่นให้สูงโปร่งและไม่ทำฝ้าเพดาน เพื่อแก้ปัญหาความสูงภายในห้องที่เตี้ยกว่าปกติ เพราะมีการยกระดับพื้นชั้นล่างให้สูงขึ้น 60 เซนติเมตร พร้อมกับโชว์การเดินงานระบบให้เป็นเส้นกราฟิกตกแต่งไปในตัว
รีโนเวทตึกแถว
การที่ไม่ต่อเติมหลังบ้านจนเต็มพื้นที่ จึงสามารถทำหน้าต่างสูงถึงใต้ท้องคานให้มีแสงธรรมชาติเข้ามายังส่วนรับประทานอาหารและแพนทรี่ที่จัดวางแบบโอเพ่นแปลน และมีการระบายอากาศจากหน้าบ้านไปหลังบ้านได้

ปัญหาการรีโนเวตตึกแถว

การรีโนเวตบ้านที่มีการอยู่อาศัยแล้ว จำเป็นต้องวางแผนการใช้ชีวิตและการก่อสร้างไปพร้อมๆ กัน

“ในช่วงก่อสร้างได้เช่าตึกแถวคูหาข้างๆ ซึ่งเป็นของคุณอาเป็นที่พักอยู่หลายเดือน ยังดีที่อยู่ติดกันจึงได้มาคุมงานก่อสร้างง่าย ปัญหาฃการ รีโนเวทตึกแถว คือ การกองเก็บวัสดุในพื้นที่จำกัดและพื้นที่พักคนงาน จึงต้องวางแผนก่อสร้างเป็นส่วนๆ สำหรับบ้านนี้เริ่มจากปรับปรุงโครงสร้างพื้นชั้นล่างของคูหาขวาสุดให้เสร็จก่อนที่จะเข้างานอื่นๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่กองเก็บวัสดุและที่พักคนงาน แล้วค่อยสลับไปใช้พื้นที่อื่นตามลำดับการก่อสร้าง และต้องทำทางสัญจรแนวตั้งอย่างบันไดและรอกสำหรับให้ช่างขนวัสดุได้สะดวก จากนั้นเริ่มทุบผนังจากชั้นบนและทำหลังคาก่อน แล้วก่อผนังตามแปลนใหม่ให้เสร็จ จึงทุบช่องเปิดและทุบพื้นภายหลัง”

การเปิดสเปซให้เชื่อมต่อระหว่างชั้น นอกจากทำให้บ้านโปร่งไม่อึดอัดแล้ว ยังไม่ตัดขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแม้จะอยู่คนละชั้น
รีโนเวทตึกแถว
มุมโต๊ะทำงานอยู่ตรงข้ามห้องนอน ตกแต่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์คันแรกที่ประกอบเองและงานศิลปะประดับผนังของ KORN (จตุจักร โครงการ 7 ซอย 3) ศิลปินที่เป็นเพื่อนคุณอิษและมีผลงานตกแต่งในบ้านหลายชิ้น

รีโนเวทตึกแถว

เรื่องพื้นๆ ที่ไม่พื้น

ระดับพื้นบ้านเดิมต่ำกว่าถนน 20 เซนติเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเสมอ จึงยกพื้นบ้านให้สูงขึ้นอีก 60 เซนติเมตร แต่พื้นบ้านเดิมก็มีการเทปูนทับกันหลายครั้ง และแต่ละคูหาก็ใช้วิธีการไม่เหมือนกัน จึงเป็นอีกเรื่องที่คุณอิษต้องตัดสินใจร่วมกับวิศวกร

“พื้นชั้นล่างเดิมทั้งหมดเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่แบบวางบนดิน (Slab on ground) และเมื่อสำรวจพื้นดินดูแล้วไม่มีการทรุดมาเป็นเวลานานมาก จึงใช้วิธีการยกระดับพื้น 2 ระบบ คือ พื้นภายในบ้านทั่วไปทำระบบพื้นสำเร็จรูปวางบนคาน (Slab on beam) โดยทำคานใหม่บนคานคอดินเดิม แล้วทำบ่าสำหรับวางแผ่นพื้นสำเร็จรูป เพื่อให้น้ำหนักไปลงที่ฐานรากเดิม ส่วนพื้นห้องคูหาขวาสุดซึ่งต้องรีบทำเพื่อใช้เป็นพื้นที่กองเก็บวัสดุ ใช้ระบบพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่แบบวางบนดิน (Slab on ground) โดยสกัดพื้นเดิมให้แยกจากโครงสร้างบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักพื้นเดิมถ่ายน้ำหนักลงที่ฐานราก แล้วจึงทำพื้นใหม่ทับ”

รีโนเวทตึกแถว
ส่วนประชุมและพื้นที่อเนกประสงค์ ทำประตูบานเฟี้ยมให้เปิดโล่งไปยังหน้าบ้าน เพื่อรับแสงธรรมชาติจากหลังคาสกายไลต์ แต่ไม่เสียความเป็นส่วนตัวโดยทำผนังก่ออิฐโชว์แนวเว้นช่องที่ยังระบายอากาศได้ดี

บ้านใหม่มากร่องรอยอดีต

“วันที่เปิดผ้าคลุมตึกออกเมื่อสร้างเสร็จ คนในย่านนี้ที่คุ้นเคยต่างเซอร์ไพร้ส์ เพราะนึกไม่ออกว่าตึกแถวที่เคยคุ้นชินจะกลายเป็นบ้านเดี่ยวได้อย่างไร ทุกคนในบ้านชอบที่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้อย่างเป็นสัดส่วน โล่งสบาย และยังคงมีของเดิม มีร่องรอยอดีตซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจของครอบครัวที่อยู่มาตั้งแต่เกิดมาผสมผสานให้อยู่ด้วยกันได้ และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราต่อไป”

คุณอ้อนบอกความประทับใจทิ้งท้าย ทำให้สัมผัสได้ถึงการส่งต่อความรักจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ให้รุ่นลูกที่กำลังสร้างครอบครัว และกำลังส่งต่อถึงรุ่นหลานด้วยความตั้งใจออกแบบบ้านให้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี รักษาสายสัมพันธ์ และมีเรื่องราวที่จะไม่ทำให้อดีตจางหายไป

คุณอิษ คุณอ้อน และน้องอัลเตอร์ วัยหนึ่งขวบ

ออกแบบ : ID Architect โดยคุณอิษฎา แก้วประเสริฐ โทรศัพท์ 08-9664-9144 

เจ้าของ : คุณอิษฎา – คุณอรณา แก้วประเสริฐ

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์