วิธีแก้ไขปัญหาเหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม
เหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม อาจดูน่ากลัวสำหรับเจ้าของบ้าน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ปัญหานี้สามารถจัดการได้ไม่ยากอย่างที่คิด
เหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย โดยปกติแล้ว เหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อยที่ใช้เสริมในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นก็มักจะมีสนิมผิวอยู่บ้าง ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้ปูนยึดเกาะกับเหล็กเสริมโครงสร้างได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
ประเภทของสนิม
- สนิมผิว สนิมประเภทนี้จะเกาะตามเนื้อเหล็กกล้าที่ยังไม่ได้ถูกเคลือบหรือทำผิว สนิมเหล่านี้มักเป็นผงบางๆเกาะอยู่บนผิวสามารถใช้แปลงทองเหลืองปัดออกได้ไม่ยากนัก
- สนิมขุม เป็นสนิมที่เกาะกินจนลุกลามเกิดเป็นโพรงสนิมกินลึกเข้าไปในเนื้อเหล็ก สนิมแบบนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะเริ่มทำให้เหล็กเสียหายไปเยอะแล้ว แต่ในโครงสร้างเหล็กที่มีความหนาเช่นเหล็ก H Beam หรือเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อยมักจะไม่พบสนิมขุมบ่อยนัก (หากไม่ได้ปล่อยโครงสร้างเปลือยทิ้งเอาไว้เป็น 10-20 ปี แต่ในโครงสร้างเหล็กที่เป็นเหล็กกล่อง หรือเหล็กแบบ Light Guage นั้น หากเกิดสนิมแล้วก็มักจะลุกลามกัดกินจนเสียหายได้อย่างรวดเร็ว เพราะเนื้อเหล็กที่บางเสียหายได้ง่ายนั่นเอง
เสาคานระเบิดน่ากลัวหรือไม่? เกิดจากจากอะไร?
ฟังดูแล้วเหมือนจะน่ากลัว แต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยปกติแล้ว การที่เสาหรือคานคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นจะมีอาการแตก ผุ ร่อน กระเทาะออกมา หากสังเกตแล้วไม่ใช่อาการว่าคานหัก หรือเสาหักกลางลำ และเมื่อพื้นที่ด้านบนไม่ได้มีการต่อเติม หรือ มีน้ำหนักที่ทำให้คานและเสาต้องแบกรับมากจนเกินไป ก็อาจจะเกิดจากความชื้นที่เข้าไปทำให้ เหล็กเสริม เกิดสนิมจนดันปูนระเบิดออกมานั่นเอง
ส่วนสาเหตที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็คือการปริร้าวของคอนกรีตอันเป็นผลให้เกิดความชื้นเข้าไประหว่างเหล็กเสริมและโครงสร้างคอนกรีตนั่นเอง นานวันไปจึงเกิดเป็นสนิม และดันจนโครงสร้างคอนกรีตแตกออกมาจากภายในในที่สุด เพราะฉะนั้นทางแก้จึงเป็นการซ่อมแซมเนื้อคอนกรีต และปิดช่องทางของความชื้นที่จะเข้าไปทำให้เกิดสนิมนั่นเอง
เหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม ผุ แตก ซ่อมได้ อย่ากังวล
อย่าเพิ่งใจเสียไป หากเป็นบ้านพักอาศัย หรืออาคารที่ใช้งานเป็นประจำแล้ว เหล่าสนิมเสาแตกคานระเบิดเช่นนี้มักจะไม่ได้กินลึกจนทำลายโครงสร้างขนาดนั้ ส่วนใหญ่มักจะเพียงกัดกินจนดันให้ปูนปริและแตกร่วงลงมาเสียมากกว่า ซึ่งถ้าปล่อยเอาไว้นานๆก็คงไม่ดี แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้เสียทีเดียว โดยขั้นตอนในการจัดการมีดังนี้
- ให้ตรวจสอบดูว่าสนิมในเหล็กเสริมคอนกรีตนั้นกัดกินไปแล้วมากน้อยเพียงใด หากมากจนเหล็กขาดหรือเสียหายก็ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อหาวิธีจัดการอื่นแทน
- อาจใส่ค้ำยันในบริเวณที่ต้องจัดการ เพื่อช่วยถ่ายแรง ป้องกันการล้มเหลวในการรับน้ำหนักของโครงสร้าง
- ทำการสกัดคอนกรีตในบริเวณที่เกิดสนิมออกให้หมด
- ขัดสนิมออกจากเหล็กเสริมโครงสร้างออกให้หมด อาจใช้เกรียง เหล็กขูด หรือแปลงทองเหลืองช่วย หากเหล็กมีขนาดหน้าตัดน้อยกว่า 20% จากเกิด อาจทำการเสริมเหล็กเข้าไปด้วยการทาบและเชื่อม
- ทำความสะอาดพื้นผิวของเหล็ก และคอนกรีตให้เรียบร้อย
- ทำน้ำยาเคลือบป้องกันสนิม Epoxy Rasin Primer และน้ำยาประสานคอนกรีต
- ติดตั้งไม้แบบเพื่อทำการเทคอนกรีต
- ผสมน้ำยาประสานคอนกรีตเข้ากับซีเมนต์(ปูน)ที่จะใช้ โดยที่คอนกรีตที่จะใช้จะมีส่วนผสมของคอนกรีตกำลังสูงแบบ Non Shrink หินเกล็ด และน้ำ ผสมให้เข้ากันและนำไปเทลงในไม้แบบที่เตรียมไว้
- รอคอนกรีตแห้งและบ่มต้ว จากนั้นจึงถอดแม่แบบและแต่งผิวให้เรียบร้อย
เห็นไหมล่ะครับ ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย ซึ่ง บ้านและสวนก็อยากให้เจ้าของบ้านและอาคารทุกท่านเข้าใจในขั้นตอนการจัดการกับปัญหาเหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม ผุ แตก เช่นนี้ แต่ทางที่ดีก็ยังจำเป็นที่จะต้องปรึกษากับวิศกรก่อนทุกครั้งนะครับ เผื่อว่าอาจจะมีปัญหาที่เรามองไม่เห็นมากกว่านี้ก็เป็นได้
เรื่อง – วุฒิกร สุทธิอาภา