บ้านทรอปิคัลโมเดิร์นสำหรับครอบครัวขยายที่รีโนเวตและสร้างบ้านใหม่ต่อจากบ้านเดิม โดยออกแบบเผื่อลูกหลานมีครอบครัวของตัวเอง และอยู่ร่วมบ้านเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ “เรือนหมู่” ของคนไทยโบราณ แต่ซ่อนรูปอยู่ในบ้านร่วมสมัยที่ออกแบบด้วยดีเทลและวัสดุสมัยใหม่
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Space Story Studio
ครอบครัวขยายเป็นวิถีของคนไทยในทุกยุคสมัย แต่กาลก่อนเมื่อลูกสาวมีครอบครัว ฝ่ายชายจะย้ายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง โดยปลูกเรือนเชื่อมต่อกับชานเรือนพ่อแม่ หรือปลูกเรือนอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะแบบ “เรือนหมู่” ที่เดินไปมาหาสู่และพึ่งพากันได้สะดวก เช่นเดียวกับ บ้านทรอปิคัลโมเดิร์น หลังนี้ ที่ดูภายนอกไม่ต่างจากบ้านทั่วไป แต่ภายในกลับซ่อนสเปซแบบเรือนหมู่ ซึ่งออกแบบเผื่อการมีครอบครัวของลูกหลานและรองรับการรวมญาติในแต่ละสัปดาห์ได้อย่างสะดวกสบาย
จากครอบครัวเดี่ยวสู่ครอบครัวขยาย
ภายในพื้นที่ 200 ตารางวานี้ เดิมมีบ้านสองชั้นอายุประมาณ 20 ปีซึ่งโครงสร้างหลักยังแข็งแรงดี แต่เมื่อครอบครัวที่มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย และลูก 3 คน ที่เติบโตจนสำเร็จการศึกษาและพร้อมสร้างครอบครัวของตนเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบ้านแบบครอบครัวขยาย โดยมีโจทย์สำหรับสถาปนิกคือ เป็นบ้านที่ทุกคนยังสามารถอยู่รวมกันได้ในบริเวณเดียวกัน โดยยังพื้นที่ส่วนตัวและดูแลบุคคลที่อยู่ร่วมกันภายในบ้านได้ทั่วถึง รวมทั้งรองรับญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยียนได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงเวลา
การแยกเพื่อรวมกัน
บ้านทรอปิคัลโมเดิร์น รูปตัวแอล (L) เปิดคอร์ตด้านหน้าเป็นสระว่ายน้ำ และเปิดโล่งถึงภายในบ้านที่มีทางเดินและชานเชื่อมอาคารสองหลังเข้าด้วยกัน คุณท็อป-พิพล ลิขนะไพศาล สถาปนิกแห่ง Space Story Studio เล่าถึงการออกแบบว่า “เป็นการรีโนเวตบ้านเดิมและสร้างบ้านใหม่อีกหลังในที่ว่างข้างบ้านเผื่อการมีครอบครัวของลูกในอนาคต และเพื่อการพักผ่อนในบั้นปลายชีวิต โดยออกแบบให้ทั้งสองหลังมีความเชื่อมโยงกันมากที่สุด แต่ก็คิดเผื่อปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินหรือการแบ่งกรรมสิทธ์ที่ดินซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนในอนาคต โดยเว้นพื้นที่ว่างระหว่างหลังไว้ ออกแบบวางผังให้ส่วนบ้านเดิมเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับรับแขก ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร ห้องครัวหลัก ชั้นบนเป็นยูนิตของคุณพ่อคุณแม่ที่มีห้องนอนและห้องนั่งเล่นซึ่งเชื่อมกับชานของอีกหลัง ส่วนหลังที่สร้างใหม่ออกแบบเป็นห้อง 3 ยูนิต แบบดูเพล็กซ์ที่มีฟังก์ชันครบในตัวเอง พื้นที่ชานจึงเป็นทั้งการเชื่อมต่อและแยกสัดส่วนพื้นที่ให้เป็นส่วนตัว”
ดีเทลโมเดิร์นในสไตล์ไทย
“เจ้าของชอบบ้านแบบไทยๆ แต่เลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีการใช้งานคงทนและราคาเหมาะกับยุคปัจจุบัน อย่างการเลือกใช้อะลูมิเนียมกับไม้เทียมทำผนังบ้าน ซึ่งเหมาะกับชีวิตปัจจุบันที่มีการเปิดแอร์ ป้องกันอากาศรั่วไหลได้ดีกว่าไม้จริง ใช้ไม้เทียมเป็นส่วนตกแต่งผนังภายนอกโดยติดตั้งบนผนังก่ออิฐอีกชั้น ทั้งเพื่อความสวยงามและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อน แต่เลือกโชว์เนื้อวัสดุที่ไม่ทำสี แล้วทาเคลือบแทน และออกแบบการจบรอยต่อด้วยฉากอะลูมิเนียมที่ดูบางเบาและทำงานง่าย ส่วนประตูหน้าต่างและผนังบางส่วนเป็นงานอะลูมิเนียมลายไม้ที่ยังคงดูอบอุ่นคล้ายไม้จริง แต่ทนทานและใช้งานได้ดีกว่า รวมถึงการใช้โครงสร้างเหล็กร่วมกับไม้และคอนกรีต เป็นการลดทอนรายละเอียด แต่ยังคงองค์ประกอบแบบบ้านไทย”
ใต้ถุน ครัวไทย และแกงใต้
ด้วยการออกแบบที่ดียังทำให้บ้านหลังนี้เป็น “บ้าน” ที่มีหลายองค์ประกอบร่วมกันได้ “เป็นครอบครัวที่สนิทกันมาก ก่อนนั้นทั้ง 5 คนก็อยู่พร้อมหน้ากันในบ้านหลังเดิม แต่พอขยายบ้านให้ใหญ่ขึ้นอาจทำให้รู้สึกห่างกัน จึงออกแบบบ้านให้มี Sense of Place ที่ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนอยู่ในบ้านด้วยกัน มีความผูกพันเกิดขึ้น มีการเปิดมุมมองจากห้องแฟมิลี่ไปยังห้องพักของลูกๆ ซึ่งทำเป็นผนังกระจกให้มองเห็นกันได้ วางแปลนให้หันหน้าเข้าหากัน ทำพื้นชานไม้เว้นร่องที่พอจะมองเห็นกันได้บ้าง และรู้สึกได้เมื่อมีคนเดินแม้จะอยู่กันคนละชั้น”
แม้ลูกๆ จะแยกไปมีชีวิตส่วนตัวในบ้านของแต่ละคน แต่ทุกเช้าหรือเย็นก็ยังคงไปนั่งเล่น ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งออกแบบผนังบ้านให้เปิดโล่งมีสเปซแบบใต้ถุนบ้านที่อยู่สบาย ตามความชอบของคุณพ่อคุณแม่ที่ตอนกลางวันอยู่แบบเปิดบ้านโล่งมากกว่าเปิดเครื่องปรับอากาศ ส่วนหลังบ้านมีทั้งครัวฝรั่งและครัวไทยที่คุณแม่ลงมือทำอาหารเองด้วยรสมือคนปักษ์ใต้ทั้งอร่อยและคุ้นเคย บางวันลูกๆ อาจยกสำรับตักแกงในหม้อแยกไปรับประทานส่วนตัวแบบครอบครัวเดี่ยว แม้จะนั่งกันคนละมุมบ้าน แต่ก็อิ่มท้องอิ่มใจด้วย “รสมือแม่” เสมอ ในชามแกงร้อนๆ จึงอาจเป็น “บ้าน” ที่เชื่อมโยงครอบครัวอย่างแท้จริงก็เป็นได้
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์