เรือนไม้หลังงามจากยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย

มีคนเคยพูดว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสากล ซึ่งอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของศาสนา เชื้อชาติ และกาลเวลาเสมอ” บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยยืนยันได้อย่างดี ด้วยรูปแบบการสร้างที่มีกลิ่นอารยธรรมทั้งจากตะวันตกและอิสลามผสมผสานกัน แสดงถึงลักษณะงานศิลปะในรัชสมัยรัชกาลที่ 4-6 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมในประเทศไทย

เจ้าของ: คุณชัยรัตน์ – คุณนาตยา สมันตรัฐ

บ้านไม้โบราณ
บ้านหลังนี้เลือกวิธีการทำฝาผนังแบบชาวตะวันตก เพราะสามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนที่แทรกเข้าไปในรอยต่อระหว่างแผ่นไม้ได้ดีกว่าเดิม เป็นอีกหนึ่งสิ่งดีๆที่คนโบราณนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมไทย
ของตกแต่งสไตล์ย้อนยุค
ของตกแต่งย้อนยุคซึ่งเป็นของสะสมที่สืบสานต่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบัน สร้างบรรยากาศสุดคลาสสิกให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่เสมอ

บ้านไม้โบราณ

 

บ้านไม้โบราณ หลังนี้เปี่ยมด้วยเรื่องราวความผูกพันอันยาวนานเกือบร้อยปี ซึ่งบอกเล่าโดยลูกหลานผู้สืบเชื้อสายมาจากหลวงโกชาอิศหาก ต้นสกุลของเจ้าของบ้านหลังนี้

“เดิมพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ซึ่งเป็นคุณพ่อรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดสตูล แต่มาซื้อที่และปลูกบ้านหลายหลังเพื่อให้ลูกหลานอยู่รวมกันได้เรียนหนังสือและใช้เป็นที่รับรองแขกในกรุงเทพฯ เลยได้วิ่งเล่นในบ้านหลังนี้มาตั้งแต่ยังเล็ก”

ด้วยเชื้อสายที่เป็นชาวมุสลิมจากทางภาคใต้ ประกอบกับบ้านหลังนี้สร้างขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการใช้ลักษณะของศิลปะผสมผสานกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการสร้างและตกแต่ง โดยการฉลุเป็นลวดลายแบบแขกมัวร์ (Mauresque Art) และแบบลายขนมปังขิง อันเป็นเอกลักษณ์งานไม้แห่งอิสลาม โดยเน้นลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบทรงเรขาคณิตเป็นหลัก ติดตามบริเวณต่างๆรอบบ้าน ทั้งขอบกันสาดของส่วนที่ยื่นออกมาเหนือประตู หน้าต่าง แผ่นไม้ที่ติดระหว่างช่วงเสา ขอบชายคาโดยรอบบ้าน สันหลังคา หน้าจั่ว มุขหน้า ขอบลูกกรงระเบียง และส่วนกันแดดตอนบนของระเบียง ส่วนที่ติดเพดาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในบ้าน ด้วยการออกแบบโครงสร้างมีประตูหน้าต่างมากมาย และเจาะช่องลม ทั้งบริเวณใต้หลังคา ส่วนที่เป็นกรอบอยู่เหนือหน้างต่างประตู และตอนบนของผนังที่อยู่ใต้ฝ้าเพดานลงมา เพื่อให้ลมผ่านและช่วยระบายความร้อนใต้ฝ้าออกไป

“การฉลุไม้ลวดลายแบบแขกมัวร์ (Mauresque Art) เป็นเอกลักษณ์งานไม้แห่งอิสลามที่ได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เพราะมีความกลมกลืนกับสภาพอากาศของไทยเรามากกว่าการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นบนตึกหนาทึบแบบจีนผสมตะวันตกอย่างสมัยรัชกาลที่ 4 

“รูปแบบของตัวบ้านจะแสดงถึงวิธีคิดและเจตนาของผู้สร้าง ซึ่งไม่ใช่เพียงความสวยงามที่ปรากฏ แต่ยังสะท้อนถึงความยอดเยี่ยมของคนไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้ให้เข้ากับบ้านเมืองของเราได้เป็นอย่างดี”

ประตูไม้
ประตูบานไม้เปิดคู่ทำลูกฟักไม้กระดานทึบดุนสองด้าน และทางเดินพื้นกระดานไม้สักตีชิด ขนาด 6×6 นิ้ว ที่เชื่อมต่อการใช้งานระหว่างโถงรับแขกกับชานนั่งพักผ่อนหลังบ้าน เป็นอีกหนึ่งความงามของงานสถาปัตยกรรมไทยในบ้านหลังนี้
ระเบียง
ออกแบบช่องแสงและช่องลมติดอยู่ตามจุดต่างๆทั่วบ้านเพื่อระบายความร้อนใต้ฝ้าเพดานออกไป โดยทำเป็นบานไม้ฉลุโปร่งอย่างสวยงามหลายแบบ มีทั้งไม้ฉลุ ไม้ตีระแนงตารางทแยง และตารางสี่เหลี่ยม รวมถึงแบบเป็นไม้ซี่ทางตั้งตีเว้นช่อง
ท่าขึ้นเรือเดิมของบ้านปรับเปลี่ยนการใช้งานไปตามกาลเวลา เป็นลานกว้างหลังบ้านซึ่งยังคงใช้เป็นที่นั่งชื่นชมศิลปะการก่อสร้างชั้นครูสมัยโบราณอย่างเต็มที่ได้เหมือนกัน เจาะช่องบนหลังคาให้แสงแดดกับลมพัดเข้า-ออกได้ตรงกลางบ้าน อีกหนึ่งวิธีการถ่ายเทอากาศภายในบ้าน แล้วแก้ปัญหาเวลาฤดูฝนมาเยือนด้วยการติดรางน้ำทำจากเหล็กอาบสังกะสีไว้บนหลังคาที่มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อช่วยระบายน้ำบนหลังคากับรองน้ำฝนไว้ใช้ได้อีกด้วย
ห้องรับประทานอาหาร
รับประทานอาหารท่ามกล่างลมพัดเย็นสบายได้ตลอดทั้งวัน เพราะโครงสร้างบ้านมีการเจาะช่องประตูกับหน้าต่างมากมาย ทำให้อากาศหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นมุมโปรดของครอบครัวนี้
ห้องรับแขก
แม้จะคงการตกแต่งห้องรับแขกแบบเก่าไว้ได้เกือบสมบูรณ์ แต่การสร้างถนนเจริญนครทำให้เจ้าของต้องกลับรูปด้านบ้านใหม่ เพื่อความสะดวกในการสัญจร ตำแหน่งที่ตั้งของห้องในปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมด้านหน้า กลายเป็นด้านหลังบ้านแทน

ประตูไม้

การวางตัวบ้านจะค่อนไปทางด้านหลังของที่ดินและหันด้านจั่วหรือด้านหน้าอาคารออกสู่ริมคลอง มีลานกว้างเป็นที่นั่งเล่น ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นท่าน้ำให้ขึ้น-ลงเรือ แม้จะออกแบบผังพื้นอย่าง่ายๆตรงไปตรงมา แต่ก็สามารถเอื้อความสะดวกในการใช้เนื้อที่ได้เป็นอย่างดี คุณลุงคุณป้าเจ้าของบ้านปัจจุบันบอกกับเราว่า ตั้งใจจะรักษาโครงสร้างและบรรยากาศของบ้านให้เหมือนเมื่อแรกสร้างให้มากที่สุด เพราะของทุกชิ้นในบ้านหลังนี้เป็นเสมือนความทรงจำครั้งเก่าที่ไม่เคยเลือนหายไปจากครอบครัว และยังได้ช่วยสืบต่องานสถาปัตยกรรมของไทยให้คงอยู่ต่อไป

ไม้ฉลุลาย
เปลี่ยนจากกันสาดทั่วไปมาใช้ไม้ฉลุลายสุดคลาสสิกแทน ช่วยกันแดด กันฝน และเสริมความงามให้อาคารได้อย่างดี
หลังคากระเบื้องว่าว
มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว (กระเบื้องซีเมนต์) ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสทางทแยงสวยงาม ขนาดประมาณ 24 x 24 เซนติเมตร และทำความชันของหลังคาให้ไม่เกิน 45 องศา และทำชายคาให้ยื่นออกมาประมาณ 1 เมตร เพื่อระบายน้ำฝนได้ง่าย
ฝ้าไม้
ลืมฝ้ายิปซัมหรือพื้นปูนที่น่าเบื่อไปได้เลย หันมาปิดโครงหลังคาด้วยฝ้าเพดานไม้ตีชิดเว้นร่อง มีเสน่ห์และสร้างรูปแบบที่หลากหลายได้ไม่แพ้กัน
หลังคาปั้นหยา
ใช้หลังคาปั้นหยาด้านจั่วหักมุมเอียงลงมาเล็กน้อย เพื่อกันฝนให้ช่องระบายอากาศเกล็ดไม้ที่หน้าจั่ว และช่วยแก้ปัญหาเรื่องการซึมของน้ำฝนที่สันหลังคาตรงรอยต่อระหว่างไม้ปั้นลมปิดจั่วกับโครงหลังคาได้
เปลี่ยนขอบลูกกรงระเบียงให้เก๋ไก๋ ด้วยการเจาะทำลายดอกทิวลิป ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของลวดลายงานไม้แบบขนมปังขิง เป็นอิทธิพลที่บ้านสมัยนั้นได้จากทางตะวันตกและชาวมุสลิมทางภาคใต้จะประกอบด้วยทิวลิปตั้งและทิวลิปคว่ำอยู่คู่กันเสมอ
เสริมบรรยากาศแบบไทยๆด้วยต้นไม้กระถางบนชานเรือนและทำรางน้ำรองรับน้ำฝนใส่ตุ่มไว้ใช้ตามแบบโบราณ โดยระวังอย่าปลูกต้นที่สูงใหญ่มาก เพราะอาจมีเศษใบไม้อุดตันบนหลังคาหรือรางน้ำได้

เรื่อง : Moonless Night

ภาพ: เมธา,วิรุฬห์

ชม 5 บ้านเก่าทรงคุณค่า ที่เปรียบเสมือนมรดกของสถาปัตยกรรมไทย

วิลล่า มูเซ่ : ย้อนเวลาไปกับบ้านไทยยุคโคโลเนียลที่บูรณะเป็นแหล่งเรียนรู้