เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดจัดจ้านตลอดทั้งปี ดังนั้นพรรณไม้ที่ปลูกง่ายส่วนใหญ่จึงเป็นพรรณไม้แดด ซึ่งจุดเด่นคือมักให้สีสันที่สดใสสวยงามโดยเฉพาะดอกและใบ ทำให้เรามีพรรณไม้สำหรับให้เลือกใช้งานจัดสวนมากตามไปด้วย นอกจากนั้นยังมีไม้แดดกินได้จำนวนหนึ่งที่เราสามารถเก็บผลผลิตบางส่วนมารับประทานได้โดยไม่ต้องไปหาซื้อในตลาดให้สิ้นเปลืองร่วมด้วย ดังนี้
1.พวงชมพู
ชื่อวิทยาศาสตร์: Antigonon leptopus Hook. & Arn.
วงศ์: Polygonaceae
ไม้แดดกินได้ อันแรกคือไม้เลื้อยขนาดกลางดอกรูปหัวใจสีชมพูเล็กๆที่เห็นนี้มีถิ่นกําเนิดในประเทศเม็กซิโก มีชื่อสามัญหลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ MexicanCreeper, ChainofLove, PinkVine, CoralVine มีดอกตั้งแต่สีขาว ชมพู ไปจนถึงสีชมพูเข้ม นอกจากดอกที่เป็นรูปหัวใจแล้ว ใบของพวงชมพูก็มีลักษณะเป็นรูปหัวใจสวยไม่แพ้กันสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ในดินทุกชนิด ลักษณะนิสัยชอบแดดเต็มวัน จึงเป็นไม้เลื้อยยอดนิยมที่มักพบเห็นปลูกกันทั่วไป ช่อดอกอ่อนนำมาชุบแป้งทอด กินเป็นของว่างได้
2.บาหยา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Asystasia gangetica (L.) Anderson
วงศ์: Acanthaceae
พรรณไม้คลุมดินที่พบได้ทั่วไป ขึ้นง่ายในทุกพื้นที่ เราจึงมักเห็นดอกไม้ชนิดนี้ตั้งแต่ริมรั้ว ข้างถนน หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยที่สามารถเลื้อยพันต้นไม้ไปได้ไกล ดอกออกเป็นช่อ มีหลายสี ตั้งแต่สีขาว เหลืองชมพูอ่อน ชมพูเข้ม คราม ไปจนถึงม่วง ช่อหนึ่งยาวประมาณ4นิ้ว แต่ละช่อมี10-15ดอก ทยอยบานตั้งแต่จากโคนช่อดอกไปหาส่วนยอด บาหยาแต่ละดอกจะบานเพียงวันเดียว เมื่อดอกโรยจะติดผล และพอผลแก่จะสลัดเมล็ดให้กระเด็นไปได้ไกลเราจึงมักพบบาหยาขึ้นอยู่ได้ทั่วไป ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับลาบ แจ่ว น้ำพริกปลาร้า กินได้ตลอดปี แต่มีกลิ่นเหม็นเขียว ประเทศไนจีเรียใช้ต้นทำเป็นยาแก้โรคหืด
3.ผักกวางตุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica rapa L. (Brassica pekinensis var. laxa Tsen & S.H.Lee)
วงศ์: Brassicaceae
ไม้แดดกินได้ อายุปีเดียวไม่มีเนื้อไม้ สูง 20-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงอาจพบพวกที่ลำต้นมีลักษณะเลื้อย ลำต้นผอมมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกใหญ่ยาว มีแขนงก้านย่อยมาก มีดอกย่อยออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเริ่มบานจากที่โคนด้านล่างก่อน ดอกมีลักษณะเล็กๆ กลีบดอกมีสีเหลืองสด เติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทรายจะเจริญเติบโตได้ดี นำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้หลายเมนู สามารถรับประทานสดได้ มีรสชาติหวานกรอบ แต่จะมีกลิ่นเหม็นเขียว ในประเทศไทยมีปลูกหลายสายพันธุ์
4.โรสแมรี่
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rosmarinus officinalis L.
วงศ์: Lamiaceae
ไม้ดอกอายุหลายปี พุ่มสูง 1-2 เมตร ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ ทนดินเค็ม แสงแดดเต็มวัน ชอบอากาศเย็น มีทั้งชนิดพุ่มและชนิดเลื้อย ลำต้นและใบมีขนนุ่มสั้นสีขาวปลูกเป็นไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ไม้คลุมดิน (ชนิดเลื้อย) ใบใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เป็นส่วนผสมของยา เครื่องสำอาง มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน ใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกเนื้อ ชา และไวน์ นิยมปลูกเป็นสมุนไพรในสวนครัว
5.กุหลาบมอญ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rosa damascene
วงศ์: Rosaceae
กุหลาบหนามน้อย ชอบแดดตลอดวัน อากาศไม่ร้อนจัด ดินปนทราย มีอินทรียวัตถุ ระบายน้ำและอากาศดี ค่า pH 6-7 เหมาะปลูกประดับสวนหรือเป็นไม้กระถาง ปลูกในไทยมานาน ไม่ทราบประวัติแน่ชัด กุหลาบมอญหรือกุหลาบดามัสก์มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง มีชื่อเรียกว่า “กุลอับ” นิยมใช้ดอกทำน้ำหอมมานาน และมีสรรพคุณทางสมุนไพรที่ช่วยบำรุงหัวใจ กลีบดอกสามารถนำมาชุบแป้งทอด ใช้รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้ หรือใช้ทำเป็นยำ
6.ไธม์
ชื่อวิทยาศาสตร์: Thymusvulgaris
วงศ์: Lamiaceae
ไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี ลําต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านทอดเลื้อยตามผิวดินได้ ใบรูปรีขนาดเล็กออกเรียงสลับรอบกิ่ง มีขนอ่อนๆทั่วใบ และมีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ชมพู และม่วง ต้องการแสงแดดครึ่งวันหรือตลอดวัน ขยายพันธุ์ง่ายด้วยการเพาะเมล็ดและปักชํากิ่ง นอกจากปลูกประดับสวนครัวแล้ว ยังนิยมใช้ใบมาปรุงอาหารจําพวกเนื้อสัตว์ เช่น สเต๊ก ไส้กรอก และชงเป็นชาสมุนไพร
7.ทาร์รากอน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tageteslucida
วงศ์: Asteraceae
เรียกอีกชื่อว่า เม็กซิกันทาร์รากอน(Tarragon/MexicanTarragon) พืชสกุลเดียวกับดาวเรือง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี ทุกส่วนอวบน้ําและมีขนอ่อนปกคลุม ใบรูปแถบออกเวียนสลับรอบกิ่ง เมื่อขยี้ใบมีกลิ่นหอม ดอกออกที่ปลายยอด มี5กลีบ สีเหลืองสด ต้องการแสงแดดตลอดวัน เติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการปักชํากิ่ง ชาวเม็กซิโกนิยมใช้ใบสดหรือใบแห้งชงเป็นชาและปรุงในซุป
8.โกสน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Codiaeum variegatum (L.) ฺBlume
วงศ์: EUPHORBIACEAE
ไม้พุ่มขนาดกลาง ชอบดินร่วนผสมใบไม้ผุและปุ๋ยอินทรีย์ ระบายน้ำดี ถ้าให้ปุ๋ยมากอาจสูงชะลูดจนเสียทรง นิยมปลูกเป็นกลุ่มกลางแจ้งหรือริมถนนเพื่อสร้างสีสัน อาจเล่นสีตัดกับไม้สีเขียว เช่น แก้ว ชาฮกเกี้ยน ไม่ควรใช้ต้นที่ขุดล้อมเพราะใบร่วงแล้วจะแตกพุ่มใบช้ามาก ปลูกริมทะเลได้ ยอดอ่อนช่วยบำรุงกำลัง ใบนำมาตำพอกท้องเด็ก ชาวเหนือนิยมกินยอดอ่อนหรือต้มจิ้มน้ำพริก ส่วนชาวอีสานมักกินกับส้มตำให้รสหวาน
9.โกฐจุฬา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Eupatorium capillifolium
วงศ์: Asteraceae
อีกชื่อว่า ผักชีช้าง ต้นและใบคล้ายผักชีลาวมากแต่มีขนาดโตกว่าผักชีลาว กลิ่นคล้ายกัน สูง 60 เซนติเมตร – 2 เมตร ดอกจิ๋วออกเป็นช่อตามก้าน มีกลีบเลี้ยงสีเขียว คล้ายถ้วยหุ้ม มีกลีบเล็กๆ เหมือนด้ายสีขาวโผล่เป็นรัศมี พบได้ทางตอนใต้ ของอเมริกากลาง ในธรรมชาติจะมีผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่กินน้ำหวานจาก ดอกของพืชชนิดนี้ไว้ในตัวเพื่อใช้ล่าเหยื่อ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและกินยอดเป็นผักสด ขยายพันธุ์โดยการปักชำยอด ชอบแสงจัด ดินร่วนน้ำไม่ขัง
10.อัญชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Clitoria ternatea L.
วงศ์: FABACEAE (Papilionoideae)
ไม้เลื้อยเนื้ออ่อนขนาดเล็ก อายุสั้น โตเร็ว ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน มี 5 กลีบ สีขาว ฟ้าหรือม่วง กลีบชั้นนอกมีขนาดใหญ่ กลางกลีบมีแต้มสีเหลือง น้ำคั้นจากกลีบดอกสีน้ำเงินอมม่วง หากบีบมะนาวลงไปจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง ใช้แต่งสีอาหารคาว-หวาน ทำเครื่องดื่ม หรือใช้ดอกแห้งชงเป็นชา มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี หรือใช้เป็นส่วนผสมในยาสระผม ช่วยให้ผมดกดำ