การทำความสะอาดบ้าน เหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว ที่แค่หยิบจับอุปกรณ์ทำความสะอาด มาขัด ๆ ถู ๆ ก็สะอาดเอี่ยมได้ แต่บางครั้ง ก็ยังมีเคล็ดลับทำความสะอาด หรือเทคนิคในขั้นตอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนส่วนใหญ่มากจะมองข้ามไป ซึ่งขั้นตอนการทำความสะอาดบ้าน สิ่งเหล่านี้ สามารถช่วยให้ การทำความสะอาดในครั้งต่อ ๆ ไป กลายเป็นเรื่องง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เคล็ดลับทำความสะอาด
วันนี้ บ้านและสวน รวมเอาเคล็ดลับ ทำความสะอาดบ้านแบบง่าย ๆ ที่แค่เปลี่ยนวิธีการนิดหน่อย ก็ให้ผลลัพธ์ความสะอาดที่เกินคาด แบบไม่ต้องเหนื่อยออกแรงมาก ๆ มาฝากกัน ถ้าหากว่าเคยเผลอพลาด เคล็ดลับข้อไหนไป ก็สามารถมาเริ่มต้นใหม่ ในการทำความสะอาดครั้งหน้า ได้เสมอ เพื่อให้แต่ละมุมของบ้าน สะอาดขึ้นกว่าเดิม ! เคล็ดลับทำความสะอาด
1 . วางแผนลำดับการทำความสะอาด
แม้จะเป็นเรื่องของการทำความสะอาด แต่ก็ต้องมีการวางแผนไม่ต่างจากงานประเภทอื่น ๆ เพราะในบางครั้ง การทำความสะอาดโดยไม่ได้วางแผน ก็อาจทำให้ต้องเสียแรง และ เสียเวลาในการทำความสะอาดหลายจุด ซ้ำไป ซ้ำมา อย่างการทำความสะอาดในพื้นที่มุมสูง เช่น การเช็ดหลังตู้เสื้อผ้า หรือ พัดลมเพดาน ก็ควรจัดการให้เรียบร้อย ก่อนจะลงมืดทำความสะอาดบนชั้นวางของ หรือโต๊ะอาหาร ตามด้วยการทำความสะอาดพื้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายตามลำดับ เพราะฝุ่นจากที่สูง จะฟุ้งกระจาย ไปยังพื้นที่ต่ำกว่า การวางแผนทำความสะอาด ทั้งเรื่องของบริเวณที่ต้องการจะทำความสะอาด ในลำดับก่อน – หลัง รวมไปถึงการแบ่งวันในการทำความสะอาดแต่ละจุดนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ไม่ต้องเหนื่อยซ้ำซ้อน
2 . รอเวลาให้น้ำยาทำความสะอาดทำงานได้เต็มที่
น้ำยาทำความสะอาดรูปแบบต่าง ๆ นั้นถูกออกแบบมาให้กำจัดคราบโดยเฉพาะก็จริง แต่ใช่ว่าพอหยิบมาเทราดลงบนคราบปุ๊บ ก็ลงมือขัด หรือ ทำความสะอาดปั๊บ แล้วคราบจะหายไปได้ในพริบตา เพราะการทำงานต่าง ๆ ยังต้องใช้เวลา น้ำยาทำความสะอาดเองก็อาจต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ ออกฤทธิ์เพื่อขจัดคราบที่สะสมอยู่ ให้จางลงไปเหมือนกัน อย่างการทำความสะอาดคราบหนัก ที่เลอะบนเสื้อผ้า หรือ ขจัดเชื้อราในห้องน้ำนั้น หลังจากเท หรือป้ายน้ำยาลงไปแล้ว ก็ควรทิ้งให้น้ำยาออกฤทธิ์ไว้สักพัก ก่อนจะเริ่มทำความสะอาด เพื่อให้น้ำยาที่ใช้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งแบบนี้จะเป็นการใช้งานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งประหยัดแรงขัด และประหยัดเวลาอีกด้วย
3 . ดูแลความสะอาดของอุปกรณ์
ก่อนจะลงมือทำให้บ้านสะอาดนั้น ต้องมั่นใจก่อนเลยว่า อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ก็ต้องสะอาดไม่แพ้กัน เพราะถ้าหากอุปกรณ์ทำความสะอาด ยังเต็มไปด้วยฝุ่น หรือ สิ่งสกปรกอยู่ พื้นที่ในบ้านก็คงไม่สะอาดตามไปด้วยเหมือนกัน สำหรับผ้า ฟองน้ำ หรือ แปรงขัด นั้น ถ้าหากไม่มั่นใจ หรือ ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในตู้ที่สะอาด และมิดชิดมากพอ ก็อาจต้องมีการซักทำความสะอาดซ้ำอีกครั้ง ก่อนนำมาใช้งาน เพราะระหว่างที่ตากทิ้งไว้ในมุมซักล้าง ก็อาจสัมผัสสิ่งสกปรกได้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังรวมไปถึงถังน้ำและภาชนะต่างๆ ที่ใช้ทำความสะอาดด้วย เมื่อใช้งานเสร็จควรล้าง และเก็บให้เรียบร้อย รวมถึงทำความสะอาดซ้ำอีกครั้งก่อนนำมาใช้ในครั้งถัดไปด้วย
4 . แยกใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดแต่ละพื้นที่
แม้จะเป็นการทำความสะอาดรูปแบบเดียวกัน แต่บางครั้งก็ต้องใช้อุปกรณ์มากกว่า 1 ชิ้น เพื่อแยกใช้งานในแต่ละพื้นที่ของบ้าน อย่างเช่น ถ้าหากใช้ไม้ถูพื้นในครัว กับในห้องนอนด้วยกัน ก็กลายเป็นทำให้พื้นในห้องต้องเจอสิ่งสกปรกมากกว่าเดิม หรือ การแยกฟองน้ำสำหรับล้างจานชาม กับแก้วน้ำ ออกจากกันก็เพื่อไม่ให้กลิ่นเศษอาหาร หรือ คราบมันไปติดแก้วน้ำและภาชนะชิ้นอื่น ๆ การแยกใช้อุปกรณ์หลายชิ้นนั้นไม่ได้ถือว่าสิ้นเปลือง แต่กลับทำให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นไม่ต้องทำงานหนัก หรือ เจอสิ่งสกปรกมากเกินไป และนั่นก็ทำให้พื้นที่แต่ละมุมในบ้านไม่ต้องเจอคราบหรือฝุ่นต่าง ๆ จากพื้นที่อื่นเข้ามาปะปนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
5 . เลือกวัสดุที่ใช้ให้เหมะสม
การเลือกอุปกรณ์ทำความสะอาดนั้น ถือว่าเป็น เคล็ดลับทำความสะอาด ที่มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนการทำความสะอาดอื่น ๆ เพราะนอกจากจะต้องสะอาดพร้อมใช้แล้ว ก็ต้องเลือกอุปกรณ์ ให้เหมาะสมกับพื้นผิว และรูปแบบการทำความสะอาดด้วย อย่างการเช็ดกระจกให้ใสปิ๊ง ก็ต้องเลือกใช้ผ้าที่ซับน้ำได้ดี และมีความอ่อนนุ่ม อย่างเช่นผ้าไมโครไฟเบอร์ เพื่อไม่ให้เกิดรอยขีดข่วน รวมทั้งไม่ทิ้งคราบด่าง จากน้ำด้วย เพราะฉะนั้นก่อนทำความสะอาดมุมไหน ก็ต้องรู้ก่อนเลยว่า สิ่งสกปรกที่ต้องเจอนั้น เป็นฝุ่น รอยเลอะ หรือคราบฝังแน่น เพื่อให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่ลงตัวได้ดีที่สุด ทีนี้การทำความสะอาดในแต่ละพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องง่ายและพื้นผิวต่าง ๆ ก็ไม่เสียหายด้วย
6 . อย่ามองข้ามจุดเล็ก ๆ
การทำความสะอาดในหลาย ๆ มุม มักถูกให้ความสำคัญเฉพาะจุดที่มองเห็นได้ชัดเจน จนลืมไปว่าจุดเล็ก ๆ ที่มีการสัมผัสบ่อย ก็ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษด้วยเหมือนกัน เพราะยิ่งมีการใช้งาน หรือ สัมผัสร่วมมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่คราบเหงื่อ รวมทั้งเชื้อโรคต่าง ๆ จะรวมตัวกันอยู่ตรงนั้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นก็คือบริเวณสวิตซ์ไฟ ลูกบิดประตู มือจับตู้ลิ้นชัก ไปจนถึงอุปกรณ์อย่างรีโมทด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากมีโอกาสทำความสะอาดพื้นที่ในห้องไหน ก็อย่าลืมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และเช็ดตามจุดเล็ก ๆ เหล่านี้กัน
7 . ทำความสะอาดแต่ละมุมตามเวลาที่เหมาะสม
การวางแผนและจัดสรรเวลาสำหรับทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ ของบ้านนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องตายตัวเสมอไป เพราะการทำความสะอาดบางอย่าง อาจไม่จำเป็นต้องลงมือเฉพาะวันหยุด หรือ ช่วง Big cleaning เท่านั้น แต่การค่อย ๆ ทำความสะอาดไปทีละเล็ก ละน้อย ในชีวิตประจำวันอาจเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดแรงและเวลาได้มากกว่า อย่างการทำความสะอาดม่านกั้นในห้องน้ำ เพื่อไม่ให้กลายเป็นคราบสะสม หรือ การเช็ดคราบน้ำมันบนเตาแก๊ส และ เคาน์เตอร์ครัวหลังปรุงอาหารเสร็จ ส่วนอีกอย่างที่สำคัญคือแต่ละจุดในบ้านนั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดที่เท่ากัน บางจุดอาจต้องคอยเช็ดถูทุกอาทิตย์ แต่บางจุดก็อาจจะแค่เดือนละครั้งก็เพียงพอค่ะ ต้องคอยสังเกตตามการใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยไว้นานเกินจนทำความสะอาดยาก หรือดูแลมากเกินไปจนอาจกลายเป็นไม่คุ้มค่าเวลาและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
8 . ใช้น้ำยาทำความสะอาดอย่างพอดี
น้ำยาทำความสะอาดรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามท้องตลาดหรือน้ำยาสูตร homemade นั้นถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการขจัดคราบและสิ่งสกปรก เพราะลำพังแค่การหาผ้า หรือ แปรงมาเช็ดทำความสะอาดคงไม่สามารถช่วยให้พื้นที่ต่าง ๆ สะอาดเอี่ยมได้ซะทีเดียว แต่การใช้น้ำยาทำความสะอาดนั้นก็มีปริมาณที่เหมาะสมอยู่ ใช่ว่ายิ่งใช้เยอะก็จะยิ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มพลังในการทำความสะอาดได้ ยังไงก็ควรทำตามคำแนะนำบนฉลากและใช้อย่างพอดี เหมือนอย่างการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาถูพื้นในปริมาณที่มากเกินไปก็ไม่ได้ช่วยให้สะอาดขึ้นแต่กลับเหนียวเหนอะหนะมากกว่าเดิม