เวฬา วาริน สถาปัตยกรรมยุคสงครามโลกที่รีโนเวตเป็นบูติกโฮเทลสไตล์อีสานอินเตอร์
การรีโนเวตบ้านไม้เก่ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นบูติกโฮเทล โดยรักษาฟาซาดเดิมไว้ แต่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและฟังก์ชันใหม่ เพื่อต่อลมหายใจให้อาคารยังคงแสดงเอกลักษณ์และบอกเล่าความเป็นมาในอดีตได้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SuperGreen Studio
วารินชำราบ ย่านเจริญในยุคสงคราม
‘วารินชำราบ’ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองอุบลราชธานี ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกทั้งที่นี่ยังเคยเป็นหนึ่งในพื้นที่ตั้งฐานทัพอากาศอุบล (Ubol Royal Thai Air Force Base) ระหว่าง พ.ศ. 2508–2517 ของหน่วยทหารสหรัฐสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้วารินชำราบในสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งเปรียบได้กับย่านเจริญกรุงในปัจจุบัน และด้วยความเจริญดังกล่าวก่อเกิดเป็นชุมชมที่มีสถาปัตยกรรมที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคืออาคารไม้ทรงแปดเหลี่ยมที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และกลายมาเป็นโรงแรมเวฬา วาริน ในปัจจุบัน ซึ่งเป็น บ้านไม้โบราณ ที่มีคุณค่า
‘โรงแรมเวฬา วาริน เป็นโครงการที่ตั้งใจออกแบบให้ไปไกลว่าคำว่าร่วมสมัย แต่ต้องการให้ที่นี่นั้น Timeless คือไม่จำเป็นต้องมารีโนเวตบ่อยครั้ง นอกจากนั้นเรายังใช้แสงและเงามาใช้มากกว่าเป็นการให้แสงธรรมชาติกับอาคาร แต่ตั้งใจใช้แสงและเงาสร้างความรู้สึกตามแนวความคิดในการออกแบบอย่าง ‘ทวิภพ’ ครับ’ คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการ
Before VELA WARIN
ก่อนจะกลายมาเป็นโรงแรมเวฬา วาริน อาคารแห่งนี้เคยเป็นอาคารที่ประกอบธุรกิจมาไม่น้อย ตั้งแต่โรงแรม หอพัก ร้านส้มตำไปจนถึงร้านขายยาดอง จนกระทั่ง คุณบี-อภิวัชร์ ศุภากร และภรรยา คุณแจน-นภัสวรรณ ศุภากร ได้รับอาคารแห่งนี้มาเป็นมรดก ประจวบเหมาะกับทางคุณแจนได้เข้าคอร์สเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทลกับทาง คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งเป็นสถาปนิกจาก SuperGreen Studio จึงได้เห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนมรดกให้กลับมาเป็นอาคารที่สร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับตัวสถาปัตยกรรมและชุมชมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
“ก่อนการรีโนเวตเราก็มีวิเคราะห์ในหลายๆ ด้าน แน่นอนว่านอกจากเรื่องการออกแบบแล้วเรื่องกลุ่มลูกค้าเราก็วิเคราะห์กันอย่างหนัก เนื่องจากพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ไม่ใกล้สนามบินหรือตัวเมือง ต้องข้ามแม่น้ำมา แต่ก็อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ทำให้สถานที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างน้อย แต่ข้อดีคือได้เรื่องของความเงียบสงบ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่ม Experienced traveler ที่ต้องการประสบการณ์การพักผ่อนในรูปแบบใหม่ที่มีอัตลักษณ์และเสน่ห์ของพื้นถิ่น และนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการครับ”คุณวรพันธุ์ กล่าว
‘ทวิภพ’ ที่เชื่อมกาลเวฬา
เนื่องจากตัวอาคารเดิมนั้นมีความสำคัญในอำเภอวารินชำราบ รวมถึงเป็นภาพจำความผูกพันของคนในพื้นที่ ในขั้นตอนออกแบบและก่อสร้างสถาปนิกจึงคำนึงถึงบริบทโดยรอบที่ตั้งอย่างละเอียด เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมของโรงแรมมีเอกลักษณ์แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้อย่างกลมกลืน โดยใช้เวลาออกแบบ 1 เดือน และก่อสร้างอีกประมาณ 1 ปี ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตร โรงแรมแห่งนี้จึงพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ห้องพักที่ตกแต่งไม่ซ้ำกันจำนวน 11 ห้อง บาร์ ห้องจัดเลี้ยง ห้องดื่มไวน์ ร้านอาหารและสวนสำหรับการพักผ่อน โดย 4-5 เดือนแรกนั้นเป็นการตรวจสอบและเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างเดิม รวมไปถึงเป็นระยะเวลาในการตกผลึกแนวความคิดในการออกแบบที่มีความตั้งใจให้บูติกโฮเทลภายใต้ความเป็น ‘อีสาน อินเตอร์’ ที่ฟังก์ชันสำหรับการพักผ่อนต้องครบถ้วนในมาตรฐานโรงแรม ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเสน่ห์และเซ็กซี่ในแบบอีสานแท้ๆ จนกระทั่งตกผลึกมาเป็นแนวความคิดในการออกแบบสุดยูนีคอย่าง ‘ทวิภพ’ ที่ตั้งใจสร้างภาษาของงานสถาปัตยกรรมเพื่อเชื่อมต่อมิติระหว่างสองด้านให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการอยู่ระหว่างกลางวันและกลางคืน อยู่ระหว่างอดีตและปัจจุบัน อยู่ระหว่างแสงและเงา และอยู่ระหว่างสถาปัตยกรรมภายในและภายนอก นั่นจึงทำให้บูติกโฮเทลแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับทุกคน ด้วยมีจุดประสงค์ต้องการจะสร้างประสบการณ์ในการพักผ่อนและมาเยือน บ้านไม้โบราณ แห่งนี้ที่มากกว่าที่พักแบบทั่วไป
“ช่วงแรกของการทำโฮเทลคือการจัดการโครงสร้างและแปลนครับ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่มีคอนเซ็ปต์การออกแบบ จนคืนหนึ่งได้เข้าไปที่โครงการแล้วมองออกไปนอกอาคารผ่านโครงสร้างและแผ่นไม้ฉลุเก่าเลยเกิดเป็นไอเดียว่า ‘ทวิภพ’ ที่หากเราอยู่ในโรงแรมจะเปรียบเสมือนโลกอีกใบหนึ่ง แต่หากมองผ่านช่องเปิดออกไปก็จะเป็นโลกปัจจุบัน ผมจึงใช้ไอเดียนี้ไปกับทุกองค์ประกอบ”
เสริมเหล็กเข้ากับโครงสร้างไม้อายุกว่า 80 ปี
แม้ว่าจะมีปลายทางของการรีโนเวตเป็นบูติกโฮเทลที่มีภาพชัดเจน แต่จุดเริ่มต้นนั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากอาคารเดิมมีอายุมากกว่า 80 ปี โครงสร้างที่สามารถใช้ได้นั้นมีน้อยมาก เนื่องจากโครงสร้างเดิมของอาคารทำจากไม้ โดยมีเสาไม้เดิม 4 ต้นที่สูงจรดหลังคาที่ตั้งใจเก็บไว้ จึงต้องเพิ่มโครงสร้างเหล็กเพื่อความแข็งแรง สถาปนิกจึงเริ่มจากการคำนวณโครงสร้างสำหรับการรับน้ำหนักเพื่อสร้างความปลอดภัยในอนาคตเป็นอันดับแรก ด้วยการนำเหล็ก I-beam เข้ามาเสริมกับเสาและโครงสร้างเดิมของหลังคา โดยการประกอบเหล็กทั้งหมดนั้นถือเป็นงานฝีมือจากช่างท้องถิ่นที่ต้องประกอบทีละชิ้น นอกจากนั้นการจะเก็บเปลือกอาคารเดิมเอาไว้เพื่อการอนุรักษ์จึงต้องใช้เครนยกเหล็กเข้ามาในอาคารทางด้านบน เพื่อไม่ให้กระทบกับผนังอาคารภายนอก ทำให้การรีโนเวตต้องออกแบบและปรับแก้แบบหน้างานตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องไปตรวจดูหน้างานอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องของความเก่าของอาคารนั่นเอง
ความอ้อยอิ่งที่มากับแสงและเงา
สำหรับการตกแต่งภายในอาคารสถาปนิกได้ปรับระดับความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานในแต่ละชั้นด้วยการใช้โครงสร้างใหม่ เพื่อให้ภายในแต่ละชั้นรู้สึกโปร่งโล่งและน่าพักผ่อน เนื่องจากทางสถาปนิกต้องการให้บรรยากาศภายในนั้นอ่อนหวาน แต่แฝงความเศร้าที่ผสมความอ้อยอิ่งอยู่ในห้วงอารมณ์เอาไว้ด้วยการใช้แสงและเงา โดยจงใจเลือกให้เงาไปตกกระทบเฟอร์นิเจอร์และเหลี่ยมมุมของอาคารที่ช่วยขับเน้นความน่าค้นหาให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเลือกใช้ธีมสีโทนสีขาวครีมละมุนตาผสานเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ไม้และของตกแต่งที่เป็นงานหัตถกรรมพื้นเมืองของอีสาน โดยสถาปนิกได้เลือกสรรเองทุกชิ้นเพื่อให้ทุกองค์ประกอบได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์
“อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยคิดจากภายในออกไปภายนอกเป็นหลัก เพราะด้านนอกเราคงฟาซาด (facade) หรือเปลือกอาคาร เดิมไว้จึงไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนงานระบบต่างๆ ผมซ่อนเอาไว้เหมือนการออกแบบอาคารสมัยใหม่ ที่นี่ก็คืออาคารเก่าที่มีอาคารใหม่อยู่ข้างใน”
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : SuperGreen Studio, Vela Warin