บ้าน Neoclassical หลังนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบรับการใช้งานคนสามวัย ให้ทุกๆคนได้มีพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ส่วนรวมที่พอดิบพอดี องค์ประกอบแบบ Neoclassical สร้างให้บ้านแลดูเหมือนงานศิลปะ ในขณะที่แฝงไว้ด้วยความชอบในไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน และพื้นที่งานอดิเรกที่บอกเลยว่าจริงจัง
สถาปนิก: INCHAN ATELIER โดยคุณอินทนนท์ จันทร์ทิพย์
เจ้าของ: คุณพล – คุณอภิญญา ศรีพงศ์เพา
บ้านที่จะเป็นพื้นที่ของทุกๆคน
บ้าน Neoclassical หลังนี้เป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่บนที่ดินเดิมด้วยความที่บ้านเดิมนั้นเริ่มมีการทรุดตัว ประกอบกับการที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรค์มาก่อน การจะหาแบบแปลนของบ้านเพื่อทำการรีโนเวทจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และด้วยความต้องการที่เปลี่ยนไป คุณต้อง และคุณเชอร์รี่ (คุณพล – คุณอภิญญา ศรีพงศ์เพา) จึงตัดสินใจทุบบ้านหลังเดิมทิ้งและสร้างใหม่ขึ้นมาตั้งแต่ต้นแทน
เมื่อเป็นบ้านที่เริ่มต้นจากหนึ่งใหม่แล้ว สิ่งแรกที่ถูกตั้งเป็นโจทย์จึงเป็นเรื่องของการใช้งาน บ้านหลังนี้ตั้งใจให้สามารถเป็นที่รวมญาติๆ พ่อแม่ พี่น้อง และเด็กๆได้ในทุกเทศกาล(หรือไม่ใช่เทศกาลก็ตาม) เพราะการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้อง และคุณเชอร์รี่ให้ความสำคัญ การออกแบบพื้นที่ที่สามารถรองรับจำนวนสมาชิกที่มากไปกว่าครอบครัวของคุณต้องเองจึงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาคิด ภายในบ้านหลังนี้นั้นจะต้องมีพื้นที่ที่ทุกๆคนจะได้ใช้เวลาร่วมกัน และในขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวให้ทุกๆคนสามารถอยู่กับสิ่งที่ชอบของตัวเองได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการวางผังและแบ่งพื้นที่ในแต่ละชั้นของบ้านหลังนี้
อย่างที่สองคือความชื่นชอบในศิลปะ และแฟชั่นของคุณต้องและคุณเชอร์รี่ เมื่อจะเริ่มทำบ้านหลังใหม่ รูปแบบของบ้านจึงต้องตอบโจทย์และตอบใจของเจ้าของบ้านด้วยนั่นเอง ซึ่งในที่สุดก็กลายออกมาเป็นสไตล์ Neoclassical ที่เจือกลิ่นอาย Modern และแฝงอารมณ์ Street Art เอาไว้อย่างลงตัว
อยู่อาศัยในศิลปะที่ชื่นชอบ
“มันเริ่มมาจากรูปแบบที่นำเสนอโดยยึดโยงมาจากบ้านเดิมที่เป็น Roman-Classical แต่ก็เหมือนจะยังไม่ถูกใจเจ้าของบ้าน ซึ่งก็ทำให้เราต้องกลับไปศึกษารูปแบบเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อพัฒนาแบบ จากงานของ David chipperfield ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา เราค้นย้อนกลับไปถึงที่มาและค้นพบการตกตระกอนในรูปแบบของ Neoclassical ที่น่าสนใจ พอนำมาเสนอให้คุณต้องกับเชอร์รี่ดู ก็เริ่มพัฒนาใส่ความเป็น Modern กับสไตล์ที่เค้าชอบลงไป พื้นที่นิ่งสงบดูเป็นศิลปะแต่ก็ไม่เยิ้นเย้อแบบ Classical จึงลงตัวกับการที่เขาทั้งสองคนจะใส่ของสะสมลงไปในพื้นที่แล้วจึงออกมาเป็นบ้านหลังนี้ในที่สุด” คุณนนท์ อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ สถาปนิกของบ้านหลังนี้เล่าให้เราฟังถึงที่มา
“เราเปรียบบ้านหลังนี้เหมือนงานศิลปะที่อาศัยอยู่ได้ครับ” คุณต้องบอกกับเรา “เราไม่อยากได้บ้านที่เป็นแค่ห้องเรียบๆ อยากให้มันมีสัดส่วน มีองค์ประกอบทางศิลป์แทรกอยู่ทั้งในเชิงกายภาพ และในการวางผังเช่นกัน” ซึ่งในผังของบ้านหลังนี้นั้นก็มีความพิเศษเช่นเดียวกัน
ห้องของทุกคนตามอัธยาศัย
คุณต้องตั้งใจให้ทุกๆคนได้ปลดปล่อยความชอบอย่างเต็มที่ในทุกๆพื้นที่ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกๆคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ด้วยกัน ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความสนใจต่อกันในครอบครัวอีกด้วย ของสะสมและแนวทางการตกแต่งนั้น แม้จะดูต่างกันไปบ้างทั้งลูกชายและตัวคุณต้อง แต่ก็ลงตัวกลมกลืนไปกับรูปแบบของตัวบ้านที่ทำหน้าที่เป็นผืนผ้าใบได้อย่างดี
มากกว่างานอดิเรกแต่คือความผูกพันธ์
และพื้นที่ที่พิเศษสุดของบ้านหลังนี้คือพื้นที่ “งานอดิเรก” และ “Playroom” ที่อยู่ที่ชั้นใต้ดิน คุณต้องตั้งใจสร้างพื้นที่นี้สำหรับให้ทุกๆคนได้มีเวลาที่ดีร่วมกัน ได้ผลัดกัน “เล่น” ในแบบที่ตนชื่นชอบ ลูกๆอาจชวนคุณต้องแจมดนตรีและดวลตู้เกม ในขณะที่คุณต้องก็ชวนลูกฟังเพลงจากตู้เพลงสุดคลาสสิคที่ด้วยวัยแล้วก็อาจจะไม่ทันได้สัมผัสหากไม่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเช่นนี้ นอกจากนี้พื้นที่ส่วนนี้คือการจับเอาของสะสมมาเรียบเรียงให้เห็นคุณค่ามากกว่าแค่เก็บไว้เฉยๆ การได้แลกเปลี่ยนความชอบกันเช่นนี้จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ของครอบครัวได้อย่างดี
มากกว่านั้น การที่ห้องเล่นทั้งหมดมาอยู่ที่ชั้นใต้ดินก็เพื่อให้ชั้นบนนั้นยังคงรูปแบบภูมิฐานสวยสง่าอย่าง Neoclassical และไม่ทำให้เกิดเสียงรบกวนไปยังผู้ใหญ่ท่านอื่นในบ้าน รวมทั้งแยกพื้นที่ส่วนตัวออกไปยังชั้นบนอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย
และนี่ก็คือบ้านที่แปลงความชอบให้กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบ Neoclassical ที่ถูกตีความให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้นได้อย่างน่าสนใจอีกหลังหนึ่ง
เรื่อง: Wuthikorn Sut
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์: ธริศราย์ จันทร์ทิพย์