วิธีเลือกซื้อบ้าน โครงการจัดสรร อย่างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ การเรียนรู้พิจารณาแบบบ้านนั้นมีประโยชน์ทั้งในการเลือกแบบบ้านโครงการหมู่บ้านจัดสรรและการเลือกบ้านมือสอง แนวทางหลักๆ ในการพิจารณาแบบบ้านมีรายละเอียดดังนี้
วิธีเลือกซื้อบ้าน ต้องดูขนาดพื้นที่ใช้สอย
ก่อนจะซื้อบ้านสักหลัง เรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึงขนาดของบ้านที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง คนไทยจะพูดถึงขนาดบ้านโดยเริ่มจากจำนวนห้องนอนก่อนเสมอ ดังนั้นให้คิดว่าต้องการห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง มีห้องน้ำที่เข้าได้จากทุกห้องนอนหรือไม่ ที่จอดรถยนต์จำนวนกี่คัน ต้องการห้องทำงานแยกจากห้องอื่นๆหรือไม่ เป็นต้น
จากนั้นพิจารณาห้องส่วนกลาง เช่น ต้องมีห้องนั่งเล่นที่แยกออกจากห้องรับแขกหรือไม่ ต้องมีห้องรับประทานอาหารแยกเป็นสัดส่วนหรือไม่ ควรคิดไกลไปถึงการวางแผนชีวิตในอนาคตด้วยว่า ต้องการพื้นที่สำหรับการขยายครอบครัวหรือไม่ เช่นวางแผนที่จะมีลูกกี่คน
พื้นที่อื่นที่ไม่ควรลืมคือ พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว สำหรับผู้ที่ชอบปลูกต้นไม้น่าจะต้องการบ้านมีบริเวณและสวนขนาดใหญ่ ถ้าไม่ชอบทำสวน พื้นที่บริเวณภายนอกบ้านก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จำนวนห้องและพื้นที่ใช้สอยที่เรากำหนดไว้ข้างต้นนั้นจะไปสัมพันธ์กับขนาดที่ดิน ตัวบ้านใหญ่ย่อมต้องการที่ดินใหญ่ตามไปด้วย หลังจากกำหนดจำนวนห้องได้แล้วจึงจะพิจารณาแบบแปลนของบ้านต่อไป
ทิศทางการวางตัวบ้าน
การเลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในประเทศไทยจะขึ้นทางทิศตะวันออกและมักอ้อมไปทางทิศใต้ ก่อนไปตกในทิศตะวันตก ฉะนั้นทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นทิศที่จะร้อนมากในเวลากลางวัน ทิศตะวันออกรับแสงแดดช่วงเช้าซึ่งมีความร้อนน้อยกว่าและมีช่วงเวลาสั้นกว่า ส่วนทิศเหนือได้รับแสงแดดน้อยที่สุด การกำหนดตำแหน่งของห้องจึงควรดูทิศทางที่เหมาะสม เช่น ห้องนอนไม่ควรอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เพราะเป็นห้องที่ใช้งานในช่วงเย็นและกลางคืน เมื่อผนังห้องถูกแสงแดดส่องตั้งแต่บ่ายไปจนถึงเย็น ความร้อนจะยังสะสมอยู่ในห้อง กว่าอากาศในห้องจะเย็นลงต้องใช้เวลานาน ห้องที่น่าจะพอวางไว้ด้านทิศใต้หรือทิศตะวันตกน่าจะเป็น ห้องน้ำ ห้องเก็บของ ห้องครัว หรือที่จอดรถยนต์ เป็นต้น
สำหรับเรื่องลมธรรมชาตินั้นในบ้านเรามีลมประจำอยู่สองทิศทาง คือ ลมมรสุมกลางปี ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ลมนี้จะพัดจากทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนอีกทิศทางคือลมมรสุมปลายปีและต้นปี อยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ลมนี้จะพัดจากทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ลมประจำส่วนใหญ่นั้นพัดจากทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลัก ทิศที่ลมพัดมาถี่มากที่สุดคือทิศใต้ ดังนั้นผนังด้านทิศใต้และทิศเหนือควรมีช่องเปิดระบายอากาศที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ลมธรรมชาติพัดผ่านได้โดยสะดวก
ประหยัดพลังงาน
บ้านที่ดีควรอยู่ได้สบายโดยใช้พลังงานอย่างประหยัด เนื่องจากนับวันราคาพลังงานจะสูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการพิจารณาเรื่องการประหยัดพลังงานนั้นเริ่มตั้งแต่ประเภทของหลอดไฟฟ้าที่ใช้ ควรเป็นหลอดประหยัดไฟ เช่น หลอดตะเกียบ ฟลูออเรสเซนต์ ไม่ควรใช้หลอดไส้หรือหลอดแฮโลเจน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านควรเป็นแบบประหยัดพลังงาน เช่น เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น มีการป้องกันความร้อนทั้งหลังคาโดยติดตั้งฉนวนกันความร้อนอย่างเหมาะสม ที่นิยมคือ การติดตั้งแผ่นความร้อนที่ใต้กระเบื้องหลังคาหรือการวางฉนวนใยแก้วความหนาอย่างน้อย 3 นิ้วที่ใต้หลังคาหรือวางเหนือฝ้าเพดาน ป้องกันความร้อนให้ผนังที่ได้รับแสงแดดมากด้วยการก่อผนังหนา ไม่มีช่องประตูหน้าต่างมากนักทางด้านทิศตะวันตก หลังคาควรมีชายคายื่นยาวมากในทิศตะวันตกและทิศใต้
ดูแลรักษาง่าย
บ้านที่ดีต้องดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ไม่มีซอกหรือมีมุมมากเกินไป ไม่มีปัญหาความชื้น ไม่มีรอยรั่วซึมหรือรอยน้ำท่วม และบ้านไม่ควรใหญ่เกินไปจนดูแลไม่ไหวโดยเฉพาะถ้าเป็นครอบครัวขนาดเล็กหากเลือกบ้านที่มีขนาดใหญ่มากจะมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษา
ระบบรองรับการใช้งาน
เริ่มจากระบบไฟฟ้า แสงสว่างต้องเพียงพอกับการใช้งาน มีปลั๊กไฟฟ้าในจำนวนและจุดที่เหมาะสม ได้เตรียมจุดต่อไฟฟ้าสำหรับการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อนหรือเครื่องปรับอากาศไว้ล่วงหน้าในจำนวนและตำแหน่งที่เหมาะสม กำหนดพื้นที่วางคอนเดนซิ่งหรือที่เรียกกันว่าคอมเพรสเซอร์ของระบบปรับอากาศที่สามารถเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษาได้โดยสะดวกแต่ยังคงความสวยงามของบ้านไว้ด้วย
องค์ประกอบของบ้าน
- ระดับของพื้นบ้านชั้นล่าง ให้ยกสูงกว่าดินถมรอบบ้านประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นระดับที่เหมาะสม เพราะยกตัวบ้านหนีน้ำท่วมของที่ดินรอบข้างได้พอสมควรโดยมีขั้นบันไดเดินขึ้นบ้านไม่มากจนเกินไป
- ระดับของฝ้าเพดานในห้อง สำหรับบ้านขนาดกลางทั่วไปควรสูงอย่างน้อย 2.60 เมตรแต่ถ้าฝ้าเพดานสูงกว่านี้ได้จะยิ่งดี เพื่อให้เกิดความโปร่งสบายมากขึ้น โดยเฉพาะห้องที่มีขนาดใหญ่กว่าควรมีความสูงของฝ้าเพดานมากกว่าปกติ
- ลูกตั้งของขั้นบันได ไม่ควรสูงเกิน 18 เซนติเมตรถ้ามีผู้สูงอายุอาศัยในบ้านด้วยแนะนำให้ใช้ที่ 15 เซนติเมตร ลูกนอนบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรและถ้าทำลูกนอนกว้างได้ถึง 28 เซนติเมตรจะทำให้เดินได้สบายกว่า ความกว้างสุทธิของบันไดไม่ควรน้อยกว่า 120 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปบันไดควรกว้าง 150 เซนติเมตรขึ้นไปเพื่อขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่ได้สะดวก
- ความกว้างของประตู (โดยวัดที่บานประตูนั้น) ประตูหน้าบ้านควรเป็นบานคู่ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวควรมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ประตูออกภายนอกบ้านบานอื่นๆ ควรมีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ประตูห้องภายในบ้านควรกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร และประตูห้องน้ำต้องกว้างไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร เป็นต้น
- สวิตไฟฟ้าแสงสว่าง ต้องสูงประมาณ 120 เซนติเมตรจากระดับพื้น ระดับของปลั๊กไฟฟ้าขึ้นกับการใช้งาน โดยพิจารณาจากตำแหน่งและระดับของเฟอร์นิเจอร์ แต่แนะนำว่าควรอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 15 เซนติเมตรและควรสูงจากระดับท็อปของตู้ข้างหรือโต๊ะติดผนัง 15 เซนติเมตรเช่นกัน เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวก
- การติดตั้งสุขภัณฑ์ ให้เทียบความสูงกับตัวเจ้าของห้องหรือคนใช้งานในบ้านเป็นหลัก ระเบียงควรกว้างอย่างน้อย 60 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง ถ้าเป็นระเบียงที่ยาวกว่า 3 เมตรกว้างอย่างน้อย 100 เซนติเมตร
สำนักพิมพ์บ้านและสวน : ซื้อบ้านได้ถูกใจ
เขียน : วิญญู วานิชศิริโรจน์
ราคา : 179 บาท
สั่งซื้อที่ : https://www.naiin.com/product/detail/81365/