ถ้าบ้านหลังนี้เปรียบเหมือนผืนผ้าใบ ก็ต้องถือว่าเป็นรูปภาพที่มีสีสันสดใสสะดุดตา ครูปาน-สมนึก คลังนอก ศิลปินนักวาดภาพ ที่ถ่ายทอดผลงานออกมาในรูปแบบต่างๆ ใจดีเปิด สตูดิโอวาดรูป ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ลับเฉพาะที่ไม่ให้คนนอกเข้าไป ไปดูกันว่าพื้นที่ทำงานของ ครูปาน จะสวยงาม และ น่าตื่นเต้นขนาดไหน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสมาเที่ยวบ้านครูปาน ไม่ว่าจะมากี่ครั้ง ครูปานก็สามารถจัดบ้านได้สวยงามน่าตื่นเต้นเสมอ รวมไปถึง สตูดิโอวาดรูป ที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสได้เข้าไป “ทุกมุมในบ้านครูปานเป็นคนจัดเอง แต่ตอนที่ทุกคนรวมตัวกันทั้งหมด 12 คน ต้องอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 เราก็ย้ายของออก แล้วซื้อโต๊ะปิงปองมากางกันตรงนี้” คำว่า “ตรงนี้” ที่ครูปานพูดถึงคือบริเวณ ห้องนั่งเล่น กลางคอนโด แค่นึกภาพตามก็ได้ยินเสียงเฮฮาดังมาแต่ไกล “บ้านนี้มีคนอยู่เยอะ จึงต้องมีมุมแยกกันไปตามแต่ใครจะอยากนั่ง ห้องนี้เป็นเหมือนห้องกลาง ที่ทุกคนในบ้านจะมานั่งเล่นกัน ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปคนละมุม”
คอนโดมิเนียมขนาดกลางเปิดพื้นที่โล่งต่อเนื่องกัน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไว้เป็นชุดตามมุมต่างๆของห้อง เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันไป “การจัดบ้านควรเป็นอะไรที่เรา “รู้สึก” ไปกับมัน ไม่ควรไปตั้งว่าชั้นจะจัดเป็นมินิมอล หรือ สไตล์ไหน จัดให้เราอยู่ได้จริงดีกว่า แต่บ่อยครั้งที่เห็นอะไรสวยก็ซื้อมาก่อนแล้วค่อยมาหามุม ของที่ซื้อมาไม่ได้มีอะไรที่แพงมากมาย อยู่ที่การผสมผสานเอาของที่เรามีอยู่แล้วมาจัด หรือแม้แต่ตุ๊กตาที่ซื้อเพราะความน่ารัก นอกจากเอามาเล่นแล้ว ก็ยังมองว่าเป็นของแต่งบ้านได้อีกด้วย”
สตูดิโอวาดรูปลับของครูปาน
ห้องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เคยเป็นห้องออกกำลังกายของตึก ที่ถูกปล่อยไว้จนโทรม จนวันที่ครูปานเช่าพื้นที่ต่อ โดยตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บของ แต่เมื่อมองเห็นช่องหน้าต่างยาวที่เปิดรับแสงตลอดแนว จึงเกิดไอเดียที่จะปรับเปลี่ยนห้องนี้เป็นสตูดิโอแบบส่วนตัว โครงสร้างเดิมยังแข็งแรงดีอยู่ เพียงปิดผนังฝั่งด้านในตึกเพื่อความเป็นส่วนตัว ทาสีภายในห้องใหม่โดยเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งหมด
ภายในห้องแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วน ด้านหน้าเป็นเหมือนมุมพักผ่อน ในบรรยากาศสบายๆ ต้อนรับเราด้วยเฟินสไบนาง ที่ห้อยระย้าเติมความสดชื่นให้เราตั้งแต่แต่ก้าวแรก มีทั้งโซฟาตัวใหญ่ พรมลายสวย มุมเก้าอี้หวายพร้อมสตูลสีเหลืองสดใสวางเด่นอยู่ตรงหน้า พญาไร้ใบกอยักษ์ และ ไม้กระถางอีกหลายต้น ปรับภาพความรู้สึกของห้องนี้ให้แตกต่างจากภายนอกได้อย่างสิ้นเชิง ช่วงกลางห้องเป็นพื้นที่วาดรูป มีโต๊ะไม้ตัวใหญ่ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยอุปกรณ์วาดภาพทั้งแปรงสี พู่กัน และ รูปวาดบนเฟรมผ้าใบที่วางเรียงรายอีกหลายสิบรูป ที่รอการเก็บรายละเอียดให้เสร็จสมบูรณ์ ด้านในสุดเป็นมุมเก็บภาพวาดที่เสร็จสมบูรณ์รอเจ้าของมารับกลับ ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ “องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำสตูดิโอวาดรูปคือ “แสง” แสงต้องเหมือนกันทั้งวัน มีต้นไม้ มีเสียงดนตรีเบาๆ จุดเทียน เพียงเท่านี้ก็วาดรูปได้ทั้งวัน”
แรงบันดาลใจของผลงาน
“ไอเดียส่วนมากมาจากอ่านหนังสือ เห็นคนเดินไปเดินมา บางทีไปเห็นตึกเก่าๆ ชอบสีจังเลย เอามาทำเป็นแบคกราว หรือบางทีก็เอามาใส่ในเสื้อผ้า ในชุด เรามองเห็นความเป็นแฟชั่นในนั้น แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่ และ ครูปานก็ทำงานได้ทุกที่ ทุกขนาด กระดาษทิชชู่ก็ยังได้ บางทีคิดอะไรออกต้องรีบเขียนออกมา ก่อนที่จะลืม เคยไปนิวยอร์ค ตั้งใจว่าจะไม่วาดรูป จะไปหาแรงบันดาลใจ จะไปพักผ่อน อยู่ไปสามสี่วัน ทนไม่ไหว พุ่งตัวไปร้านขายเครื่องเขียนตอนสี่ทุ่ม แล้วกวาดอุปกรณ์กลับมาวาดรูปต่อจนเกือบเข้า ทุกวันนี้ยังวาดรูปทุกวันเหมือนเดิม ไม่เคยมีวันไหนไม่อยากวาดรูปเลย”
เจ้าของ – ออกแบบ : ครูปาน – สมนึก คลังนอก
เรื่อง : jOhe
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
บ้านสตูดิโอ ที่มีส่วนผสมของความเก่า ความใหม่ และสีสันสดใส
บ้านชั้นเดียวกึ่งสตูดิโอขนาดกะทัดรัด ล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่และลานสนามหญ้า
STUDIOK บ้านกึ่งสตูดิโอริมแม่น้ำปิงของศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย “นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล”