บ้านไม้ผสมปูน ที่มีช่องเปิดรับลมธรรมชาติทุกฤดูกาล

บ้านไม้ผสมปูน หลังนี้ได้รับ ‘รางวัลสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การเผยแพร่’ ของกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสิ่งยืนยันว่าบ้านหลังนี้ไม่เพียงแต่สวยงามด้วยรูปลักษณ์ แต่ยังหมายถึงวิธีคิดและเรื่องราวที่สวยงามด้วย

เจ้าของ-ออกแบบตกแต่ง : คุณกวิน ว่องวิกย์การและคุณวิยะดา เจริญศุข ว่องวิกย์การ

thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
เข้าใกล้ตัวบ้านอีกนิดจะพบความโปร่งและสัดส่วนที่สวยงามของ บ้านไม้ผสมปูน ที่มีการใช้เสากลมทั้งที่เป็นปูนและไม้ หรือบางเสาเป็นทั้งสองอย่าง โดยเลื่อนผนังให้อยู่คนละแนวกับเสา ทำให้บ้านดูเบา สบาย ไม่หนักทึบ

บ้านหลังนี้เกิดจากการตัดกันของเส้นทางชีวิตของคนสองคน ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือฟ้าเป็นคนเขียนบท คุณกวิน ว่องวิกย์การ และ คุณวิยะดา เจริญศุข ว่องวิกย์การ ก็ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันมานานกว่า 7 ปีแล้ว มีบางสิ่งเชื่อมโยงให้ทั้งคู่พบกันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหน้าที่ของการเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วผมก็ต้องแปลกใจเมื่อทราบว่าทั้งคู่ไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่พอได้มาอยู่และทำงานที่นี่ ต่างก็หลงรักเสน่ห์ของเมืองแห่งนี้เข้าอย่างจัง

thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
เพียงวางชุดเก้าอี้และตู้เก็บของไม้เล็กๆริมผนังเรียบทางเข้าบ้าน ก็ทำให้บริเวณนี้เป็นที่นั่งเล่นพร้อมรับแขกได้อย่างสบายๆ
thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
เมื่อเข้ามาในตัวบ้านจะพบโถงกลางที่ยาวไปถึงหลังบ้าน เป็นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ และยังเป็นทางที่ลมจากภายนอกจะพัดผ่านมาสู่ส่วนต่างๆของบ้าน บนผนังคอนกรีตผิวเรียบแขวนภาพจากปลายพู่กันของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อนสนิทของคุณพ่อคุณวิยะดา

ตอนนี้คุณวิยะดาลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นสถาปนิกที่บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด สาขาเชียงใหม่ ส่วนคุณกวินยังคงสอนหนังสืออยู่ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะมาลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ คงเป็นเพราะเจอช่วงเวลาที่พอดี เจอคนและสถานที่ที่พอดี เลยเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้น ซึ่งคุณพ่อของคุณกวินมีที่ดินตรงนี้อยู่แล้ว ประจวบกับมีคนรู้จักกำลังจะขายบ้านไม้เก่า เราไปเห็นเข้าก็สนใจ จึงขอซื้อมาทำเป็นโครงสร้างไม้ของบ้านชั้นบน สภาพไม้ยังดีอยู่ แค่นำมาทาสีเคลือบและปรับช่วงเสานิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว”

หลังจากแต่งงานมาประมาณ 3 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจสร้าง บ้านไม้ผสมปูน หลังนี้ด้วยแนวคิดที่อยากให้เป็นบ้านที่อยู่สบาย ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา และสามารถคุมงบประมาณการก่อสร้างได้ พื้นที่ใช้สอยถูกกลั่นกรองจนเหลือแต่พื้นที่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ

thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
การยื่นชายคามากกว่าปกติจำเป็นต้องมีการเพิ่มส่วนโครงสร้างรับน้ำหนักหลังคา ผู้ออกแบบจึงใช้โครงสร้างตงพื้นยื่นออกมา ตั้งไม้ค้ำยันขึ้นไปรับหลังคาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวบ้านยกสูงจากพื้นประมาณ 1.20 เมตร เพื่อป้องกันความชื้นจากพื้นดิน และทำเป็นส่วนซ่อนงานระบบต่างๆ เช่น ที่เดินท่อน้ำ ท่อไฟฟ้าต่างๆ และยังใช้วางเครื่องคอมเพรสเซอร์ เวลาจะซ่อมบำรุงก็สามารถลอดเข้าไปทำงานได้ เพราะเว้นความสูงไว้มากพอที่คนจะเข้าไปได้
thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
ห้องนั่งเล่นที่เชื่อมกับส่วนรับประทานอาหารเป็นส่วนเดียวกัน ตกแต่งด้วยของน้อยชิ้นตามการใช้งานจริง เฟอร์นิเจอร์สั่งทำขนาดพิเศษ เพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะกับพื้นที่
thaitropical บ้านไม้ผสมปูน ห้องครัว
ครัวจัดวางและตกแต่งแบบเรียบง่าย เน้นโทนสีขาวของเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก เคาน์เตอร์หินขัดสีขาวดูสะอาดตาและทำให้ห้องดูกว้าง ส่วนพื้นก็เป็นหินขัดเช่นกัน แต่ผสมสีดำลงไปเพื่อไม่ให้ห้องขาวโพลนเกินไปและเพื่อการดูแลรักษาที่ง่าย

ชั้นล่างประกอบด้วยชานไม้ขนาดใหญ่ ต่อเนื่องไปเป็นส่วนโถงทางเข้า ห้องอเนกประสงค์ พร้อมด้วยห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอนเล็กเผื่อไว้สำหรับแขกและญาติมิตร บริเวณโถงบันไดมีประตูทางออกสู่ชานหลังบ้านเล็กๆ ใช้เป็นพื้นที่ซักล้างและส่วนบริการได้อย่างลงตัว ชั้นบนประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง พร้อมห้องน้ำในตัว ห้องทำงาน และที่ขาดไม่ได้คือชานทั้งด้านหน้าและหลังของบ้าน

“บางวันเราใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆตรงชานนี้มากกว่าภายในบ้านเสียอีก ยิ่งช่วงหน้าหนาวก็มีลมเย็นสบายพัดมาตลอด ไม่ว่าจะนั่งทำงาน นั่งเล่น พูดคุยกันในครอบครัว หรือแม้แต่รับแขก จนบางครั้งคิดกันว่าเราน่าจะทำชานให้ใหญ่กว่านี้นะ“ (หัวเราะ)

thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
หลังคาเพิงหมาแหงนที่วางเหลื่อมกัน ทำให้เกิดช่องว่างเปิดรับแสงสว่างให้โถงบันไดภายในบ้าน ผนังริมโถงบันไดทำเป็นชั้นวางของที่ลึกเพียง 25 เซนติเมตร วางของใช้เล็กๆน้อยๆได้โดยไม่ต้องเปลืองพื้นที่ของบ้าน
thaitropical บ้านไม้ผสมปูน
บรรยากาศห้องทำงานที่เน้นความเป็นส่วนตัวและสงบ ใช้ตู้เก็บเอกสารมาทำเป็นขาโต๊ะทำงาน ด้านบนทำเป็นชั้นลอยไว้เก็บของ เป็นการใช้พื้นที่ใต้หลังคาอย่างคุ้มค่า

ตัวบ้านถูกแบ่งด้วยโถงบันไดกลางบ้าน โถงบันไดที่เหมือนไม่มีตัวตนชัดเจนนัก ทว่าเจ้าของบ้านบอกกับเราว่าโถงนี้มีความสำคัญมาก ในวันที่อากาศดีๆ เพียงแค่เปิดประตูด้านหน้าและด้านหลังของโถงบันไดทั้งสองชั้น ก็จะมีลมไหลเวียนผ่านทางโถงนี้ตลอดเวลา ทำให้บ้านไม่ร้อนและระบายความชื้นของส่วนครัวและห้องน้ำได้เป็นอย่างดี

บ้านไม้ผสมปูน

พื้นทั้งภายในและภายนอกเป็นไม้จริง ผนังทำเป็นปูนผิวขัดมัน ไม้กับปูนเปลือยนอกจากเป็นความชอบส่วนตัวของทั้งคู่แล้ว ในแง่ของการใช้งาน วัสดุเหล่านี้ก็ดูแลรักษาง่ายและทนทานกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ส่วนสไตล์หรือรูปแบบของสถาปัตยกรรม เจ้าของบ้านไม่ได้จำกัดรูปแบบของบ้าน เพราะทั้งคู่เชื่อว่าสไตล์ไม่สามารถทำให้บ้านนั้นเป็นบ้านที่อยู่สบาย หากแต่เป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มคุณค่าของอาคารนั้นๆไว้

ห้องนอน บ้านไม้
ห้องนอนของคุณแม่คุณวิยะดา ตกแต่งแบบเรียบๆ สีไม้ คอนกรีต และผนังขาว ทำให้ห้องดูอบอุ่นแบบดิบๆ
ห้องนอน บ้านไม้
หีบเก็บของไม้เก่า นำมาทำเป็นที่เก็บของและโต๊ะหัวเตียง ดูลงตัวทั้งหน้าตาและการใช้งาน

“ตอนที่ออกแบบก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะต้องมีกลิ่นอายล้านนาหรืออะไร คิดเพียงว่าทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในบ้านสามารถอยู่กับพื้นที่ทุกส่วนในบ้านอย่างเหมาะสมและมีความสุขที่สุด กล่าวคือไม่รู้สึกอึดอัด ไม่รู้สึกว่าอยากออกจากบ้านเพื่อหาพื้นที่ที่สบายกว่า แต่สร้างเสร็จแล้วตรงกับสไตล์ไหน ก็คงแล้วแต่ใครจะกำหนด เช่น อยากให้บ้านไม่ร้อน ไม่โดนแดด เราก็ยื่นชายคาให้บังแดดเยอะๆ หากไปตรงกับรูปลักษณ์ของบ้านล้านนาซึ่งมีหลังคายื่นคลุมเยอะกว่าปกติ ก็เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเราคิดว่าบ้านหรืออาคารที่ดีไม่จำเป็นต้องมีสไตล์ก็ได้

“มีการปรับแบบอยู่หลายครั้ง เพราะด้วยความคิดที่ต่างกัน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันและคิดถึงผลลัพธ์ที่จะได้รับเป็นหลัก แต่สุดท้ายเมื่อสร้างบ้านเสร็จ ก็พอใจและดีใจกันทั้งคู่ เพราะบ้านหลังนี้เกิดจากการร่วมกันออกแบบของเราสองคน”

ระเบียงไม้
ชานชั้นสองติดกับห้องนอนคุณแม่ แม้แต่ตรงราวกันตกก็ทำเป็นที่นั่ง เป็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านในชั้นที่สอง
ที่แขวนจักรยาน บ้านไม้ผสมปูน
หากใครมีจักรยานแต่ไม่รู้จะเก็บที่ไหน ลองใช้โครงสร้างตงไม้ของบ้านที่ยื่นออกมา แล้วทำเป็นที่แขวนจักรยาน ก็ดูเก๋ไปอีกแบบ

เรื่อง : คุณลมัด

ภาพ : สังวาล พระเทพ


ข้อแตกต่างระหว่าง “บ้านไม้” กับ “บ้านปูน”

บ้านไม้ใต้ถุนสูง ที่ลมโกรกตลอดปี