รีโนเวตบ้าน ทุกคนย่อมผูกพันกับบ้านที่อยู่อาศัยกันมา แต่เราก็ไม่อาจฝืนกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงไปได้ กาลเวลาที่ล่วงเลยอาจทำให้บ้านทรุดโทรมลงไป แนวทางการตกแต่งที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าสวยก็อาจดูล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ หรือแแม้แต่ผู้ที่ซื้อบ้านมือสองเองก็ตาม
เราสามารถปรับเปลี่ยนบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ขึ้นได้ ลองมาดูไอเดียจาก 5 รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่ เป๊ะ ปังจริงๆ รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
1. บ้านหลังเล็ก เรียบง่ายในความรู้สึก แต่ดูดีทุกมุมมอง
- เจ้าของ-ออกแบบ : คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล และคุณวิไลลักษณ์ กุลศักดิ์นันท์
บ้านหลังนี้เป็นบ้านจัดสรรเก่าอายุกว่า 20 ปี ขนาด 78 ตารางวา ภายในประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่ บ้านหลัก ห้องทำงาน และศาลา สำหรับแนวคิดในการปรับปรุงบ้านเดี่ยวมือสองให้เป็นบ้านใหม่แสนอบอุ่นหลังนี้ เจ้าของบ้านกล่าวว่า “ผมชอบบ้านที่ดูกลมกลืน ไม่แปลกแยกจากคนอื่นมากนัก เน้นความเป็นส่วนตัว ผมคิดว่าการออกแบบบ้านต้องมาจากภายในสู่ภายนอก”
ผนังบังตา
ออกแบบผนังบริเวณเฉลียงหน้าบ้านด้วยการก่ออิฐสีขาว เพื่อบังสายตาจากคนภายนอก นอกจากนี้ยังปลูกไม้ประดับ สร้างพื้นที่สีเขียวให้ บริเวณนี้ดูสดชื่นรื่นตาด้วย
1. รื้อผนัง พื้น และที่นั่งปูนบริเวณเฉลียงออกเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ใหม่
2. ปรับพื้นโดยเทคอนกรีตทับ ขยายพื้นที่ออกมา ก็จะได้พื้นที่เพิ่มเป็น 14 ตารางเมตร จากเดิมที่มีเพียง 8 ตารางเมตร
3. ก่อผนังอิฐบริเวณลานที่ทำเพิ่ม โดยลักษณะการก่อจะเว้นช่องว่างเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาถึง
4. ฝ้าเพดานเดิมเป็นฝ้า T-Bar มีความสูง 2.40 เมตร ปรับเปลี่ยนโดยรื้อฝ้าขึ้นไปให้เห็นโครงสร้างทรงจั่ว ทำให้ได้ความสูงเพิ่มเป็น 5 เมตร บ้านจึงดูโปร่งและสว่างขึ้น
5. บริเวณหลังคาด้านบนที่ยื่นออกมาเก็บโครงสร้างเดิมไว้ แล้วต่อเติมโครงเหล็กสีขาว
6. เริ่มงานทาสี พร้อมปูกระเบื้องพื้น
7. ดำเนินงานระบบไฟตามแบบและติดตั้งประตู
เชื่อมพื้นที่และปรับมุมมอง
เชื่อมอาคาร 3 หลังให้มีความต่อเนื่องกัน เพิ่มพื้นที่คอร์ตตรงกลางบ้านและสร้างกำแพงใหม่ ช่วยปรับมุมมองไม่ให้คนภายนอกมองเข้ามาเห็นภายในบ้านได้
1. รื้อพื้นกระเบื้องบริเวณทางเชื่อมอาคาร 3 หลังออก เทคอนกรีตพื้นทางเชื่อมให้สูงกว่าบริเวณศาลา 10 เซนติเมตร รื้อรั้วบ้านออก แล้วเปลี่ยนไปใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ดแทน
2. ทาสีบริเวณเสาและฝ้าเพดานของศาลาใหม่ทั้งหมด และก่อเคาน์เตอร์ปูน
3. ปูพื้นระแนงไม้เพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ สามารถเข้าไปใช้งานได้สะดวก ส่วนพื้นบริเวณศาลายังคงใช้พื้นกระเบื้องเคลือบดินเผาหกเหลี่ยมของเดิม
4. ติดตั้งซิงค์ล้างจานที่เคาน์เตอร์ปูน พร้อมดำเนินงานระบบน้ำและไฟฟ้าตามแบบที่กำหนดไว้
งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย
- งานต่อเติมเฉลียงหน้าบ้าน 30,000 บาท
- งานปรับปรุงรั้วและทางเดินรอบบ้าน 150,000 บาท
- งานปรับปรุงศาลากลางบ้านและพื้นระเบียง 35,000 บาท
- งานทาสี 40,000 บาท
- งานสวน 50,000 บาท รวม 305,000 บาท
2. รีโนเวตบ้านเก่าหลังคาทรงจั่ว ให้งดงามด้วยเส้นสายเรียบนิ่งทันสมัยสไตล์มินิมัล
- เจ้าของ : คุณเปรม – คุณวศินี ฉัตรมานพ/ สถาปนิก : Perspacetive โดยคุณสิทธิชัย ชมภู
รีโนเวตบ้านในเมืองอายุร่วม 40 ปี ที่ต้องรื้อพื้น ผนัง และเพดานซึ่งผุพังทรุดโทรมทิ้งออกทั้งหมด ให้เหลือไว้เพียงโครงสร้างเสาและคาน มีการยกระดับพื้นของตัวบ้านให้สูงขึ้นจากระดับถนน และจัดเรียงสเปซภายในใหม่ให้เน้นถึงการเปิดช่องแสงและการเชื่อมต่อมุมมองหรือฟังก์ชันระหว่างกัน จุดไฮไลท์หลักของบ้านยังอยู่ที่การเปิดมุมมองจากในบ้านผ่านผนังกระจกแนวยาวออกไปสู่สวนด้านข้างซึ่งตั้งใจให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดกว้างที่เติมเต็มธรรมชาติให้บ้านน่าอยู่ขึ้น
3. รีโนเวตบ้านใหม่ในบริบทที่คุ้นเคย
- เจ้าของ : คุณดวงเดือน – คุณพิศิษฐ์ เงาวิจิตร / สถาปนิก : Gooseberry Design โดยคุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก
เมื่อบ้านสไตล์โคโลเนียลที่อยู่มานานถึง 19 ปี เริ่มไม่ตอบรับฟังก์ชันการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สถาปนิกจึงเลือกที่จะเก็บโครงสร้างเดิมไว้แต่เลาะผนังเก่าออกไปราว 50% และต่อเติมพื้นที่ในบ้านออกไปอีก 10% ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยจากเดิม 300 เพิ่มเป็น 600 ตารางเมตร แล้วออกแบบฟาซาดหน้าบ้านที่นำรูปทรงจั่วสไตล์โมเดิร์นมาครอบเป็นชายคาบ้านทับซ้อนไปกับโครงสร้างหลัก พร้อมกับวางผังในบ้านใหม่หมด และแก้ปัญหาความมืดทึบภายใน ปรับเปลี่ยนจนเหมือนได้บ้านหลังใหม่ที่อยู่ในทำเลที่คุ้นชินแบบเดิมๆ
4. เนรมิตบ้านเก่าเป็นบ้านพักตากอากาศ
- เจ้าของ : คุณสุภาพ ตั้งอมตะกุล
- ตกแต่งภายใน : Thanks Nature โดยคุณสุรพงศ์-คุณศุภวัฒน์ สุวรรณรัตน
บ้านเก่าอายุประมาณ 40 ปีที่โครงสร้างของบ้านยังคงแข็งแรง ไม่สึกกร่อนไปตามกาลเวลา ทีมงานนักออกแบบจึงทำงานกันไม่ยากมากนัก จากบ้านเก่าทรุดโทรมกลับกลายเป็นบ้านสวยสดใสสไตล์โมเดิร์น ดูอบอุ่น โปร่งโล่งเสมือนได้อาศัยอยู่ในบ้านพักตากอากาศ โดยมีไอเดียการปรับปรุงงานสถาปัตยกรรมภายนอกที่สามารถกำบังฝนและแดดไม่ให้บ้านร้อนจนเกินไป ที่สำคัญ เปิดรับลมได้ตลอดเวลา รวมถึงการเชื่อมต่อพื้นที่บริเวณระเบียงชั้นบนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น
เปลี่ยนลุคให้ดูดี
1. ทุบกำแพงรั้วบางส่วนออกเพื่อต่อเติมอิฐช่องลมเข้าไปแทน
2. เทพื้นคอนกรีตเป็นถนนทางราบสำหรับเข้าบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหนาอยู่ที่ 15 เซนติเมตร หรือ 6 นิ้ว
จากนั้นก็ปูพื้นกระเบื้องเป็นแพตเทิร์นตามที่ออกแบบไว้
3. เริ่มงานทาสีกำแพงรั้ว
4. ติดตั้งประตูทางเข้าทั้งประตูใหญ่และประตูเล็ก โดยผู้ออกแบบนำประตูเก่าจากบ้านอีกหลังของคุณอ้อ
มาดัดแปลงทำสีผิวใหม่ โดยใช้สีเพนการ์ด ไพรเมอร์ เอสอีเอ (สีรองพื้นกันสนิม) ปรับผิวก่อนพ่นสีจริง
สร้างสภาพแวดล้อมให้โอบกอดบ้าน
1. ต่อเติมหลังคากันสาดด้วยโครงเหล็กให้ยื่นออกไปจากตัวอาคารทั้งบริเวณเฉลียงหน้าบ้านและด้านข้างบ้านเพื่อกำบังแดดและฝน
2. บริเวณโรงจอดรถเดิมซึ่งแปรสภาพไปเป็นห้องนั่งเล่นก่อผนังอิฐช่องลมเพื่อไม่ให้แสงแดดส่องเข้าไปถึง
ภายในมากจนเกินไปและช่วยประหยัดพลังงาน
3. เทพื้นคอนกรีตบริเวณเฉลียงและด้านข้างบ้านให้เป็นระนาบเดียวกัน
4. ก่อปูนสำหรับทำที่นั่งหน้าบ้านและเคาน์เตอร์อ่างล้างมือ หลังจากนั้นปูกระเบื้องลายไม้และเริ่มงานทาสีผนังและฝ้าเพดาน
5. เดินงานระบบไฟฟ้าใหม่ตามที่ออกแบบไว้
6. ติดตั้งประตูทางเข้าใหม่
ทุบเพื่อเชื่อมต่อ
งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย
- งานตกแต่งรั้ว 17,000 บาท
- งานระบบไฟฟ้า 34,000 บาท
- งานฮาร์ดสเคป 224,000 บาท
- พรรณไม้ 180,000 บาท
รวม 455,000 บาท
5. เปลี่ยนบ้านเก่าวินเทจให้ดูโมเดิร์นขึ้น
- เจ้าของ: คุณนพพันธ์ ตั้งกัลยานนท์ และคุณพันธิตรา เกียรตินิยมศักดิ์
- สถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : คุณพันธิตรา เกียรตินิยมศักดิ์
บ้านเก่าอายุกว่า 40 ปีหลังนี้แต่เดิมเป็นบ้านของฝั่งตระกูลคุณนพ เรียกกันติดปากว่า “บ้านกงสี” ด้วยว่าอยู่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณนพนั่นเอง ภายหลังคุณพ่อได้ซื้อบ้านนี้เก็บเอาไว้ เมื่อคุณนพและคุณติ๊กแต่งงานกันจึงถึงเวลาต้องปัดฝุ่นบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นเรือนหอเรียบเท่อันอบอุ่น
“ตอนแรกที่เข้ามาสำรวจ บ้านเก่าและโทรมมาก หลายอย่างไม่เป็นไปตามการใช้งานอย่างปัจจุบัน และมีการซอยห้องยิบย่อยเกินไป อีกทั้งสภาพอากาศของกรุงเทพฯก็เปลี่ยนไปด้วย จึงมีการบ้านให้คิดเยอะ” คุณติ๊กเล่าให้ฟังก่อนจะเสริมต่อว่า
“เป็นคนชอบบ้านเก่าและรายละเอียดของช่างสมัยก่อน ทั้งไม้และงานช่างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ในปัจจุบัน จึงอยากจะเก็บเอาไว้ให้ได้มากที่สุด อีกอย่างก็ช่วยประหยัดงบด้วย”
กรอบหน้าต่างทั้งหลายจากยุค 1960 จึงรอดพ้นจากการรื้อทิ้งมาประกอบกันอยู่ในบ้าน หากปรับปรุงบ้านเก่าแล้วเก็บรายละเอียดเหล่านี้ไว้ได้ ก็ส่งเสริมให้รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคสมัยที่เริ่มสร้างบ้านดูเด่นชัดขึ้น
“ทีแรกตั้งใจจะเก็บแค่บานหน้าต่าง แต่เมื่อเริ่มลงมือ รายละเอียดอื่นๆก็ค่อยๆเผยออกมาให้เก็บเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุดบันไดไม้ที่เป็นโครงไม้ประกอบ และการรื้อฝ้าเพดานที่ทำให้ค้นพบคานพื้นไม้ที่ดูดีกว่าการปิดเอาไว้เสียอีก”
กว่าจะเป็นบ้านสวยหลังนี้จึงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย เราจะค่อยๆ ดูกันไปทีละส่วน
เชื่อมกันไว้ได้พื้นที่ใช้สอย
1. รื้อหลังคาโรงรถเดิมออก แล้วออกแบบโครงหลังคาสูงจนพ้นหน้าต่างชั้น 2 เผยให้เห็นรูปด้านของบ้านทั้งสองหลัง
2. รื้อที่นั่งปูนรอบชานบ้านออกเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ใหม่ออกแบบโครงสร้างให้กลมกลืนกับราวลูกกรงเดิม เพื่อไม่ให้โครงสร้างโรงรถใหม่ ดูแปลกแยก อีกทั้งการยกสูงยังทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด เกิดเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ใช้เป็น มุมกึ่งเอ๊าต์ดอร์ได้สะดวก
3. ปรับพื้นรอบบ้านโดยการเทคอนกรีตทับ แต่ตรงจุดที่วางเสาให้ขุดหลุมเพื่อทำฐานให้เสาเหล็กกล่องก่อนเทปูน
4. หลังคาโรงรถเป็นเหล็กกล่องน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งวางเสาบนพื้น ส่วนอีกด้านฝากเสาวางไว้บนระเบียงบ้าน โดยออกแบบให้ดูกลมกลืนกัน
5. ปูกระเบื้องเพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ สามารถใช้งานได้สะดวก
แสงและเงาที่ร่มรื่น
1. ปรับพื้นที่โดยการเทคอนกรีตทับแต่ตรงจุดที่วางเสาให้ขุดหลุมเพื่อทำฐานก่อนเทปูนเช่นเดียวกับฝั่งโรงรถ
2. หลังคาโรงรถเป็นเหล็กกล่องน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งวางเสาบนพื้น ส่วนอีกด้านฝากเสาวางไว้บนโครงสร้างชั้นสองเลือกใช้ไม้เทียมเพราะน้ำหนักเบาติดตั้งง่าย และดูแลรักษาง่ายในระยะยาว
ปรับให้โปร่ง ลดความทึบตัน
1. ปรับพื้นที่โดยรอบ รื้อม้านั่งปูนบริเวณประตูบ้าน เทพื้นให้เป็นระดับเดียวกันทั้งหมด
2. รื้อกำแพงบ้านบางส่วนออกเพื่อให้ประตูหน้าต่างมีขนาดใหญ่ขึ้น รื้อกำแพงรั้วข้างบ้านออกให้เหลือไว้แค่ระดับเอว แล้วเปลี่ยนไปใช้เหล็กเส้นประกอบเข้าไปแทน
3. ทำสีอาคารด้วยสีโทนพาสเทล
งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย
- ค่าเทพื้นคอนกรีต 60,000 บาท
- ค่าปูกระเบื้องภายนอก 18,000 บาท
- ค่าก่อสร้างโรงรถ 52,000 บาท
- ค่าก่อสร้างชุดระแนงไม้หลังบ้านพร้อมวัสดุ 48,000 บาท
- ค่าทำสีโรงรถ หลังบ้าน และกำแพงรั้วบ้าน 35,000 บาท
รวม 213,000 บาท
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์, วุฒิกร สุทธิอาภา, Noon SD. รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, นิตยสาร my home