“บ้านอากาศเย็น” บ้านเลขที่ 1 ณ เย็นอากาศ
บ้านอากาศเย็น เป็นชื่อบ้านที่เจ้าของตั้งขึ้นล้อกับชื่อถนนเย็นอากาศ แต่เมื่อเข้ามาในบ้านก็รู้สึกเย็นสมชื่อ เพราะแม้จะเป็นบ้านคอนกรีตเปลือยสุดเท่ แต่ออกแบบให้มีคอร์ตในบ้านหลายจุด ทั้งเพื่อระบายอากาศ รับแสงธรรมชาติ และสร้างมิติให้สเปซของบ้านสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างงดงาม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studio Krubka
ทุกความสัมพันธ์เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อสองสิ่งอยู่ร่วมกัน เกิดระยะ “ระหว่าง” ที่บางครั้งเป็นเพียงมวลอากาศ บ้างเป็นการเว้นว่างเพื่อก่อสัมพันธ์ในความเงียบงัน หรือเกิดแรงดึงดูดให้โคจรเคียงกัน เช่นเดียวกับพื้นที่กว่า 1 ไร่ ณ บ้านเลขที่ 1 ของถนนเย็นอากาศซึ่ง คุณหมง – อรรณพ ชั้นไพบูลย์ และ คุณส้ม – สุชีรา นิมิตราภรณ์ คู่ชีวิตเจ้าของโปรดักชั่นเฮ้าส์ บริษัทหมงราม่า จำกัด ที่เคยขับรถผ่านบ่อยครั้ง จนได้มาเป็นเจ้าของและสร้าง บ้านคอนกรีตเปลือย ที่สะท้อนตัวตนของทั้งคู่ในแบบไม่เหมือนใคร
“บ้านอากาศเย็น” ชื่อที่มาก่อนตัวบ้าน
กว่าจะเป็น บ้านคอนกรีตเปลือย หลังนี้ไม่ง่ายเลย เวลาร่วม 7 ปีที่เจ้าของบ้านและสถาปนิก คุณแจ็ก – ดนัย สุราสา แห่ง Studio Krubka Co.,Ltd. ร่วมผ่านการทดลองและสำเร็จไปด้วยกัน คุณหมงเล่าย้อนกลับไปว่า “เราใช้ชีวิตอยู่คอนโดมาตลอด และคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการออกไปซื้อที่ดินอยู่ชานเมืองแล้วฝ่ารถติดออกไป จนวันหนึ่งได้ที่ดินตรงนี้มาเมื่อกว่า 14 ปีก่อน ครั้งแรกได้ที่มา 100 กว่าตารางวา และให้สถาปนิกมาออกแบบจนจวนจะสร้างแล้ว เผอิญที่ดินด้านในประกาศขาย เราจึงเริ่มทุกอย่างใหม่อีกครั้งบนที่ดินรวมกว่า 1 ไร่ผืนนี้ เฉพาะหลังปัจจุบันใช้เวลาออกแบบและสร้างร่วม 5 ปี โดยมีสิ่งที่ยังคงอยู่ตั้งแต่ตอนจะสร้างบ้านหลังแรก คือ ชื่อบ้านอากาศเย็น ที่อยู่บนถนนเย็นอากาศ ซึ่งผมตั้งไว้นานมากแล้ว”
สถาปัตยกรรมสะท้อนตัวตน
ความแข็งแกร่งของปราการคอนกรีตกลับดูเบาหวิวยามต้องแสงแดดที่สื่อความนัยถึงตัวตนเจ้าของบ้าน ผู้มองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นโจทย์ให้สถาปนิกได้ตีความ “คุณหมงและคุณส้มเป็นคนรักความเป็นส่วนตัว ชอบความเป็นธรรมชาติ แสงสว่าง ต้นไม้ แต่ในอีกมุมก็ไม่ถูกกับแมลงและจิ้งจก การออกแบบจึงมีความย้อนแย้งกันบางอย่าง ต้องการลมธรรมชาติแต่ก็กลัวแมลงเข้า อีกทั้งคุณหมงไม่ชอบการเดินทาง ฟังก์ชันในบ้านจึงออกแบบให้มีครบแบบใช้ชีวิตอยู่บ้านได้ไม่มีเบื่อ มีห้องดูหนังฟังเพลง สปา ห้องออกกำลังกาย และพื้นที่ให้เพื่อนๆ มาปาร์ตี้ได้ จนแทบไม่ต้องออกไปไหน”
“เป็นเรื่องดีที่เราสร้างบ้านตอนอายุ 40 กว่า เพราะเราเข้าใจชีวิตตัวเองและรู้ความต้องการชัดเจน ผมเป็นคนอ่อนโยนแต่ใจร้อน (มีเสียงภรรยาขำเล็กๆด้วยรอยยิ้ม) ชอบความรื่นรมย์ของยุคเก่า ตอนนี้ก็ยังฟังเพลงสุนทราภรณ์ เพลงยุค 50’s 60’s ที่ผู้คนดูมีชีวิตชีวา เป็นยุคที่ความคิดผู้คนไม่เร็วเกินไป เช่น วันหนึ่งคุณโกรธใครสักคน โกรธมาก แต่อยู่บนรถเมย์ รถก็ติด พอเวลาผ่านไป ความโกรธก็คลายลง แต่เดี๋ยวนี้พอโกรธปุ๊บโทรไปด่าปั๊บ ความเร็วทำให้คนเราขาดความละเมียดในการใช้ชีวิต” ส่วนคุณส้มนั้น “รักความเป็นส่วนตัว ชอบอยู่กับตัวเอง ในแต่ละห้องจึงมีความเป็นส่วนตัว ชอบเสพความสวยงาม อย่างจาน ชาม แก้วสวยๆ พออยู่ในโลกของเรา ก็ได้เสพสิ่งที่เราชอบอยู่ตลอดเวลา”
ปฏิสัมพันธ์ในที่ว่างกับมุมภาพในแบบผู้กำกับหนัง
หากมองแต่ภายนอกบ้านไม่อาจคาดเดาได้ว่าภายในเป็นอย่างไร เพราะด้วยวิธีการออกแบบของสถาปนิกที่อยากให้การเข้ามาในบ้านเหมือนการเล่นซ่อนหา “การออกแบบเน้นเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และลำดับการเข้าถึง มีการสร้างความคาดหวังและความประหลาดใจ ปกติเวลาคนเราเข้ามาในบ้านมีความคาดหวังว่าจะพบกับอะไร อย่างการเข้ามาในห้องรับแขก แล้วต่อไปน่าจะเป็นห้องรับประทานอาหาร แต่ก็อาจจะไม่ใช่เสมอไป อาจออกแบบให้มองไปเห็นอย่างอื่นแทน ทำให้เกิดการมองเห็นและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ และระหว่างภายนอกบ้านกับภายในบ้าน เป็นหนึ่งในความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยู่กันแค่ 2 คน ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ก็รับรู้ได้ว่าคู่ชีวิตอีกคนอยู่ตรงไหนของบ้าน”
คอร์ตในบ้านทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่ ทั้งเพื่อให้มีการระบายอากาศและมีแสงธรรมชาติเข้าถึงทั่วทุกห้อง ซึ่งหนึ่งในวิธีการออกแบบให้บ้านเย็นตามธรรมชาติ ทั้งยังสร้าง Scene ให้แต่ละห้องมีความแตกต่างกันด้วยการจัดสวนในคอร์ตนั้น เสมือนนำบรรยากาศภายนอกมาไว้ภายในบ้าน “สภาพแวดล้อมรอบบ้านที่เป็นตึกสูงก็มีผลต่อการออกแบบ ซึ่งสถาปนิกช่วยทำให้บ้านเปิดโล่งได้โดยที่ยังมีความเป็นส่วนตัว อย่างห้องนอนที่เปิดโล่งได้ เพราะมีความมิดชิดมาก โดยเบี่ยงมุมที่มองจากภายนอกไม่ให้เห็นภายใน ผมอยากเห็นฝนตกในห้องนอน สถาปนิกจึงทำผนังทึบด้านนอกอีกชั้นเพื่อเปิดคอร์ตเล็กๆเป็นสวนหินให้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของห้อง ในห้องน้ำที่อยากได้บรรยกาศแบบออนเซน จึงมีคอร์ตในห้องน้ำให้มีแสงตกกระทบลงมาที่ผนังและพื้น เห็นต้นไม้ไหวดูผ่อนคลาย” คุณหมงเล่าภาพบ้านที่อยากได้เป็นฉากๆตามสไตล์ผู้กำกับหนังโฆษณา
ระหว่างทางกับ
Mies van der Rohe & Tadao Ando
“ระหว่างทาง” มักเปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบ “ก่อนสร้างบ้านเราไปเที่ยวกันเยอะมาก เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นแล้วชอบคืออะไร มารู้ภายหลังว่าคือผลงานของมิสแวนเดอโร (Mies van der Rohe) ชอบความรู้สึกของการจัดวางอาคารทรงสี่เหลี่ยมที่มีฟังก์ชัน องค์ประกอบน้อยๆ แต่ทรงพลัง (Less is More) ชอบการโชว์วัสดุคอนกรีตเปลือยของอันโดะ (Tadao Ando) ตอนนั้นคุยกันยากมากเพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่พอมาหาข้อมูลจึงเข้าใจ เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านควรศึกษาแนวทางของสถาปนิกชั้นครู เพราะจะช่วยให้บรีฟกับสถาปนิกได้ง่ายขึ้น”
การทำคอนกรีตหล่อในที่ให้สวยถือเป็นงานยากและส่งผลต่อการออกแบบไม่น้อย “คอนกรีตหล่อในที่หล่อจะมีเอฟเฟกต์กับแสงอาทิตย์ค่อนข้างมาก เกิดแสงเงาที่ขับความไม่สมบูรณ์ของวัสดุให้ปรากฏตามองศาของแสง ทำให้บ้านมีความเฉพาะตัวต่างจากปูนฉาบเรียบ ซึ่งต้องออกแบบการวางแนวรอยต่อของไม้แบบให้ไปด้วยกันทั้งหลัง เพราะเมื่อเทปูนไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้”
สวนคอร์ตในบ้าน ความสุขในใจ
บ้านจะสวยต้องมีแลนด์สเคปเป็นแนวคิดของเจ้าของบ้านที่ทำให้บ้านนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างภายนอกและภายใน “พี่โจ๋นแห่งสวนโจ๋นมาจัดสวนให้ ต้นไม้ทุกต้น หินทุกก้อนเราไปเลือกด้วยกัน ผมชอบต้นมั่งมี (ต้นเฉียงพร้านางแอ) ที่สวนหน้าบ้านมากเพราะดูเหมือนบอนไซยักษ์ เราจึงเรียกว่าคุณปู่ กว่าจะเลือกต้นไม้กันได้บ้านก็เกือบเสร็จแล้ว จึงพบปัญหาคือ นำต้นไม้และก้อนหินเข้าไปในคอร์ตไม่ได้ ส่วนใหญ่จึงต้องใช้รถเครนยก อย่างต้นมะกอกในคอร์ตข้างห้องน้ำที่ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงในการค่อยๆลำเลียงเข้าไป สวนคอร์ตข้างห้องครัวเป็นอีกจุดที่ดีมาก เราปลูกต้นองุ่นทะเล พื้นวางหินก้อนใหญ่ให้เห็นเท็กเจอร์ชัดๆ มันทำให้มุมนี้เหมือนเป็นกลาสเฮ้าส์ที่มาแอบซ่อนอยู่ในบ้านซึ่งหลายคนเห็นก็ต้องเซอร์ไพร์ส” แม้ฟังดูไม่ง่ายเลย แต่ขณะนั่งฟังก็รับรู้ถึงความสุขที่เกิดขึ้น เป็น “ระหว่างทาง” ที่คุณหมงและคุณส้มสนุกกับการแต่งบ้านให้มีการเว้นระยะการมอง เว้นจังหวะให้แสงเงาได้เข้ามาคลอเคลียกับพื้นผนัง ความสุขระหว่างวันจึงเกิดขึ้นได้เพียงแค่เห็นต้นไม้ที่ปลูกเติบโต นำพาความร่มเย็นและเย็นใจมาสู่บ้านสมดังชื่อ บ้านอากาศเย็น
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์