รวมศัพท์ช่าง ที่ฟังแล้วอาจงงว่าหมายถึงอะไรนะ?

หลายคนอาจเคยได้ยิน ศัพท์ช่าง บางคำที่ฟังแล้วอาจทำให้เราต้องนึกสงสัย หนวดกุ้งคืออะไร? ท้องช้างคือส่วนไหน? ไปดูที่มาของศัพท์ช่างเหล่านี้กัน

ศัพท์ช่าง ที่ช่างมักจะพูดกันนั้น บางครั้งก็มีคำที่ฟังแล้วอาจจะพานนึกไปถึงอย่างอื่นได้อยู่บ่อยครั้ง แต่ศัพท์ช่างเหล่านั้นก็เป็นคำพูดที่ใช้กันมาจนเคยชินเสียแล้ว เพื่อให้สามารถสื่อสารกับบรรดาช่างๆ ได้เข้าใจมากขึ้น วันนี้บ้านและสวนจึงขอยก 30 ศัพท์ช่างที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ มาเป็นตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านกัน

  1. ตีเต๊า หมายถึง การสร้างแนวเส้นบนอาคารระหว่างก่อสร้างเพื่อใช้สำหรับการกำหนดระยะ วางตำแหน่งในการติดตั้งส่วนต่างๆบนอาคาร โดยใช้เครื่องมือตีเต๊า(บางคนก็เรียก เต๊า ปักเต๊า) ซึ่งจะทำให้เกิดสีเป็นแนวเส้นตามรอยของเชือกทำให้ช่างเห็นรอยในการวางตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ การตีเต๊านั้นจะใช้กับงานประเภท วางท่อ ผนัง ติดตั้งประตู หน้าต่าง มุงกระเบื้อง การทำเคาน์เตอร์ ทำราง หรือการโรยกรวด เป็นต้น ศัพท์ช่าง
ศัพท์ช่าง
  1. ต๊าปเกลียว คือ การทำให้เกิดเกลียวบนผิววัสดุ ส่วนใหญ่ช่างจะใช้ทำบนพื้นผิวท่อเหล็กหรืออลูมิเนียมให้ท่อเกิดเป็นเกลียวไว้สำหรับไปต่อประกอบกับอีกท่อหนึงได้ ต๊าปเกลียวมีทั้งการทำเกลียวในและเกลียวนอก โดยมีเครื่องจักรในการทำจนไปถึงเครื่องมือแบบพกพาในการทำต๊าปเกลียว (แนะนำให้ใช้เครื่องจักรดีกว่าเพราะเกลียวจะคงที่กว่าการทำมือ)
ศัพท์ช่าง
  1. สลัดดอก คือ การเตรียมพื้นคอนกรีตก่อนฉาบด้วยการเอาปูนซีเมนต์ธรรมดาผสมกับน้ำ ทราย และน้ำยาเพิ่มแรงยึดเกาะ แล้วใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวมาจุ่มลงในน้ำปูน สลัดลงไปให้ทั่วบริเวณที่จะฉาบ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน แล้วจึงค่อยมาฉาบทับไปอีกที ซึ่งเทคนิคสลัดดอกนี้จะช่วยให้ปูนฉาบเกาะกับผิวคอนกรีตได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องการหลุดร่อนหรือการแตกร้าวของปูนฉาบไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
ศัพท์ช่าง
  1. บังใบ คือ วิธีการทำให้ชิ้นวัสดุชิดสนิทกัน โดยการบากปลายของวัสดุให้ลึกลงไปทั้งสองชิ้นหรือชิ้นเดียวให้เกิดระยะบากที่สอดคล้องกัน วัสดุที่บังใบส่วนใหญ่จะเป็นไม้ ตรงส่วนวงกบประตูและหน้าต่างในเวลาเราเปิดปิด แนวชนของบานประตูและหน้าต่าง พื้นและผนัง ซึ่งการบังใบช่วยกันน้ำ กันฝนสาด เข้าระหว่างรอยต่อได้อีกด้วย
ศัพท์ช่าง
  1. ปูพื้นแบบซาลาเปา เป็นอีกวิธีที่ช่างชอบเพราะปูง่าย รวดเร็วและประหยัด แต่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ควรให้ช่างทำ เพราะการปูพื้นแบบซาลาเปา คือการนำปูนกาวซีเมนต์มาโปะหลังแผ่นกระเบื้องคล้ายก้อนซาลาเปาตรงกลาง จากนั้นวางกดลงไปบนพื้นผิวปูนหยาบ ซึ่งตรงขอบกระเบื้องจะไม่มีเนื้อปูนเลยมีเพียงโพรงอากาศ ทำให้ปลายกระเบื้องเกิดการบิ่น แตกร้าวได้ง่าย เกิดความชื้นในกระเบื้องและยังทำให้กระเบื้องหลุดออกมาทั้งแผ่นอีกด้วย
ศัพท์ช่าง
  1. กรีดผนัง คือ การกรีตเนื้อวัสดุอิฐหรือปูนเพื่อเตรียมการฝังอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ท่อร้อยสายไฟ ท่อประปา แผงวงจรไฟฟ้า งานตกแต่งจำพวก คิ้วหรือบัวตกแต่งผนัง จากนั้นก็ทำการฉาบปูนปิดรอยให้เรียบร้อย โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการกรีดผนังจะใช้ ลูกหมู หรือเครื่องมืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงาน
ศัพท์ช่าง
  1. จับเซี้ยม คือ การทำให้ขอบหรือมุมในส่วนอาคารต่างๆก่อนที่จะฉาบปูนเป็นระยะตั้งฉาก เช่น ขอบประตูหน้าต่าง มุมเสา มุมห้อง มุมพื้น เป็นต้น โดยช่างจะใช้วิธีปาดปูนลงไปบนส่วนที่ชนเข้ามุมกันทั้งสองด้านตลอดแนวความสูงหรือความยาวให้ได้ระดับที่วัดไว้พอดี หรืออีกวิธีใช้เซี้ยมสำเร็จรูปที่ทำจากเหล็กหรือพลาสติกวางลงไปบนปูนที่ปาดไว้จากนั้นปาดปูนทับทั้งสองด้านของผนังอีกทีให้ความหนาปูนเสมอกับแนวสันของเซี้ยมสำเร็จรูป ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วกว่า ศัพท์ช่าง
ศัพท์ช่าง
  1. ชักร่อง เป็นการทำให้เกิดแนวร่องบนพื้นวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ ปูน โดยวัสดุไม้จะทำการเซาะร่องตรงขอบระหว่างไม้ 2 แผ่นที่นำมาติดกัน ช่วยลดอันตรายในการเดินบนพื้นไม้และยังเป็นการเล่นลวดลายให้สวยงาม ส่วนวัสดุปูนจะทำการตีเส้นตามระยะในแบบลงบนผนังหรือพื้นตามที่ต้องการ โดยใช้วัสดุที่เป็นแท่งหรือเส้นยาวๆ เช่น พลาสติก  พีวีซี  ไม้  หรือโฟมเส้น ยึดติดไว้ชั่วคราว ตกแต่งพื้นผิวตามต้องการ เมื่อพื้นผิวเริ่มแห้งก็ทำการชักวัสดุนี้ออกได้ ก็จะเกิดเป็นแนวร่องตามที่เราต้องการ
ศัพท์ช่าง
  1. เข้าลิ้น คือ การเชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ โดยใช้เครื่องไสไม้ ไสด้านสันไม้ให้เป็นร่องเว้าลึกลงไปตามแนวยาว ส่วนอีกฝั่งไสไม้ให้มีลักษณะนูนอกมาคล้ายเดือยนำมาต่อกันคล้ายกับจิ๊กซอว์โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตะปูหรือสลักมาช่วย เทคนี้นี้นิยมในการปูพื้นไม้หลายๆแผ่นเข้าด้วยกัน เมื่อประกอบไม้เข้ากันแล้วจะเหมือนเป็นชิ้นเดียวกัน แยกออกจากกันได้ยาก ทั้งยังแข็งแรงทนทานในการใช้งานอีกด้วย
ศัพท์ช่าง
  1. เสาเอ็นและทับหลัง เสาเอ็นและทับหลังเป็นโครงสร้างรองที่มีลักษณะเป็นเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเล็ก มีขนาดกว้างเท่ากับความหนาของผนัง ฝังไว้โดยรอบช่องเปิด เช่น ประตูและหน้าต่างหรือช่องว่างบนผนัง โครงสร้างนี้ช่วยเสริมให้ช่องเปิดแข็งแรงทำให้ไม่เกิดรอยแตกร้าวที่มุมขอบช่องเปิด
ศัพท์ช่าง
  1. ค.ส.ล. หรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก คือ การก่อสร้างโดยใช้ปูนหล่อเป็นคอนกรีตและมีเหล็กเข้ามาเสริมแรง โดยให้คอนกรีตนั้นรับแรงอัดและเหล็กช่วยรับแรงดึง
ศัพท์ช่าง
  1. ค.อ.ร จะหมายถึง คอนกรีตอัดแรง ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตและเสริมแรงให้ชิ้นส่วน หรือองค์อาคารคอนกรีตให้สามารถรับน้ำหนักได้สูงมากขึ้นมีสองแบบคือ1) ประเภทอัดแรงก่อน (Pre-tensioning) การอัดแรงประเภทนี้ จะทำการดึงลวดอัดแรงก่อน แล้วจึงหล่อคอนกรีต ตัวอย่างการอัดแรงประเภทนี้ได้แก่ เสาเข็ม คานสำเร็จรูป พื้นสำเร็จรูป เป็นต้น2) ประเภทอัดแรงภายหลัง (Post-tensioning) การอัดแรงประเภทนี้ จะหล่อคอนกรีตก่อนแล้วจึงทำการดึงลวดอัดแรงภายหลัง ตัวอย่างการอัดแรงประเภทนี้ได้แก่ พื้นแผ่นเรียบไร้คาน (Flat Plate) คานสะพาน (Girder)เป็นต้น
ศัพท์ช่าง
  1. เข็มหรือเสาเข็ม คือ ส่วนที่อยู่ใต้ฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวบ้านเพื่อส่งผ่านลงไปในดิน เสาเข็มมีหลายประเภท แต่ที่ใช้กับการก่อสร้างบ้านในประเทศไทยมี 2 ประเภท คือเสาเข็มอัดแรงและเสาเข็มเจาะ
ศัพท์ช่าง
  1. เข็มตอก (prestressed concrete pile) บางครั้งเขียนย่อว่า “เสาเข็ม ค.อ.ร.” หรือ “เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง” ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็ว และเหล็กเสริมทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง การตอกจะใช้ปั่นจั่นตอกกระแทกลงในดิน เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก และมีราคาถูก เป็นเสาเข็มที่ใช้กันแพร่หลายในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เสาเข็มตอกแบ่งประเภทตามรูปร่าง คือเสาเข็มรูปตัวไอ เสาเข็มรูปตัวที เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน เสาเข็มหกเหลี่ยมกลวงและตัน เสาเข็มแปดเหลี่ยมกลวง และเสาเข็มกลม
  1. เข็มเจาะ (bored pile) เป็นเสาเข็มที่ต้องทำในสถานที่ก่อสร้าง โดยใช้เครื่องมือเจาะขุดดินลงไปให้ได้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และความลึกตามที่กำหนดในแบบ แล้วจึงใส่เหล็กเสริมและเทคอนกรีตลงไปเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม
  1. ฐานราก คือ ส่วนที่ต่อขึ้นมาจากเสาเข็ม ทำหน้าที่เหมือนตัวหุ้มหัวเสาเข็ม และเป็นส่วนฐานของเสาอาคาร ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของบ้าน แล้วถ่ายน้ำหนักลงเสาเข็ม
  1. ตอม่อและคานคอดิน ตอม่อ เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างที่วางอยู่บนฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านต่อจากคานคอดิน แล้วถ่ายน้ำหนักลงฐานรากต่อไป คานคอดินคือชื่อเรียกคานตัวที่อยู่ใกล้พื้นดินที่สุด ทำหน้าที่รัดหัวตอม่อและรับน้ำหนักบ้านถ่ายไปที่ฐานราก
  1. ตะเข้สัน ตะเข้ราง คือแนวตัดของผืนหลังคาแต่ละระนาบมาบรรจบกันทำให้เกิดจุดตัดระนาบหลังคาขึ้นมา 2 แบบคือ ตะเข้สัน และตะเข้ราง มักพบกับบ้านที่มีหลังคาทรงปั้นหยา และมะนิลา
  1. ลูกฟัก ไม่ใช่ฟักที่เป็นผักผลไม้แต่เป็นคำที่ใช้เรียกช่องสี่เหลี่ยมอยู่ในกรอบของประตูหรือหน้าต่าง ที่เห็นเป็นลายช่องๆหรือนูนๆ
  1. ตกท้องช้าง คือ การที่วัสดุพื้นหรือฝ้า ตกในตำแหน่งผิดปกติ แอ่น หย่อน โค้งงอ ผิดรูปหรือน้ำหนักมากเกินไป
  1. บันไดพับผ้า คือรูปแบบของบันไดจะมีการทำด้านล่างให้หยักไปตามขั้นบันได เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการโชว์โครงสร้างของตัวบ้าน
  1. ผนังเบา คือผนังที่ก่อสร้างด้วยการติดตั้งวัสดุแผ่นใหญ่เข้ากับโครงคร่าว นิยมใช้ทำผนังกั้นห้อง
  1. โครงคร่าว เป็นโครงทีเตรียมไว้สำหรับติดตั้ง ทำจากเหล็กชุบสังกะสี มีน้ำหนักเบา นิยมใช้ทำผนังกั้นห้อง
  1. ชั้นลอย คือ ชั้นในอาคารที่อยู่ระหว่างชั้นแรก (หรือชั้นล่าง) กับชั้นที่สอง โดยมีลักษณะเปิดให้เข้าถึงได้จากชั้นล่างซึ่งถูกออกแบบมาให้สูงเป็นสองเท่าของชั้นปกติ แต่ไม่นับว่าเป็นชั้นที่แยกออกมาต่างหาก
  1. สายดิน หรือสายกราวนด์ เป็นสายไฟเส้นที่มีไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้าปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต้องมีการต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับวัตถุ โดยทั่วไป สายที่ต่อลงดินจะเดินไว้กับระบบไฟฟ้าของบ้านอยู่แล้ว และเมื่อผู้ใช้เสียบเต้าเสียบจะทำให้ระบบสายดินต่อกันเต็มระบบเอง
  1. เดินลอย หมายถึงการเดินระบบโดยไม่ได้ฝังเข้าไปในผนัง ได้รับความนิยมมาจากสไตล์ลอฟต์และสไตล์ย้อนยุคแบบโมเดิร์นนิสต์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา และบ้างก็ใช้เพื่อแสดงถึงความเป็นสัจจุวัสดุแบบสมัยใหม่นิยม
  1. คอนดูด มักใช้เรียก ท่อร้อยสายไฟ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ท่อโลหะ และท่อพลาสติก ซึ่งท่อเหล็ก เป็นท่อร้อยสายไฟ ประเภทท่อโลหะ ทำจากเหล็กชุบสังกะสี ถ้าบอกว่าเดินลอยคอนดูดก็คือการเดินท่อโลหะแบบติดตั้งบนผนังโชว์ความลอฟท์นั่นแหละ
  1. เหล็กหนวดกุ้ง เรียกอีกชื่อว่าเหล็กเดือย เป็นเหล็กที่เสริมแรงยึดให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างเวลาที่เราเห็นคอนกรีตที่กำลังก่อสร้างมีเหล็กเส้น ๆ ยื่นออกมานั่นล่ะครับเรียกว่าเหล็กหนวดกุ้ง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่เหล็กข้ออ้อยและเหล็กกลม โดยการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับหน้าที่และความต้องการในการรับแรงของงาน
  1. บ่มปูน หรือการบ่มคอนกรีต คือการควบคุมและป้องกันไม่ให้น้ำในคอนกรีตระเหยออกจากคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วเร็วเกินไป เนื่องด้วยน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดสำหรับปฏิกิริยาไฮเดรชั่น ซึ่งจะมีผลต่อกำลังของคอนกรีตโดยตรง ดังนั้น หลังจากที่ผิวหน้าคอนกรีตแข็งตัวแล้ว จะต้องบ่มคอนกรีตให้มีความชื้นอยู่เสมอ เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน กำลังของคอนกรีตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีความชื้นให้ปูนซีเมนต์ได้ทำปฏิกิริยากับน้ำ
  1. RB และ DB คือ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ (Round Bar, RB) และ เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar, DB) สำหรับใช้เสริมแรงให้คอนกรีตสามารถรับแรงดึงได้เพราะลำพังปูนที่ใช้ทำคอนกรีตนั้นสามารถรับได้แต่แรงกด

  • เรื่อง – Wuthikorn Sut
  • ภาพประกอบ – เอกรินทร์ พันธุนิล

เคล็ดไม่ลับกับวิธีคำนวณราคาถมดิน

กระเบื้องร่อน กระเบื้องระเบิด สาเหตุและวิธีการแก้ไข

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag