รู้หรือไหม เสียงไล่งู มีจริง! ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย ที่ช่วยไล่งูไม่ให้เข้ามาในบ้านของเรา
เสียงไล่งู ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยในการใช้เสียงที่ช่วยให้งูไม่ค่อยกล้ามารบกวนพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ #บ้านและสวน ชวนมาดูการศึกษาและวิจัยจาก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) ที่ให้คำตอบเราได้ว่า เสียงอะไรใช้ไล่งูได้
ปัญหาหรือความกังวลเรื่องงูเข้าบ้าน จัดว่าเป็นเรื่องที่หลายคนวิตก ยิ่งมีต้นไม้เยอะๆ แล้วยิ่งวิตก จากงานวิจัยของ RISC ซึ่งทำการวิจัยและเก็บข้อมูลจริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในด้านการอยู่อาศัยที่ดีของคนไทยได้ค้นพบว่า ในสมัยก่อนเสียงไม้กวาดทางมะพร้าวที่กวาดลานดินบริเวณใต้ถุนบ้าน มีผลต่อการรับรู้ของงู กลายเป็นเสียงไล่งูที่ช่วยให้งูไม่อยากมารบกวนบ้านคน
งูมีหูเป็นกระดูกที่คอยจับการสั่นสะเทือน แต่สามารถรับการสั่นสะเทือนได้ต่ำแค่ 50-1,000 เฮิรตซ์ (hertz) เท่านั้น และจับการสั่นได้ดีจากพื้นดินหรือในน้ำ การสั่นของไม้กวาดทางมะพร้าวบนลานดิน งูจะรับรู้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับสัตว์เกือบทุกชนิดจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้โดยไม่จำเป็น การกวาดบ้านเช้าเย็นจึงเป็นเสมือนการบอกอาณาเขตของเราไปด้วยในตัว ประกอบกับลานดินเป็นที่โล่งด้วย งูจึงหลีกเลี่ยงไม่เข้ามายุ่งไปโดยปริยาย
แล้วเสียงไล่งูแบบนี้ มันใช้ได้ในบ้านยุคปัจจุบันไหม? จากการทดสอบสร้างเสียงคลื่นความถี่ต่ำจำลองกับงูที่สถานเสาวภา พบว่า งูที่ทดสอบไม่สนใจคลื่นความถี่ที่สร้างขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของมนุษย์แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในเมือง ที่มีเสียงต่างๆ วุ่นวายมากมาย ต่างจากชนบทที่มีคลื่นเสียงต่างๆ น้อย งูมีการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมใหม่ อีกทั้งบ้านก็อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น งูจึงไม่มีที่ให้หนีไปยังที่ปลอดภัย หรือไม่มีแหล่งให้หลบตามธรรมชาติเหมือนสมัยก่อน
ฉะนั้นถ้าใครอยู่ในเมืองหรือแหล่งชุมชน การขยันกวาดบ้านก็จะไม่ได้ผล ฉะนั้นก็ไม่ต้องกวาดบ้านกัน …เอ๊ะ ไม่ใช่ การกวาดบ้านเพื่อความสะอาดเป็นอีกเรื่อง ถึงเสียงจากไม้กวาดทางมะพร้าวจะไม่ได้ผล แต่การทำให้บ้านโล่งในส่วนพักอาศัยก็ทำให้สัตว์ร้ายต่างๆ เกรงใจที่จะเข้ามาป่วนเปี้ยนใกล้กับบ้านสวยๆ ของเรา
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมบุคคลากรที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง เพื่อตอบโจทย์ Well-being ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก