บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ร่วมสมัยแห่งพัทลุง
- เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
- สถาปนิก : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และคุณอรวี เมธาวี
- ก่อสร้าง : คุณบุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ที่เกิดขึ้นจากภาพความทรงจำในวัยเด็กของเจ้าของที่มีต่อบ้านหลังเดิมของคุณตาคุณยาย ผ่านการออกแบบให้เหมาะกับการอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน จนเกิดเป็นเรือนปักษ์ใต้ร่วมสมัยที่เชื่อมโยงคนสามรุ่นไว้ด้วยกัน >> อ่านต่อ
เรือนไม้โบราณหลังนี้หัวใจไม่เคยลืม
- เจ้าของ : คุณธีรพงษ์และคุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม
- สถาปนิก : คุณศรัณย์ สาเมือง
- มัณฑนากร : คุณไอริณ ประสงค์ชัยกุล
เรือนไม้โบราณหลังงามริมถนนตลาดใหม่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวบ้านเป็นเรือนไม้มนิลาซึ่งเป็นการผสมระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาปั้นหยา โดยแบบหลังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภาคใต้ และยังคงเก็บรายละเอียดของอาคารไม้หลังเก่าได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของหน้าต่างไม้ที่มีช่องกระจกสีด้านบน พื้นกระดานไม้เคี่ยมซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน หรือช่องลมลายฉลุที่บอกเล่าถึงความประณีตของงานช่างสมัยก่อน เฟอร์นิเจอร์และของประดับส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่สมาชิกในครอบครัวเก็บสะสมเอาไว้ หรือของที่หาได้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่ไม่อยากให้ศิลปะพื้นถิ่นหายสาบสูญไป บ้านหลังนี้ยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 อีกด้วย >> อ่านต่อ
เสน่ห์บ้านไม้เก่า กลิ่นอายพื้นถิ่นภาคใต้
- เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณทรงพร – คุณฟองทิพย์ วุฒิวงศา
บ้านไม้เก่า กลิ่นอายพื้นถิ่นใต้ หลังนี้ ปรากฏร่องรอยของการผ่านร้อนผ่านหนาวบนท่อนไม้เก่า ซึ่งเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอันยากที่จะลอกเลียนแบบ >> อ่านต่อ
บ้านบุญโฮม บ้านไม้ชั้นเดียวท่ามกลางความเงียบสงบของชนบทแท้
- เจ้าของ: คุณวาทินี สุดตา
- ออกแบบ: S Pace Studio โดยคุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และคุณปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส
- วิศวกรโครงสร้าง:คุณบดินทร์ มหาราช
บ้านอีสานโมเดิร์นที่มีหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยชานหน้าบ้านขนาดกว้างขวางเพื่อรองรับญาติๆและเพื่อนบ้านที่หมั่นแวะเวียนมาทักทาย ด้านบนทำหลังคาหน้าจั่วขนาดเล็กกรุหลังคาลอนใสเพื่อช่วยนำแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาถึงด้านล่างอย่างทั่วถึง ซึ่งไอเดียการออกแบบบ้านนั้นมาจากการตีความวิถีชีวิตที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนอีสาน ผสมผสานกับรูปแบบของบ้านที่ทันสมัย สะอาดตา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว >> อ่านต่อ
บ้านไม้หลังเล็กในฟาร์มเกษตร
- เจ้าของ : คุณอรรถพล ไชยจักรและคุณอาคีรา ห้วงสุวรรณ
- ออกแบบ : คุณอรรถพล ไชยจักร
บ้านไม้หลังเล็กจากแนวคิดของวิศวกรที่อยากลองมาออกแบบบ้านของตัวเองดูบ้าง โดยทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมง่ายๆ ขนาด 4×4 เมตรแค่ให้มีพื้นที่พอวางชั้นหนังสือ มีที่เก็บเสื้อผ้าเก็บของ ที่นอน และมุมทำงาน แล้วหันหน้าบ้านออกไปรับแสงเช้าทางทิศตะวันออก มีประตูบานเฟี้ยมกับหน้าต่างบานกว้างให้ลมเหนือลมใต้พัดผ่านได้ดี เติมช่องเกล็ดไม้ตรงผนังด้านล่างให้ลมผ่านได้แม้แต่ตอนปิดประตูหน้าต่าง แล้ววางตำแหน่งตัวบ้านให้ลอดเข้ามาอยู่ใต้ต้นลำไยขนาดใหญ่สัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่ออาศัยร่มเงาที่เย็นสบาย >> อ่านต่อ
บ้านไม้สองชั้นที่เล่าเรื่องไทยอีสานสมัยใหม่ในบริบทเดิม
- เจ้าของ : คุณปิแอร์ เวอร์เมียร์ และคุณนิตญา ผ่านสำแดง
- ออกแบบ : บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
- ประสานงานการก่อสร้าง : เฮ็ดดีไซน์สตูดิโอ โดยคุณปองพล ยุทธรัตน์
บ้านไทยอีสานที่กลมกลืนไปกับบริบทของสังคมชนบทในจังหวัดอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นรั้วบ้านที่มองเห็นกันได้ระหว่างภายในกับภายนอกบ้าน ชานระเบียงต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก หรือลานหน้าบ้านที่มักกลายเป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน โครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้เลือกใช้โครงเหล็ก H-Beam ส่วนการออกแบบภายในเน้น “ความโปร่ง” นอกจากจะสบายตาแล้ว ยังช่วยให้กระแสลมในบ้านพัดผ่านได้ดี ทำให้ทั้งบ้านอยู่ในสภาวะน่าสบาย ไม่ร้อนอับ >> อ่านต่อ
สงบร่มรื่นในบ้านไทยอีสาน
- เจ้าของ : คุณศักดา – คุณอรพินท์ ศรีสังคม
- ออกแบบ : อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม
- สถาปนิกที่ปรึกษา : คุณธีรพล นิยม
- สถาปนิกโครงการ : คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และคุณอรพิมพ์ ตันติพัฒน์
- ตกแต่งภายใน : คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์
ด้วยความที่เจ้าของบ้านชื่นชอบบ้านเรือนไทยมาตั้งแต่เด็ก บวกกับได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อซึ่งหลงรักวัฒนธรรมอีสาน ผู้ออกแบบจึงนำลักษณะที่สำคัญของการปลูกเรือนอีสานมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เช่น การออกแบบพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นเหมือนใต้ถุนโล่ง เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะทุ่งปอเทืองหน้าบ้าน มีชานหลังคายื่นออกไปเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และรับแขกได้
บ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายเรือนสามหลังที่มีชานแดดผูกติดกันตรงกึ่งกลาง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวกทุกพื้นที่ เรือนแต่ละหลังมีชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝน ชั้นล่างใช้ผนังดินอัดเพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนหน่วงความร้อนให้บ้านเย็นลงในช่วงกลางวัน ส่วนหลังคาไม้ก็ปรับไปใช้หลังคาไม้ซีดาร์ วัสดุส่วนใหญ่เลือกใช้ไม้เพราะมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งดูดและคายความร้อนได้รวดเร็ว >> อ่านต่อ
บ้านตถตา บ้านไม้บนรอยเท้าของชาวล้านนา
- เจ้าของ : แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร บ้านล้านนาอยู่สบาย
- สถาปัตยกรรม: บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
- ออกแบบภายใน : คุณปรียชนัน สายสาคเรศ
- ผู้รับเหมา: คุณวันไชย หงษ์แก้ว (สล่าเก๊า)
- ผู้ควบคุมงาน : ยางนาสตูดิโอ และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในจังหวัดน่านมาออกแบบใหม่ โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านสนใจ นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังกำหนดให้ภายในบ้านมีพื้นที่เชื่อมโยงกัน โดยรวมใต้ถุนกับชานเป็นส่วนเดียวกัน สามารถนั่งรับลมได้ภายใต้บรรยากาศที่เสมือนโอบล้อมด้วยป่าใหญ่ ส่วนภายในบ้านก็มีความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกพื้นที่ อีกทั้งการเปิดพื้นที่ส่วนต่างๆ เพื่อรับลมก็ยังเหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทยด้วย >> อ่านต่อ
บ้านรับรองแขกในเรือนยุ้งข้าว
- เจ้าของ : พันตำรวจเอกเกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ
- ออกแบบ : คุณผดุง ปาลี
บ้านรับรองแขกที่ดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าวเก่า โดยอิงงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา แต่ปรับขนาดให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ในส่วนของงานตกแต่งก็ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพิ่มความสวยงามด้วยรายละเอียดของงานไม้แกะ เฟอร์นิเจอร์สไตล์ไทยแบบขาสิงห์และขาคู้ เก้าอี้หวาย หรืองานเซรามิกโทนสีบลูแอนด์ไวท์ นอกจากนี้ยังใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินอ่อนและหินธรรมชาติ ซึ่งเก็บความเย็นได้ดี เมื่อรวมกับการออกแบบบ้านให้เปิดโล่งกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ทั้งน่าอยู่และเย็นสบายได้ไม่ยาก >> อ่านต่อ
ใช้ชีวิตผ่อนคลายแบบพอดี ในเรือนพักหลองข้าว อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่
- สถานที่: วิลล่า มัชฌิมา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
จากหลองข้าวเก่ามาสู่เรือนพักผ่อนที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นท่ามกลางบรรยากาศที่สงบและเป็นส่วนตัวในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของตั้งใจเก็บสถาปัตยกรรมโบราณเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูและสามารถใช้งานได้จริง โดยตั้งชื่อไว้ว่า “วิลล่า มัชฌิมา” เพื่อบอกถึงการใช้ชีวิตตามหลักทางสายกลาง >> อ่านต่อ