รวมต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ เป็นที่เคารพและนิยมปลูกมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ธรรมะและธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวที่อยู่คู่กันมาเสมอ หากใครที่ได้ศึกษาพุทธประวัติคงพอทราบว่าในสมัยพุทธกาล สถานที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาส่วนใหญ่เกิดขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่ ในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนานี้เราจึงขอรวบรวม ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ ที่มีความสิริมงคลและเป็นที่เคารพสักการะ อีกทั้งยังนิยมปลูกในบ้านหรือสถานที่สำคัญมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางต้นอาจมีชื่อพ้องกับต้นไม้ชนิดอื่นจนหลายคนเข้าใจผิด

ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ

ต้นสาละอินเดีย ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ ที่พบมากบริเวณประเทศอินเดียและเนปาล เมื่อถึงฤดูแล้งที่อากาศหนาวเย็นจะทิ้งใบและออกดอกหอมทั้งต้นคล้ายต้นพยอม (ขอขอบคุณภาพ จาก Geeta Samant )

1.ต้นสาละอินเดีย

ชื่อวิทยาสตร์ Shorea robusta Roxb.

วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ตามพุทธประวัติกล่าวถึงเหตุการณ์การประสูติและดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไว้ว่าเกิดขึ้น ณ ใต้ต้นสาละ โดยประสูติใต้นต้นสาละต้นเดี่ยวและปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ หากแต่เป็นต้นสาละอินเดีย ซึ่งมีความแตกต่างกับต้นสาละลังกาที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันและนิยมปลูกในบ้านเราอย่างสิ้นเชิง แม้ว่ารูปทรงของดอกสาละลังกาจะคล้ายคลึงกับดอกบัวที่อาจเกี่ยวข้องกับการดําเนินได้ 7 ก้าวหลังการประสูติก็ตาม

ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ
ดอกของสาละลังกาสีสดเป็นช่ออยู่ตามลำต้น ก้านดอกหักคาต้นดูคล้ายหนาม ห้อยอยู่ตามกิ่งต้น มีกลิ่นหอมแรงออกดอกตลอดปี หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นสาละในพุทธประวัติ

เหตุที่แน่ใจได้ว่าสาละลังกาไม่ใช่ต้นไม้ชนิดเดียวกับต้นสาละในพุทธประวัติอย่างแน่นอน ก็เพราะต้นสาละลังกา (Couroupita guianensis Aubl.) มีถิ่นกําเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวโปรตุเกสเป็นผู้นํามาเผยแพร่ในประเทศศรีลังกาในช่วงปี พ.ศ.2424 ก่อนที่จะแพร่มายังประเทศไทยในเวลาต่อมา สาละลังกาจึงไม่ใช่ต้นไม้พื้นถิ่นที่สามารถเจริญเติบโตในสวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล หรือกรุงกุสินารา ประเทศอินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน

ต้นสาละอินเดีย อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นพะยอมและต้นรังของบ้านเรา มีจุดเด่นคือดอกที่ออกเป็นพวงสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นได้ในป่าและสวนรอบสังเวชนียสถาน อย่างไรก็ตาม ทั้งต้นสาละอินเดียและต้นสาละลังกาต่างเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและมีความสวยงามเฉพาะตัว หากแต่ควรมีการให้ความรู้และประวัติความเป็นมาที่ถูกต้อง

ใบของต้นโพธิ์ (ขอขอบคุณภาพ จาก ankit ahir)

2.ต้นโพธิ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa L.

วงศ์ MORACEAE

ปรากฎต้นศรีมหาโพธิ์ในพุทธประวัติ อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้านั่งประทับใต้ร่มเงาของต้นไม้โพธิ์ต้นนี้เพื่อบำเพ็ญเพียรและตรัสรู้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ อายุยืนยาวมาก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แผ่กิ่งก้านตรงออกไปและแผ่คลุมคล้านร่ม ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้างโคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง มักเจริญเติบโตจากสัตว์นำพา และด้วยความที่เติบโตง่ายได้ในดินทุกชนิดและต้องการน้ำปานกลาง จึงมักพบต้นโพธิ์ปรากฎอยู่ในซากปรักหักพังหรือพื้นที่รกร้างที่ไม่ค่อยมีคนอยู่อาศัยใบเป็นรูปใจ เมื่อลมพัดจะเห็นใบพลิ้วไหวช้าไปตามลมดูสวยงาม แต่หากปลูกในบ้านหรืออาคารควรระวังปัญหาเรื่องรากของต้นโพธิ์อาจทำให้บ้านหรือตัวอาคารเกิดความเสียหายได้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงนำพันธุ์ต้นโพธิ์ที่มาจากต้นพันธุ์ของต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยตรงนำมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกไว้ ณ วัดเปญจมบพิตรและวัดอัษฏางนิมิตร

บัว
บัวปทุมชาติหรือบัวหลวงสีชมพู

3.บัวปทุมชาติหรือบัวหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera Gaertn.

วงศ์ NELUMBONACEAE

ดอกบัวมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามากโดยเฉพาะในเชิงสัญลักษณ์ อันปรากฎทั้งลักษณะตัวแทนของพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าเอง หรือความบริสุทธิ์และปัญญา ในบางครั้งก็ทำหน้าที่เสมือนสิ่งที่ปกป้องอันตรายอีกด้วย ปรากฎในพุทธประวัติตั้งแต่ก่อนการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางสิริมหามายาผู้เป็นมารดาทรงมีพระสุบินนิมิตว่า พระนางได้เข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วพบช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากเขาเข้ามาหาพระนางชูงวงอันจับปทุมชาติสีขาวมีกลิ่นหอม เมื่อประสูติมายังเสด็จดำเนินไป 7 ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ นอกจากนั้นดอกบัวโดยเฉพาะตัวหลวงยังปรากฎในคำสอนและเหตุการณ์อีกมากมายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ คำสอนหนึ่งที่สำคัญคือทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่านั้น เนื่องด้วยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มานั้นยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างลึกซึ้งเท่ากัน

บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวที่ระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือวิธีการแยกไหล ออกดอกบายในช่วงเช้าดูความสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูง นิยมนำดอกตูมมาบูชาพระหรือนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ต้นกร่าง ต้นไม้ใหญ่
ต้นกร่างอายุกว่าสิบปีแผ่เรือนยอดอย่างเสรีให้ร่มเงาแก่เรือนต้อนรับที่อยู่บริเวณหน้าบ้าน
ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ
ใบของต้นกร่างต่างจากไทรทั่วไป (ขอขอบคุณภาพจาก UF/IFAS Assessment)

4.นิโครธหรือกร่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benghalensis L.

วงศ์ MORACEAE

นิโครธเป็นต้นไม้ประจำชาติของอินเดีย มีการกล่าวถึงต้นนิโครธอยู่พุทธประวัติ ในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้าว่าทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ ปรากฎอีกครั้งในช่วงก่อนพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขณะประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองมาถวาย หลังเสวยทรงใช้ถาดทองอธิษฐานเสี่ยงทายลงในน้ำ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นยังบางโอกาสก็มีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงประทับเพื่อแสดงธรรมอยู่ใต้ต้นนิโครธ

ต้นนิโครธหรือที่รู้จักกันในชื่อของต้นกร่าง มีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นไทรแต่ใบจะกลมรีรูปไข่ปลายใบมนและมีขนาดใหญ่กว่าไทรย้อยหรือไกร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบแผ่ออกกว้างมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็นแต่ต้องมีพื้นที่กว้างเพียงพอ ผลสามารถรับประทานได้และเป็นอาหารของนก

ซุ้มทางเข้าจากกรอบไม้แกะสลัก ซุ้มและประตูสวน
กรอบไม้แกะสลักกรุเป็นซุ้มทางเข้าและปลูกต้นจิกน้ำทรงสวยไว้ตรงกลางลานเพื่อรับมุมมองจากภายนอกดูสะดุดตา
จิกน้ำ
ดอกของต้นจิกน้ำ

5.มุจลินท์ หรือ จิกน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.

วงศ์ LECYTHIDACEAE

ปรากฎภายหลังจากตรัสรู้ ๗ วัน พระพุทธเจ้าทรงออกจากสมาธิแล้วเสด็จจากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์ เพื่อประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน หลังจากนั้นเกิดเมฆใหญ่ขึ้นเป็นฝนเจือลมหนาวตกตลอด ๗ วัน จนพญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของพระพุทธเจ้าเป็นขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรเพื่อป้องกันความหนาวและความร้อนรวมถึงเหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลาน

ต้นจิกน้ำเป็นต้นไม้ยืนต้นผลัดใบ ทรงพุ่มรูปวงรีหรือแผ่กว้าง มักพบทั่วไปทุกภาคตามริมฝั่งน้ำ ริมคลอง ริมบึง ป่าพรุและป่าชายเลน ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี ช่วยยึดหน้าดินริมตลิ่งได้อีก ออกดอกห้อยลงมาเป็นระย้า และทิ้งใบเหลือเพียงยอดใบสีแดง ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม

ต้นไม้มงคลในพุทธประวัติ
ต้นเกด ภาพจาก https://efloraofindia.com/
ดอกเกด ภาพจาก https://efloraofindia.com/

6.ราชยตนะ หรือ เกด

ชื่อวิทยาศาสตร์  Manilkara hexandra (Roxb.) Dubard

วงศ์ SAPOTACEAE

สัปดาห์สุดท้ายหลังจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ใต้ต้นราชายตนะเป็นเวลา 7 วัน ในระหว่างที่ประทับอยู่นั้น ได้มีพ่อค้า 2 คน ชื่อว่าตปุสสะและภัลลิกะนำกองเกวียนค้าขายจากแดนไกล ได้ถวายเสบียงที่ใช้ในการเดินทางคือสัตตุผงและสัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้า หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมแก่พ่อค้าทั้งสอง จึงเกิดปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือถึงพระพุทธและพระธรรม ก่อนกลับพ่อค้าทั้งสองได้ขอเส้นพระเกศา 8 เส้นเป็นของระลึกเพื่อนำไปบูชายังเมืองของตน

เกดเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 1525 เมตร กิ่งมีลักษณะคดงอเหมือนข้อศอก ทุกส่วนมียางขาว ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มักออกดอกราวเดือนมกราคม-กรกฎาคม ผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายผลมีติ่งแหลม ผลสุกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อนุ่ม กินได้ รสหอมหวานช่วยให้ชุ่มคอ นิยมนำมาใช้สร้างเรือเพราะเนื้อไม้ที่แข็งแรง และทนทาน  


รวม 50 พรรณไม้น่าปลูก ที่ใครๆก็ต้องอยากหามาปลูกในสวน

10 พรรณไม้ยืนต้นยอดฮิต ปลูกง่าย นำไปใช้ได้กับสวนทุกสไตล์