บ้านหลังนี้มาพร้อมกับโจทย์เรื่องพื้นที่ที่มีลักษณะแคบยาว สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างวิวสวนกลางบ้าน ให้เป็นช่องเปิดแบบ 3 in 1 ใช้นำแสงมาสู่ตัวบ้าน เป็นโถงบันได และคอร์ตยาร์ดที่มีต้นไม้ใหญ่ เชื่อมทุกพื้นที่เข้ามาไว้ด้วยกันอย่างมีความสุข
สถาปนิก: Bangkok Day Group โดย คุณกศิจสิณต์ สุวัฒนพิมพ์, คุณรัฐวุฒิ ยอดแก้ว และคุณกฤติน สุวรรณ์
เจ้าของ: คุณภัทรชัย ทีฆบรรณ
ข้อจำกัดกับความต้องการ
ที่ดินขนาด 45 ตารางวานี้ เป็นแปลงย่อยในบริเวณเดียวกับญาติๆ ของคุณบอมบ์-ภัทรชัย แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากและยังต้องมีระยะถอยร่นจากทั้งด้านหลัง ซ้าย ขวา แต่คุณบอมบ์และครอบครัวก็ได้ตัดสินใจเลือกแบบบ้านที่มีช่องเปิดตรงกลาง เป็นคอร์ตยาร์ดและ โถงบันได เพื่อเชื่อมโยงทุกพื้นที่เข้าหากัน ตามแบบที่ทาง Bangkok Day Group ได้นำเสนอมา โดยพิจารณาจากการใช้งานจริงเป็นหลัก ทั้งในเรื่องความเป็นส่วนตัว การควบคุมวิวภายนอกไม่ได้ วิถีชีวิตของคนในบ้าน และความไว้วางใจที่มีต่อผู้ออกแบบ โดยในครั้งแรกอาจจะไม่ได้มีภาพของบ้านสไตล์โมเดิร์นเป็นความต้องการแรก แต่เมื่อคุยถึงภาพรวมตามพื้นที่จริง ดีไซน์ที่ตามมาจึงชัดเจนขึ้น
บ้านโมเดิร์นที่ประนีประนอม
“พอเรารู้ว่ามีพื้นที่จำกัด เราจึงพยายามออกแบบให้ไปแนวทางโมเดิร์น เพื่อให้บ้านเรียบ โล่ง ไม่มีของชิ้นใหญ่เกินไป แต่ก็ไม่โมเดิร์นมาก แล้วใส่วัสดุที่ดูมีคุณค่าอย่าง วีเนียร์หิน หินสังเคราะห์ ไม้ ทำให้มันดูหรูหราขึ้นแต่ยังคงเรียบอยู่” คุณกุ๊ก-กศิจสิณต์ สุวัฒนพิมพ์ ผู้ออกแบบจาก Bangkok Day Group กล่าวถึงรูปแบบของบ้านที่เกิดขึ้นก็เพื่อแก้ปัญหาด้านพื้นที่ พร้อมกับการวางช่องเปิดใหญ่ไว้ตรงกลาง แบ่งพื้นที่ต่างๆ ออกเป็นสองฝากสอดรับกับพฤติกรรมของคนในบ้านที่ต้องการใช้งานพื้นที่เป็นส่วนๆ ไป
ส่วนหนึ่งการแบ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ ก็เพื่อการใช้งานที่เป็นส่วนๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่พร้อมกันทั้งหมดแบบแปลนบ้านโมเดิร์นที่หลายคนคุ้นตา ตามพฤติกรรมของคนในบ้าน ชั้นที่หนึ่งเป็นห้องรับประทานอาหารและครัว ซึ่งมีช่องทะลุผ่านสวนกระบองเพชรไปยังหน้าบ้านได้หากมีญาติแวะเวียนมาหาที่ด้านหน้าของบ้าน ชั้นสองเป็นแฟมิลี่รูมที่ยกเป็นดับเบิลสเปซ ดูโอ่อ่า ผนังกรุวีเนียร์หินจริง พร้อมแพนทรี่เล็กๆ ไว้ใช้งานเล็กๆ น้อยๆ เชื่อมกับชั้นลอยใช้เป็นพื้นที่ทำงานของภรรยาคุณบอมบ์ ส่วนชั้นสามเป็นห้องลูกสาว และชั้นสี่เป็นห้องนอนและห้องแต่งตัวใหญ่ สำหรับใช้งานยามกลางคืน
“การเชื่อมต่อพื้นที่ตอนแรกผมก็ยังไม่เห็นภาพ จนมาได้ใช้ชีวิตจริงๆ สมมุติว่ามีหลานมาเล่นกับลูกสาว ผู้ใหญ่อยู่อีกห้องก็มองเห็น กลายเป็นว่าประตู(กระจก) มันทำให้มองเห็นกัน โบกไม้โบกมือให้กันได้ ผมลงจากชั้นสี่เห็นภรรยานั่งอยู่ชั้นสองผมก็เห็น มองลงมาชะโงกมาอาหารทำเสร็จหรือยังผมก็เห็น ว่ามีอาหารมาวางล่ะพร้อมกินข้าวเย็นกัน” คุณบอมบ์อธิบายถึงการเชื่อมต่อภายในของบ้านที่มีช่องเปิดในแนวตั้งแบบนี้
ช่องเปิด โถงบันได และต้นไม้ใหญ่
จากแปลนที่กล่าวมา จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือการวางช่องเปิดไว้กลางบ้าน เกิดเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ขึ้นภายใน ช่องเปิดนี้ยาวทะลุตั้งแต่ชั้นหนึ่งไปจนถึงหลังคาชั้นสี่ ทำหน้าที่เป็น โถงบันได เชื่อมทุกพื้นที่เข้าหากัน คนในครอบครัวสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของสมาชิกได้พอสมควร ด้วยการกรุกระจกบานใหญ่ช่วยรับแสงให้เข้ามาในห้อง และรับวิวจากต้นซิลเวอร์โอ๊กต้นสูงไปถึงชั้นสี่ และถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวก็จะมีม่านเข้ามาช่วยแทนผนังทึบ
ด้านเหนือซึ่งติดกับบ้านอีกหลังในบริเวณแนวกันใช้อิฐช่องลมก่อเป็นกำแพง พร้อมออกแบบพิเศษเมื่อเสริมแผ่นกั้นภายในทุกช่องเพื่อบังแสงและบังตาเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นบรรยากาศแบบ Outside In, Inside Out ที่ดึงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน ส่วนแสงในทิศด้านหน้าบ้านถูกกั้นด้วยแผงตะแกรงเหล็กสีขาวตลอดแนว เนื่องจากอยู่ในทิศที่ค่อนข้างเฉียงไปทางตะวันตก
รายละเอียดที่สร้างเสน่ห์
องค์ประกอบอีกหลายจุดที่ทำให้บ้านหลังนี้มีลักษณะเฉพาะตัวยังมีอีกหลายจุด เห็นได้จากการวางตำแหน่งของไฟที่กำหนดให้วางตามผังของการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่ใช้สอย การสร้างพื้นผิวต่างๆ ของวัสดุเมื่อแสงธรรมชาติตกกระทบ การเลือกใช้ฟิตติ้งต่างๆ อาทิ มือจับ ก๊อกน้ำ หรือสุขภัณฑ์ที่มีดีไซน์โดดเด่นยามสัมผัสในระยะใกล้ ภายในห้องน้ำที่ดูจะใหญ่เมื่อเทียบกับพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นๆ
เป็นรูปแบบการตกแต่งที่หยอดความขัดแย้งอันกลมกลืนให้เข้ากับความดิบเล็กๆ น้อยๆ ของวัสดุอย่างเหล็ก คอนกรีต และพื้นไม้เก่าฟอกสีที่มีอยู่เดิม โดยได้ โถงบันได และต้นไม้เป็นตัวเชื่อม จนขอบเขตระหว่างภายในและภายนอกรวมกันเป็นพื้นที่แห่งความสุขของทุกคนในบ้านอย่างแท้จริง
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
ไอเดียบ้านสวยๆ ที่อยู่กับต้นไม้
ความรู้เรื่องหินจริง วีเนียร์หิน และหินสังเคราะห์
7 ไอเดียช่วยบ้านดูกว้างขึ้น