บ้านปูนเปลือย ทรงคล้ายกล่อง 2 กล่องที่เรียบง่าย โขว์ผิวผนังที่ไม่ฉาบทับดูดิบแต่มีเสน่ห์ พร้อมบันไดเหล็กสีน้ำเงินกลางบ้าน
บ้านปูนเปลือย ทรงกล่องขนาดกะทัดรัด ที่เจ้าของต้องการเน้นสเปซโปร่งโล่งอยู่สบาย ในพื้นที่ใช้สอยขนาด 175 ตารางเมตร เพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับน้องชาย ตัวบ้านจึงมีลักษณะคล้ายกล่อง 2 กล่องที่เรียบง่าย แยกพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวไว้คนละปีกตึก เชื่อมด้วยห้องรับประทานอาหารเปิดโล่ง โดยมีบันไดเหล็กสีน้ำเงินโดดเด่นอยู่กลางพื้นที่ปูนเปลือยที่โชว์ร่องรอยของผิวผนังที่ดิบแต่มีเสน่ห์เฉพาะตัว
หลายครั้งที่เราสร้างบ้านโดยไม่สนใจความเป็นมาก่อนที่บ้านหลังนั้นจะสร้างเสร็จ ในระหว่างทางนั้น ผ่านการแก้ปัญหาหน้างานและความตั้งใจ มากมาย แต่สุดท้ายเรากลับฉาบทับด้วยปูนและปิดทับด้วยวัสดุหรูหราทว่าไร้ความทรงจำ แต่เจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบ บ้านปูนเปลือย หลังนี้ กลับไม่คิดเช่นนั้น การเปิดเผยให้เห็นร่องรอยที่เหลือจากกระบวนการก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้เล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง เจ้าของบ้านคือ คุณหมวย – น้ำค้าง ปริวุฒิพงศ์ ตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ บนที่ดินหน้าบ้านของบ้านเดิม ซึ่งเธอเคยอาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้ตัวเองและน้องชายได้อยู่กันอย่างเป็นสัดส่วนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ทำงานของคุณหมวยที่จะไม่รบกวนผู้อื่นอีกด้วย
คุณหมวยมอบให้ คุณปัว – ศาวินี บูรณศิลปิน และ Mr. Tom Dannecker ในนามของ Thingsmatter ซึ่งเป็นเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนเป็นผู้ ออกแบบบ้านให้ เดิมบ้านหลังนี้ไม่ได้มีหน้าตาแบบที่เห็น แบบร่างแรกที่ร่างไว้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ดูต่างจากบ้านจริง ที่สร้างเสร็จในวันนี้ นั่นเพราะความคิดและทัศนคติของเจ้าของบ้านเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิตและการทำงาน บ้านก็แสดงออกตามตัวตนของเจ้าของบ้าน
“ตอนนี้คุณหมวยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนังและสินค้าเครื่องใช้ที่เราดีไซน์เองอยู่ค่ะ ชื่อ Mola + Taxidermy ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ของผู้เป็นเจ้าของแสดงออกมาผ่านการวางผังและการจัดพื้นที่ บ้านหลังนี้แบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 3 ส่วนหลัก คือ พื้นที่ส่วนของคุณหมวย พื้นที่ส่วนของน้องชายคุณหมวย และพื้นที่ส่วนกลาง โดยเราจะจัดเรียงตามลำดับ มีพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีความสูงเท่ากับสองชั้นคั่นกลาง พื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นเหมือนหัวใจสำคัญของบ้าน เพราะเป็นจุดรวมและกระจายผู้อยู่อาศัยให้มีความสัมพันธ์ร่วมกันในการอยู่ บ้านหลังนี้ โดยใช้ลักษณะของผนังที่ทึบตันแทนบริเวณที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และบานกระจกใสแทนส่วนที่ต้องการเปิดมุมมองและการระบายอากาศที่ดี”
การเข้าถึงภายในบ้านก็ไม่ได้จำกัดเพียงด้านเดียว เพราะมีประตูที่สามารถเข้าไปได้มากกว่าบ้านทั่วไป จะเข้าห้องทำงานชั้นล่างโดยไม่ต้องผ่านห้องนั่งเล่นก็ได้ ขณะที่บันไดเหล็กกลางบ้านเป็นส่วนที่สถาปนิกต้องการเน้นให้เกิดการแยกส่วน อย่างชัดเจน เช่น ส่วนไหนเป็นคอนกรีตก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ส่วนที่เป็นเหล็กก็แยกด้วยสีที่สดใส ดูตัดกันแต่ลงตัว
“ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่เรียบ เนียน มันวาว และดูเหมือนจะสื่อสารกับเราว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำด้วยเครื่องจักร แต่สำหรับบ้านหลังนี้ที่เจ้าของบ้านเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งของต่างๆมีความไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ แม้จะดูไม่เรียบร้อย แต่ก็สื่อความหมายของคำว่า ‘ทำมือ’ ได้เป็นอย่างดี
“ในแง่ของสถาปนิก เรารักงานที่กำลังก่อสร้าง เราไม่เคยรังเกียจผนังคอนกรีตหล่อในที่หรือผนังก่ออิฐที่ยังไม่ได้ฉาบเรียบ เราชอบติดต่อกับช่างและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน บางเรื่องที่ทั้งช่าง เจ้าของบ้าน และผู้ออกแบบ มาถกเถียงกันหน้างาน แต่สุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปเพื่อบ้านที่ดีและลงตัวที่สุด
เราจึงคิดว่าภาพลักษณ์ของงานก่อสร้างที่คนทั่วไปอาจดูว่ายังไม่เสร็จเป็นสิ่งที่ น่าทึ่งและน่าหลงใหลมาก ความงามอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือคอนกรีตหล่อ ซึ่งเราจะมานั่งลุ้นกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แม้จะมีความไม่สม่ำเสมอและไม่เรียบ แต่ทุกคนก็ได้มีส่วนร่วม เราลองเสนอเจ้าของบ้านว่าจะทำแบบนี้ และเขาก็ชอบ เราดีใจมากที่เจ้าของบ้านเห็นด้วยกับความคิดนี้”
คุณปัวยังเล่าต่อไปว่า “เรายังอยากลองว่ามีอะไรบ้าง ที่อยู่ในขอบเขตที่ช่างไทยทำได้ จึงอยากใช้ในขนาดที่เป็นงานก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งบ้านหลังนี้ถือว่าโชคดีมาก ที่ได้ช่างที่มีความตั้งใจ มีความสามารถจริงๆ และใจเย็น บางอย่างเราได้รับคำแนะนำจากช่าง ซึ่งรู้มากกว่าเราในแง่การก่อสร้างจริง เราก็ได้ความรู้มากขึ้น เมื่อบ้านเสร็จก็เป็นที่พอใจของทุกคน” วัสดุที่ใช้มีการปรับ เพื่อให้เข้ากับหน้างาน อย่างพื้นภายในบ้านใช้พื้น คอนกรีต ทำผิวหินขัด ซึ่งช่างไทยมีความชำนาญพอสมควรในการทำพื้นหินขัด และราคายังไม่แพงนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
โครงสร้างหลักเป็น คอนกรีต เสริมเหล็กหล่อในที่ ใช้ไม้แบบที่เลือกมาเป็นอย่างดีและใช้ลวดลายของไม้ แบบเป็นผิวของบ้านด้วย ส่วนเหล็กก็นำมาใช้กับส่วนที่เป็นบันไดหลัก โครงสร้างหลังคา และคานที่พาดยาว ซึ่งรับน้ำหนักของหน้าต่างกลางบ้านเอาไว้ บ้านนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แสงแดดจะเข้ามาจากทั้งสองด้านโดยตรง สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดที่เปิดกว้างมากที่สุด
เพื่อระบายอากาศร้อนออกไป และเพิ่มระแนงแนวนอนที่ช่องเปิดกระจกใส ระแนงนี้สามารถเลื่อนได้ ช่วยบังแสงแดดในส่วนที่ต้องการได้สะดวกขึ้น
คุณหมวย เจ้าของบ้านยังได้กล่าวถึงบ้านหลังนี้ในตอนท้ายว่า “เราไม่ต้องการฉาบหรือทาสีทับความเป็นวัสดุเดิมของตัวบ้าน งานระบบไฟฟ้า ก็เป็นการเดินลอยทั้งหมด ซึ่งก็ดูเข้ากับรูปแบบของบ้านนี้และยังบำรุงรักษาง่ายด้วย รู้สึกว่าบ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราตั้งแต่เริ่มออกแบบและก่อสร้าง เพราะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
ตอนก่อสร้างก็เดินจากบ้านเดิมมาดูทุกวัน คุยกับช่างและสถาปนิกบ่อยมาก จนคิดว่าทุกอย่างที่กำลังก่อตัวขึ้นไม่ควรจะ ถูกลบเลือนไปด้วยวัสดุกรุที่ไม่มีความหมายกับเรา ผนังหล่อในที่ที่มีร่องรอยการแก้ไข การตีเส้นเพื่อความเป็นระเบียบและได้ดิ่ง เรียกว่ามีเรื่องราวอยู่ในทุกส่วนของบ้านจริงๆ”
ช่วงบ่ายคล้อย แสงแดดเริ่มสาดเข้ามาภายในบ้าน ผมยืนอยู่ที่โถงนั่งเล่นกลางบ้าน พลางนึกถึงว่าในชีวิตหนึ่งมีอะไรที่ทำด้วยตัวเองจนเสร็จสิ้นบ้าง เมื่อนึกดูแล้วก็เข้าใจ แม้สิ่งนั้นจะดูธรรมดา แปลก หรือดูไม่เสร็จ แต่ก็มีค่าอย่างมหาศาลสำหรับผู้ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะสิ่งที่ “ทำมือ” มักรู้สึกได้ “ด้วยใจ” เท่านั้น
ออกแบบ : คุณศาวินี บูรณศิลปิน และ Mr. Tom Dannecker แห่งThingsmetter
เจ้าของ : คุณน้ำค้าง ปริวุฒิพงศ์
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล