บ้านปูน อยู่สบายไม่ร้อน เพราะออกแบบให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้บ้านเย็นสบายและน่าอยู่ และมีไอเดียในการจัดการกับแสงสว่างได้อย่างน่าสนใจ
นับเป็นโชคดีของเราที่วันนี้อากาศดีไม่ร้อนจัดและแสงแดดไม่แรงจนเกินไป เหมาะแก่การถ่ายภาพบ้านเป็นอย่างยิ่ง บ้านที่เรามาเยือนในครั้งนี้เป็น บ้านปูน ผสมความเป็นไทยร่วมสมัย ของ คุณจุ๊บ-ศศธร ภาสภิญโญ และคุณรินทร์-ภัทรกานต์ เศรษฐชัย ตั้งอยู่ในย่านพัฒนาการ บนพื้นที่ 100 ตารางวา
“เริ่มแรกเราอยากได้บ้านไทย สไตล์มินิมัล กล่าวคือมีโถงทางเดินอยู่ตรงกลางบ้านเหมือนบ้านไทย แต่การตกแต่งต้องดูเรียบ มีแฝงอารมณ์แบบญี่ปุ่นนิด ๆ และเปิดรับแสงธรรมชาติได้รอบบ้านโดยที่ต้องไม่เพิ่มความร้อนให้บ้านด้วย เราสองคนชื่นชอบการอ่านหนังสือ และมักเก็บภาพสไตล์การตกแต่งบ้านไว้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านของเรา”
จากที่จอดรถผู้ออกแบบทำทางเดินรอบบ่อปลาคาร์ป ก่อนจะนำเข้าไปสู่ตัวบ้าน การออกแบบดังกล่าวสร้างบรรยากาศแห่งการเชื้อเชิญ เปรียบเสมือนการต้อนรับจากเจ้าของบ้าน รอบบริเวณบ้านยังปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ดูร่มรื่น จึงสร้างความรู้สึกสดชื่นได้ดีก่อนเข้าไปสู่ภายในบ้าน ซึ่งสิ่งแรกที่พบคือโถงนั่งเล่นแบบดับเบิลสเปซที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย สะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้านทั้งสองที่ชื่นชอบความสบายและเป็นกันเอง ผู้ออกแบบใช้โถงบันไดกลางบ้านเป็นจุดเชื่อมโยงทุกพื้นที่ใช้งานตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ผนังที่ขนาบโถงนี้ทั้งสองด้านเป็นปูนเปลือย ดูเท่และทันสมัยแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ผสมผสานกับการเลือกใช้ไม้และไม้วีเนียร์ เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่ดูสะอาดตา โถงบันไดนี้ยังแบ่งบ้านเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วยส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร และแพนทรี่ที่ต่อเนื่องกัน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งและชั้นบนออกแบบเป็นพื้นที่ส่วนตัว
ภายในบ้านถึงแสงแดดจะส่องเข้ามาทุกทิศทุกทางผ่านทางช่องเปิดรอบบ้าน แต่กลับไม่รู้สึกร้อนมากนัก เพราะเจ้าของบ้านเลือกป้องกันด้วยการติดระแนงไม้ถี่ๆ ช่วยกรองแสงแดดให้เข้ามาน้อยลง รวมถึงต่อเติมกันสาดและหลังคา ทำให้สัมผัสกับลมเย็นๆ ที่ระเบียงด้านหน้าได้อย่างสบาย แล้วแสงแดดก็ให้ประโยชน์แก่เรา ถ้าเปิดรับในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปนอกจากให้ความโปร่่งสว่างและลดความอับชื้นแล้ว เมื่อตกกระทบกับระแนงไม้ยังสร้างมิติของแสงและเงาที่น่าสนใจให้บ้านได้ด้วย
เมื่อถามถึงมุมโปรดในบ้าน นอกจากโถงห้องนั่งเล่นแบบดับเบิลสเปซแล้ว ห้องอ่านหนังสือชั้นบนที่อยู่ด้านหน้าบ้านก็เป็นอีกมุมที่เจ้าของบ้านทั้งสองชื่นชอบ โดยออกแบบชั้นวางหนังสือให้สูงจนเกือบถึงเพดาน เพื่อเก็บหนังสือเล่มโปรดจำนวนมาก ที่พิเศษอีกอย่างคือการติดบานเลื่อนระแนงไม้ที่เลื่อนเปิดรับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ รวมถึงยังได้ชมวิวสวย ๆ ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ และบึงน้ำขนาดใหญ่ของโครงการหมู่บ้าน
ห้องนอนใหญ่เป็นอีกห้องที่ตกแต่งให้มีบรรยากาศแบบมินิมัล แฝงด้วยกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ทั้งจากพื้นไม้ ผนังสีขาว และการตกแต่งที่เรียบน้อย จัดวางเพียงเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น นอกจากส่วนของเตียงนอนแล้ว ยังมีมุมทำงานเล็ก ๆ ซึ่งสามารถเปิดรับลมได้จากหน้าต่าง 2 บานคู่ รวมถึงการออกแบบให้เชื่อมต่อกับห้องแต่งตัว และด้านในสุดเป็นห้องน้ำที่แบ่งสัดส่วนชัดเจน สามารถใช้งานได้พร้อมกัน มีระเบียงขนาดเล็กที่ยื่นออกไปจากห้องน้ำ สำหรับนั่งพักผ่อนและเปิดรับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน
เรียกได้ว่าบ้านหลังนี้ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้บ้านเย็นสบายและน่าอยู่ พร้อมกับความใส่ใจในทุกรายละเอียดของเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ ทำให้จุดเริ่มต้นที่ตั้งใจไว้แต่แรกมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งเจ้าของบ้านทั้งสองท่านก็รู้สึกอบอุ่นและเหมือนได้ชาร์ตแบตผ่อนคลายตลอดเวลาที่อยู่ในบ้านซึ่งโอบล้อมด้วยแสงหลังนี้
ไอเดียเปิดรับแสงแบบไม่ร้อน
กันสาดระแนงไม้ บริเวณระเบียงหน้าบ้านต่อเติมกันสาดและระแนงไม้ด้านบน เพื่อช่วยกรองแสงธรรมชาติไม่ให้จ้าและร้อนจนเกินไป
บานเลื่อนบังแสง ในมุมอ่านหนังสือออกแบบแผงระแนงไม้ให้กลายเป็นบานเลื่อนเปิด-ปิดได้ เพื่อเปิดรับแสงและลม รวมถึงนั่งชมวิวได้ตลอดทั้งวัน
ระเบียงช่องแสง ห้องน้ำชั้นบนออกแบบให้มีระเบียงยื่นออกไปจากห้องน้ำ เพิ่มพื้นที่นั่งพักผ่อนและใช้ตากผ้า โดยต่อเติมระแนงไม้เป็นผนัง ส่วนเพดานเป็นโครงเหล็กวางเรียงกันและเว้นช่องไว้รับแสง เพื่อให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่อับชื้น
เจ้าของ : คุณศศธร ภาสภิญโญ และ คุณภัทรกานต์ เศรษฐชัย
ออกแบบ – ตกแต่งภายใน : บริษัท สัปปายะ สตูดิโอ จำกัด โดยคุณวิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ
เรื่อง : Noon SD.
ภาพ : สังวาล พระเทพ