มอนสเตอร่า ที่สุดแห่งไม้ใบที่ปลูกง่ายและเลี้ยงได้ในบ้าน
มอนสเตอร่า ต้นไม้ใบที่ไม่เคยได้พักและกระแสไม่เคยตกไปจากแนวหน้าของต้นไม้มาแรงตลอดระยะเวลา 3-4 ปีให้หลังมานี้ ทั้งจากคนรักต้นไม้ทั้งในประเทศไทยเองหรือต่างประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ได้มีข่าวการซื้อขายต้นมอนสเตอร่ามิ้นต์ด่าง Monstera deliciosa var. borsigiana ‘mint’ (Variegated) ด้วยราคาสูงถึง 1,320,000 บาท ทำให้ มอนสเตอร่า กลายเป็นพรรณไม้ที่ผู้คนทั่วไปเริ่มกลับมาพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง เราจึงถือโอกาสนี้พาไปรู้จักกับต้นมอนสเตอร่าชนิดต่างๆ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ต้นนี้มีราคาสูงจนหลายๆคนตกใจ
ลักษณะทั่วไปของมอนสเตอร่า และการดูแล
มอนสเตอร่าเป็นชื่อสกุลหนึ่งของพรรณไม้ ในวงศ์ ARACEAE ซึ่งคำว่า Monstera มากจากภาษาละติน คำว่า monstrum มีความหมายว่า แปลกประหลาดหรือผิดปกติ ซึ่งมีที่มาจากรูปทรงของใบที่ดูแตกต่างจากต้นไม้ทั่วไป คือมีรูหรือริ้วอยู่บนใบ หลายคนตั้งสมมุติฐานว่ารูหรือรอยฉีกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้อาจช่วยลดแรงต้านลมในธรรมชาติที่พัดผ่าน หรือบางก็ว่าช่วยให้น้ำสามารถไหลลงไปที่รากและลำต้นได้ดียิ่งขึ้น
มอนสเตอร่ามีอยู่ในธรรมชาติประมาณ 47 ชนิด พบอยู่ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนภายในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ จัดอยู่ในประเภทต้นไม้เลื้อยขนาดกลางข้อสั้น สามารถเลื้อยไปได้ไกล 2-4 เมตร เมื่อโตเต็มที่ใบจะเปลี่ยนรูปตามแต่ละช่วยอายุและมีช่องรูแตกต่างกันไปตามแต่ละพันธ์ุ ส่วนใหญ่เมื่อต้นมีขนาดเล็กจะมีใบเรียบ แต่เมื่อโตเต็มที่จะมีรอยหยักเว้าและมีรู ดูคล้ายกันกับต้นไม้ในวงศ์เดียวกันอย่าง สกุลซินแด็ปซัส ราฟิโดฟอร่า และไพทอส เป็นต้น
มอนสเตอร่าจะมีปลีดอกสั้นและเป็นดอกสมบูรณ์เพศแต่ก็ไม่ค่อยพบได้บ่อยนัก ชอบสถานที่แดดรำไรและชุ่มชื้นมาก แต่ก็ปลูกเลี้ยงง่ายและทนต่อทุกสภาพอากาศ จึงไม่แปลกใจที่มอนสเตอร่าจะกลายเป็นตัวเลือกแรกของเหล่านักสะสมต้นไม้ใบและผู้ที่ต้องการนำต้นไม้มาตกแต่งภายในบ้าน เราควรปลูกมอนสเตอร่าในภาชนะบรรจุดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี แต่เมื่อต้นเริ่มโตขึ้นควรนำไปขึ้นหลักหรือปล่อยเลื้อยขึ้นต้นไม้ใหญ่ โดยหากไม่มีพื้นที่ให้เลื้อยเราสามารถตัดลำต้นใต้ข้อและนำไปขยายพันธ์ุด้วยการปักชำยอดและลำต้นต่อได้
มอนสเตอร่าจุดเริ่มต้นของกระแสไม้ใบฟีเวอร์
ความจริงมอนสเตอร่าเป็นหนึ่งในไม้ใบที่เข้ามาปลูกและจัดจำหน่ายในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีมาแล้ว แต่ก็จะถูกนำไปใช้ในลักษณะของต้นไม้คลุมดินหรือต้นไม้ประธานฟอร์มใบใหญ่สวยงามที่นิยมนำมาปลูกประดับเพื่อเพิ่มจุดเด่นในสวนโดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับแสงแดดรำไร จนกระทั่งราว 4 ปีที่แล้วในวงการตกแต่งภายในเริ่มนำไม้กระถางเข้ามาปลูกภายในอาคารหรือในบ้านอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยต้นไม้ที่เป็นที่นิยมในยุดแรกจะเป็นกลุ่มต้นไม้ยืนต้นอย่างยางอินเดีย จั๋งจีน ปาล์มไผ่ และไทรใบสัก แต่ก็จะมีมอนสเตอร่าพวงไปด้วยเสมอตั้งแต่ในช่วงเวลานั้นร่วมกับไม้ใบอื่นๆอย่าง พญาไร้ใบ ฟิโลเดนดรอน กวักมรกต หรือลิ้นมังกร
ในปีพ.ศ.2561 สำนักพิมพ์บ้านและสวนได้จัดพิมพ์ หนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants โดยคุณภวพล ศุภนันทนานนท์ ผู้เขียนตั้งใจรวบรวมไม้ใบหลากหลายสกุล โดยเน้นชนิดที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด และสอดแทรกชนิดที่น่าสนใจมากกว่า 500 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีพรรณไม้ในสกุลมอนสเตอร่าเข้าไปด้วย หนังสือดังกล่าวกลายเป็นหนังสือที่มียอดขายสูงเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มวางจำหน่ายและปัจจุบันยังมียอดพิมพ์ซ้ำสูงสุดอย่างต่อเนื่อง นั้นก็ส่งผลให้ต้นไม้ใบหลายชนิดที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีคนตามหาเพื่อซื้อเป็นจำนวนมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้
ในปีพ.ศ.2562 เริ่มมีศิลปินและคนดังสนใจหาซื้อต้นไม้ใบเข้ามาประดับตกแต่งภายในบ้านกันมากขึ้น อีกทั้งยังโพสภาพของตนเองคู่กับต้นไม้ใบลงในโลกโซเชียลส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือ คุณญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสงชื่อดัง ซึ่งเธอได้โพสภาพตัวเธอคู่กับไม้ใบที่เธอปลูกในบ้าน อาทิ ยางอินเดีย (วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2562) ไทรใบสัก (วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2562) และมอนเตอร่า (วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2562) สิ่งที่ตามมาคือต้นไม้ใบกลายเป็นที่พูดถึงในสื่อหลักและคนทั่วไปให้ความสนใจเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประกอบกับเป็นช่วงล็อคดาวน์อยู่กับบ้านด้วยสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่าเข้มขันที่คนส่วนมากไม่สามารถเดินทางออกไปพักผ่อนภายนอกที่อยู่อาศัยได้ การปลูกต้นไม้ใบในบ้านหรือไม้ฟอกอากาศจึงกลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตที่ทุกคนต้องทำเพื่อผ่อนคลายและอัปเดตลงในโลกโซเชียล ทำให้ต้นไม้ใบที่เหล่าศิลปินชื่อดังได้โพสรูปลงในโซเชียลทุกชนิดกลายเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก และท้องตลาดในเวลานั้นไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของกระแสความนิยมของคน แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือราคาของต้นไม้ดังกล่าวที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในชั่วข้ามคืน
ผลพวงที่ตามมาทำให้วงการต้นไม้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หลังจากเหล่าต้นไม้ใบกลายเป็นที่นิยมและราคาดีดขึ้นสูงจากเดิมหลายสิบเท่านานอยู่หลายเดือน เริ่มเกิดพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ที่เริ่มขายต้นไม้ใบด้วยใจรักโดยเริ่มจากเป็นผู้สะสมก่อนในช่วงแรก วงการตลาดต้นไม้ก็เริ่มผลิตต้นไม้ใบได้เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการณ์การล็อคดาวน์ก็ถูกผ่อนคลายลง ผู้คนทั่วไปเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ต้นไม้ใบบางชนิดอย่างกลุ่มต้นไม้ยืนต้นเช่น ยางอินเดียหรือไทรใบสักที่สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากและโตเร็วทันความต้องการของลูกค้า เริ่มกลับมามีราคาถูกลงเกือบเท่าปกติ จะมีก็แต่ต้นไม้ใบบางชนิดอย่างมอนสเตอร่า หรือต้นไม้ชนิดอื่นในวงศ์ ARACEAE ที่แม้จะเพาะพันธุ์ง่ายด้วยการปักชำหรือเพาะเนื้อเยื่อ แต่ก็จัดว่าโตช้าและยังเป็นที่ต้องการในท้องตลาดอยู่ เหตุผลส่วนใหญ่มาจากต้นไม้ดังกล่าวสามารถปลูกในบ้านได้ดีกว่าต้นไม้อื่นหลายชนิด ทั้งยังทนทานและสวยงามมาก จนทำให้มีคนกลุ่มใหญ่เริ่มหลงรักและให้ความสนใจต้นไม้ใบในกลุ่มนี้จนเดินเข้ามาสู่วงการไม้ใบอยู่ไม่ขาดสายและยากเกินจะถอนตัว นอกจากนั้นต้นไม้กลุ่มดังกล่าวยังมีชนิดพันธุ์อีกจำนวนมากให้ได้ลองหาและซื้อมาสะสมตามงบประมาณของตัวเอง ที่สำคัญในปัจจุบันก็มีการผสมสายพันธุ์ใหม่ๆมาป้อนความต้องการของกลุ่มนักสะสมเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ต้นไม้ในกลุ่มนี้มีตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักแสน โดยหลักแสนก็จะเป็นกลุ่มต้นไม้กลายพันธุ์และต้นไม้สายพันธุ์ใหม่ที่คนส่วนมากยังไม่ได้เป็นเจ้าของนั้นเอง
เล่นกันด้วยสีใบ จากไม้ใบเขียว สู่ ไม้ใบด่าง
นอกจากมอนสเตอร่าหรือต้นไม้ใบบางชนิดจะเป็นชนิดพันธุ์ที่หายากและปลูกเลี้ยงยากแล้ว สีของใบที่เกิดจากการกลายพันธุ์หรือการผสมหาสายพันธุ์ใหม่ๆก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยและสิ่งเล้าที่ยั่วยวนหัวใจของนักสะสมให้อยากได้มาครอบครองเป็นของตน เหมือนของสะสมรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่นชนิดอื่นๆ ซึ่งลักษณะการด่างอันเกิดจากยีนด้อยที่ส่งผลให้ใบบริเวณหนึ่งไม่สามารถสังเคราะห์คลอโรฟิลล์หรือสังเคราะห์ได้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ใบไม่มีสีเขียวเหมือนที่ควรเป็น ซึ่งนอกจากจะเกิดได้ยากในธรรมชาติแล้ว แม้แต่การตัดต่อพันธุกรรมหรือยิงรังสีแกรมม่าเองก็ทำให้เกิดลักษณะการกลายพันธุ์ดังกล่าวตามที่ใจต้องการได้ยากเช่นกัน ซึ่งผู้ที่มีต้นไม้ด่างอยู่ในครอบครองเองก็ไม่ต้องการนำไปขยายพันธุ์ในจำนวนที่มากเพื่อทำให้ต้นไม้ที่ตนเองมีอยู่กลายเป็นต้นไม้ตลาดที่ราคาถูกลง หรือหากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายเองก็เป็นเรื่องยุ่งยากเช่นกัน เพราะต้นที่นำไปเเพาะให้หากไม่ใช้ส่วนยอดก็มีโอกาสที่ต้นไท้ทีตัดไปเพาะชำจะกลับมาแตกยอดกลับไปเขียวตามเดิมได้ หรือหากแตกใหม่ก็อาจไม่ได้เกิดลวดลายหรือสีสันแบบเดิม มันก็ทำให้ต้นไม้ด่างในกลุ่มนี้ยังเป็นที่ต้องการและเนื้อหอมอยู่ในทั้งวงการต้นไม้ไทย และหากไปสำรวจตลาดต้นไม้ใบในต่างประเทศเองก็จะพบว่ามอนสเตอร่าหรือไม้ใบสีด่างในราคาหลักล้านเป็นราคาตลาดที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือผิดปกตินัก โดยเฉพาะถ้าหากต้นนั้นมีฟอร์มที่สวยงามและใบสมบูรณ์ไร้ที่ติหรือริ้วรอย
สามารถอ่านเรื่องปัยจัยที่ทำให้ต้นไม้ใบด่างและวิธีการดูแลได้ที่นี่
กลไลราคาเป็นหลักเศษฐศาสตร์ง่ายๆที่เราควรเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เสมอ เมื่อความต้องการของผู้ใช้มากกว่าจำนวนของที่ผลิต ราคาสิ่งๆนั้นก็ย่อมสูง แต่เมื่อความต้องการของผู้ใช้น้อยกว่าจำนวนของที่ผลิต สิ่งๆสิ่งนั้นก็ย่อมราคาถูกลงเช่นกัน เรื่องราคาต้นไม้หลักล้านนั้น ไม่ใช้เรื่องแปลกใหม่ ย้อนไปในช่วงปีค.ศ. 1600-1700 ดอกทิวลิปเองก็เคยมีราคาสูงได้เท่ากับปราสาทหนึ่งหลังในยุโรป จนทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ทิวลิป(The Dutch Tulip Mania Bubble) เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากเรามองต้นไม้เป็นการให้คุณค่าของความงามส่วนบุคคล เราเองก็อาจเข้าใจได้ว่ามนุษย์สามารถจ่ายเงินได้จำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับความงามและความสุขที่ต้องการ เช่นเดียวกับงานศิลปะ เพชรพลอย ทองคำ หรือของสะสมต่างๆ ทั้งหมดนี้ก็มีต้นทุนที่ผ่านการตีราคาโดยผู้ผลิต และบางครั้งความงามมันมีราคาที่ต้องจ่าย แล้วมีคนยินดีจ่ายโดยไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ที่นี่เราก็มาลองจับตากันดูสิว่ามอนสเตอร่าจะผงาดเป็นไม้ใบค่าตัวสูง สมกับฉายา “ราชินีแห่งไม้ใบ” ที่หลายคนให้ไว้ได้นานแค่ไหน ในขณะที่บอนสีและไม้ใบตัวอื่นก็เตรียมขึ้นแย่งชิงตำแหน่งนี้คืนมาเช่นกัน แต่ตราบใดที่ไม้ใบด่างยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ยากและไม่สามารถทำจำนวนได้มากเช่นเดียวกับ โป๊ยเซีน ชวนชม กล้วยไม้ หรือลั่นทม ก็ยากที่ราคาค่าไม้ด่างจะขายไม่ออกหรือถูกลงอย่างที่บางคนคาดการณ์
มอนสเตอร่าชนิดต่างๆที่ควรรู้ หน้าต่อไป