เชื่อว่าอุณหภูมิที่ร้อนถล่มทลายทำลายสถิติสูงขึ้นทุกปีๆ การอยู่ในอาคารใต้หลังคาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว การหาต้นไม้ใหญ่มาปลูกในบริเวณบ้านเพื่อให้ร่มเงาอาจเป็นทางออกที่ดี ซึ่งส่งผลช่วยลดความร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมแบบไม่ต้องสงสัย ปลูกต้นไม้ล้อม
ปลูกต้นไม้ล้อม อย่างไรให้ถูกวิธี
- ขุดหลุมปลูกให้กว้างมากกว่าลึก
- ปรุงดินปลูกเองอย่างถูกวิธีแทนการใช้ดินถุง
- คลุมหน้าดินหนา 2 เซนติเมตร
- ไม่พันลำต้นด้วยกระสอบหรือวัสดุอื่นๆ
- ไม่ใช้ค้ำยันมากจนเกินไป
- ให้ปุ๋ยกับต้นไม้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
- ไม่ควรตัดกิ่งลิดใบทิ้งทั้งก่อนและหลังปลูก
แต่รู้หรือไม่ว่าต้นไม้ใหญ่ที่เราล้อมมาปลูกก็มีวิธีปลูกที่ต่างจากต้นไม้ทั่วไป ซึ่งหลายคนมักทำผิดวิธีส่งผลให้ต้นไม้ล้อมตายหรือเติบโตมาเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง บ้านและสวนร่วมกับกลุ่ม Big trees ขอนำเสนอวิธีการ ปลูกต้นไม้ล้อม แบบถูกวิธีมาให้รู้กัน ดังนี้
1.ขุดหลุมปลูกให้กว้างมากกว่าลึก
แต่เดิมเราอาจเข้าใจผิดว่าควรขุดหลุมปลูกให้ลึกถึงจะดี เนื่องจากอาจคิดว่าดินจะช่วยพยุงโคนต้นให้ตั้งตรงได้เร็ว หรือเป็นความเข้าใจที่ผิดว่ารากจะสามารถลงไปแทงหาอาหารได้ลึก ความจริงแล้วรากที่หาอาหารจะอยู่บริเวณใกล้ผิวดินและแผ่ออกไปด้านข้างมากกว่าแนวลึก มีต้นไม้ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะไปแทงรากแก้วลงไปลึก ดังนั้นควรขุดหลุมให้มีปากหลุมลึกเพียง 15-30 เซนติเมตร ยิ่งต้นไม้ล้อมที่ปลูกอยู่ในตุ้มดินเป็นระยะเวลานาน การขุดหลุมปลูกให้มีปากกว้างที่สุดตั้งแต่ครึ่งหนึ่งถึงสองเท่าของทรงพุ่มใบจะส่งเสริมให้ระบบรากสมบูรณ์ มีผลทำให้ลำต้นแข็งแรงและพุ่มใบเจริญเร็ว
2.ปรุงดินปลูกเองอย่างถูกวิธีแทนการใช้ดินถุง
ไม่ควรใช้ดินปลูกที่วางขายใส่ถุงในท้องตลาดมาเป็นดินปลูกสำหรับต้นไม้ล้อมหรือต้นไม้ทั่วไปอื่นๆ เนื่องจากดินปลูกที่ใส่ถุงขายเหล่านั้นส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแกลบดำหรือใช้วัสดุอื่นที่มักไม่ย่อยสลายตัว ทำให้หลุมปลูกไม่มีสารอาหารและมีเพียงตุ้มดินที่ติดมากับรากไม้กลายเป็นที่หมักปุ๋ย พวกวัสดุปลูกที่ไม่ย่อยสลายจะแย่งแร่ธาตุอาหารและความชื้นทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต รวมทั้งอาจมีเชื้อโรค รา ไข่แมลง และเชื้อวัชพืชติดตามมาด้วย ยิ่งถ้าดินรอบๆเป็นดินเลวหรือดินที่พึ่งถมใหม่ควรใช้ดินคุณภาพจากหน้าดินดีหรือผสมปุ๋ยหมักที่พร้อมใช้งานแล้วพรวนให้โปร่ง
3.คลุมหน้าดินหนา 2 เซนติเมตร
คลุมปากหลุมที่กลบแล้วด้วยวัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช โดยควรใช้วัสดุคลุมดินเช่น หญ้าไทรตากแห้งสับ กาบมะพร้าวสับผสมขุยมะพร้าวที่ไม่มีเส้นใย ปุ๋ยหมักหยาบที่สลายตัวแล้ว ไม้บดจากโรงเลื้อย หรือเศษไม้สับที่ไม่ต้องหมัก จะผสมกันหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยไม่ควรใส่ให้ชิดโคนต้นเพราะอาจเป็นสาเหตุเกิดเชื้อราหรือที่อยู่ของแมลงได้ และไม่ควรปลูกหญ้าหรือต้นไม้คลุมดินเพราะต้นไม้เหล่านี้โตเร็วและมักไปแย่งสารอาหารจากต้นไม้ที่เราพึ่งปลูกได้ ทำให้ต้นไม้ที่เราปลูกใหม่โตช้า
4.ไม่พันลำต้นด้วยกระสอบหรือวัสดุอื่นๆ
เป็นความเข้าใจที่ผิดว่าการพันลำต้นด้วยกระสอบหรือวัสดุที่ช่วยรักษาความชื้นแก่ต้นไม้และช่วยป้องกันแสงแดดจัดในระยะแรก แต่การพันต้นไม้ให้เกิดความชื้นอาจเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของหนอน แมลงและเชื้อรา ถ้าหากมีแผลที่ลำต้นก็อาจทำให้มองไม่เห็นและไม่ทันได้รักษาแก้ไข ควรใช้วิธีกำบังแบบอื่นเช่น ทำม่านตะข่ายพลาสติกรอบต้นในทิศใต้หรือทิศตะวันตกเพื่อพรางแสง
5.ไม่ใช้ค้ำยันมากจนเกินไป
โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องยึดโยงส่วนที่สัมผัสกับลำต้น ควรใช้วัสดุแบนและยืดหยุ่นได้พอสมควรเช่น แถบพลาสติกอ่อนหรือแถบยาง การใช้ลวดหรือเชือกที่คมจะทำให้สีกับลำต้นจนเกิดแผลได้หรือรัดลำต้นแน่น หากปล่อยไว้นานจนกลืนเข้าไปในเนื้อไม้จะเกิดบาดแผลและลำต้นหักได้ ควรใช้ค้ำยันเพื่อป้องกันแรงลม คน สัตว์ หรือยาพาหนะ การตรึงต้นไม้ด้วยค้ำยันที่มั่นคงและยาวนานเกินไปจะทำให้ลำต้นไม่แข็งแรงเนื่องจากต้นไม่สามารถขยายใหญ่ได้ โดยทั่วไปควรค้ำยันไว้ประมาณ 1-2 ปีก็เพียงพอ
6.ให้ปุ๋ยกับต้นไม้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
ต้นไม้ล้อมที่พึ่งนำมาปลูกใหม่ระบบรากยังไม่สามารถเอาสารอาหารจากปุ๋ยไปใช้ได้ การใส่ปุ๋ยในระยะแรกนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้วยังเป็นการเร่งให้วัชพืชโตเร็ว เพราะวัชพืชโดยทั่วไปจะมีระบบแข็งแรงจึงแย่งอาหารจากต้นไม้ที่ปลูกใหม่ได้โดยง่าย หากจำเป็นต้องให้ปุ๋ยในระยะแรกควรใช้ปุ๋ยแบบชนิดพ่นทางใบต้นไม้จะดูดซึมได้ดีกว่า โดยเราจะสามารถให้ปุ๋ยทางระบบรากปกติสำหรับต้นไม้ที่ปลูกอย่างถูกวิธีในช่วงต้นฤดูฝนแรกหลังจากปลูก โดยก่อนให้ปุ๋ยควรทำการถอนวัชพืชและเกลี่ยวัสดุคลุมดินออกให้หมดก่อน
7.ไม่ควรตัดกิ่งลิดใบทิ้งทั้งก่อนและหลังปลูก
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกันคือการตัดกิ่งลิดใบทิ้งทั้งก่อนปลูกหรือหลังปลูก แต่ความจริงแล้วใบไม้คือแหล่งผลิตอาหารและคายน้ำ ช่วยให้เกิดแรงดูดน้ำจากรากสู่ส่วนบ่อนของต้นไม้ หากต้นไม้ไม่มีใบหรือมีใบน้อย ต้นไม้จะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้หรือใช้น้ำไปเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร ควรปล่อยกิ่งและใบที่ไม่เสียหายและไม่เป็นโรคเอาไว้ เพื่อช่วยสร้างอาหารให้มากที่สุดก่อน เมื่อต้นไม้แตกกิ่งหรือใบใหม่เพียงพอแล้ว จึงพิจารณาตัดกิ่งหรือใบตามรูปทรงที่เหมาะสม
เรื่อง : กลุ่ม Big trees และ หนังสือ ต้นไม้ใหญ่ในการก่อสร้างและพัฒนาเมือง โดย ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ
ภาพประกอบ : อภิสิทธิ์ น้าวประจุล