บ้านไม้มินิมัล สเปซโปร่งๆ ที่อบอุ่นด้วยงานไม้
บ้านไม้มินิมัล เน้นเส้นสายของอาคารที่เฉียบคมดูเรียบง่ายแต่แฝงด้วยรายละเอียดของเทคนิคงานช่างมากฝีมือ
ตลอดเวลา 30 ปีที่สวมหมวกนายช่างใหญ่เพื่อควบคุมการสร้างบ้านและอาคารให้สถาปนิกชั้นนำของไทยมาหลายต่อหลายหลัง นอกจากจะได้สร้างผลงานคุณภาพที่ทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านไว้ใจแล้ว คุณขจี เกศจุมพล ยังบอกด้วยว่าเขาเองก็ได้เรียนรู้ภาษาของสถาปัตยกรรมนอกห้องเรียนอยู่มากมาย และสะสมเป็นประสบการณ์อันมีคุณค่ามาจนถึงวันที่เขาตัดสินใจนำมาใช้กับการรีโนเวตบ้านหลังเดิมของตัวเองให้ตอบรับการใช้งานได้มากขึ้น และกลายเป็น บ้านไม้มินิมัล ที่สวยเท่จนสถาปนิกเองยังเอ่ยชม
“ผมซื้อบ้านนี้มาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซื้อเพราะชอบต้นแก้วที่อยู่หน้าบ้านนี่แหละ ส่วนอื่นๆ คิดว่าน่าจะรีโนเวตเองได้ ซึ่งตอนนั้นก็ทำไปหลายอย่างก่อนจะมาปรับอีกครั้งในรอบนี้ เพื่อให้รับกับความต้องการและยุคสมัยมากขึ้นก็เลยเพิ่มพื้นที่ชั้น 3 ขึ้นมา แล้วตกแต่งให้เป็นเหมือนเพ้นต์เฮ้าส์ที่ผมกับภรรยาอยู่ด้วยกัน ยกพื้นที่ชั้น 2 ให้ลูกสาว ชั้นล่างก็เป็นพื้นที่ส่วนกลางและที่อยู่ของน้องหมา 3 ตัว ส่วนลูกชายอยู่บ้านอีกหลังหนึ่งใกล้ๆ กัน”
แนวทางการออกแบบตัวบ้านหลักๆ เน้นให้สอดคล้องกับบริบทของธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพราะคุณขจีต้องการเก็บร่มเงาและความสดชื่นทุกอย่างไว้ ระยะต่างๆ ของบ้านจึงกำหนดขึ้นมาจากการหลบเลี่ยงต้นไม้ทุกต้นที่มีอยู่ ไม่ว่าจะด้วยการเจาะช่อง ร่นระยะผนัง และเปิดคอร์ตให้ต้นไม้เหล่านี้ยังชูกิ่งก้านใบได้สวยงามเหมือนเดิม แถมยังใช้เป็นช่องแสงธรรมชาติเพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้เอง อีกทั้งเพิ่มความปลอดโปร่งให้ผู้อาศัยภายในบ้านไปในตัว
“ผมชอบต้นไม้มาก เพราะให้ร่มเงา ให้ออกซิเจน กรองฝุ่นกรองแดด และช่วยให้บ้านเย็นสบาย ส่วนภายในก็ปล่อยให้เรียบโล่งแบบมินิมัล เพราะอยู่แล้วสบายตาสบายใจ ดูแลง่าย ถึงจะมีของเยอะแต่ก็ทำช่องเก็บของบิลท์อินซ่อนไปกับผืนผนังให้หมด เวลาอยากได้ของอะไรใหม่ ก็ต้องหาทางปล่อยของเดิมไป ไม่ว่าจะยกให้ลูกน้องหรือขายก็ตาม มันทำให้เรามีชาเลนจ์และสนุกกับข้าวของใหม่ๆ ได้ตลอด”
ความมินิมัลที่เรียบโล่งไม่ได้อยู่แค่สเปซว่างๆ ขนาด 265 ตารางเมตรเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าผ่านวัสดุตกแต่งที่เลือกใช้โดยเฉพาะงานไม้ซึ่งนำมาปูในส่วนของพื้น ผนัง ตลอดจนฝ้าเพดาน เรียกว่าเกือบจะแทบทุกส่วนของบ้าน และมีส่วนผสมของเหล็กสีดำกับกระจกเข้ามาผสานอย่างละนิด เพื่อเพิ่มมิติและตอบสนองฟังก์ชันตามที่จำเป็น เช่น ผนังเหล็กสีดำที่ใช้เป็นโครงยึดบันไดไม้ทางขึ้นสู่ชั้น 2 หรือผนังบานเลื่อนกระจกที่ใช้กั้นห้องครัวไว้เป็นสัดส่วนโดยไม่ให้รู้สึกปิดทึบ
“ผมชอบสัมผัสของไม้นะ ตั้งแต่ทำงานช่างมาผมก็ซื้อไม้เก่าเก็บสะสมมาโดยตลอด ไม้ที่ผมใช้ทำบ้านพวกนี้จึงเป็นไม้เก่ากว่าสามสิบปีและนำเข้าจากลาว ผมมองว่าการสร้างบ้านด้วยไม้ก็เหมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง เหมือนที่คนอื่นลงทุนไปกับที่ดินหรือทอง แต่แบบนี้ทำให้เราสัมผัสกับคุณค่าของไม้พวกนี้ได้ทุกวัน มันมีกลิ่นธรรมชาติจางๆ ที่ช่วยเติมพลังชีวิตให้เรา รวมไปถึงพวกต้นไม้ที่ผมปลูกรอบบ้านซึ่งเน้นเป็นไม้มงคลหายาก โบราณเชื่อว่าปัดเป่าสิ่งร้ายๆ ไม่ให้เข้ามารบกวนได้ด้วย”
เฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่น้อยชิ้นเองก็มีวัตถุประสงค์การใช้งานที่ชัดเจนและกลมกลืนไปกับสเปซโปร่งๆ ด้วยเส้นสายที่เรียบนิ่งกับสัมผัสที่อบอุ่นของงานไม้ แม้แต่ตัวที่มีขนาดใหญ่อย่างโซฟาหรือเตียงนอนก็ยังผ่านการออกแบบโครงหลักให้ดูเหมือนเบาและลอยอยู่เหนือพื้น ขับเน้นความโปร่งเบาแบบนี้ให้ชัดขึ้นด้วยแสงไฟที่ซ่อนอยู่ โดยมีทีมสถาปนิกจาก Unknown Surface Studio มาช่วยออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่า “เรามองบ้านหลังนี้เหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เป็นบ้านที่มีคุณค่าทางจิตใจกับเจ้าของบ้าน เพราะเขากลั่นกรองมาจากตัวตนและก็มีคุณค่าในเชิงวัสดุเองด้วย เราเลยอยากให้ไลท์ติ้งเป็นตัวเน้นงานศิลปะนี้ให้ชัดและสวยขึ้นในเรื่องมุมมองกับความงามของวัสดุไม้ที่เลือกใช้”
หลังจากที่สร้างบ้านให้คนอื่นมามากมายเป็นร้อยหลัง การสร้างบ้านดีๆ ให้ตัวเองและครอบครัวอยู่จึงเป็นความฝันที่คุณขจีวาดหวังไว้ในใจมาตั้งแต่สมัยเด็กที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และอาศัยบ้านเช่าอยู่กับพี่ๆ น้องๆ ซึ่งวันนี้ฝันของเขาสมบูรณ์แบบและอบอุ่นสวยงามอยู่ในผิวสัมผัสของไม้ที่เขารัก มีช่องแสงได้มองเห็นพื้นที่สีเขียว มีรอยแดดที่พลิ้วไหวผ่านเงาไม้บอกถึงความเคลื่อนไหวของเวลา ไม่แปลกเลยที่คุณขจีจะบอกว่าที่นี่คือสวรรค์น้อยๆ ที่เขาบ่มเพาะและ “ปลูก” ขึ้นเองด้วยจิตวิญญาณ หวังให้เติบโตตามจินตนาการเพื่อให้คนที่รักได้อยู่อาศัยพร้อมเอนกายลงนอนได้อย่างมีความสุข
เจ้าของ : คุณสุพรรณี วิจิตพาวรรณ และคุณขจี เกศจุมพล บ้านไม้มินิมัล
ออกแบบตกแต่ง : คุณขจี เกศจุมพล
ออกแบบแสงไฟ : Unknown Surface Studio
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์