สวนสไตล์ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ช่วยเชื่อมพื้นที่และความสัมพันธ์ระหว่างบ้านสองหลัง

ว่ากันว่าธรรมชาติช่วยเยียวยาเราได้เสมอ ตั้งแต่ให้อากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ สร้างความสดชื่นทุกครั้งที่ได้มองเห็น และในบางครั้งก็ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวอีกด้วย เหมือนเช่นสวนสไตล์ผสมผสานกันในบ้านจัดสรรสองหลังนี้

เจ้าของ: นายแพทย์เชาวณิชย์ โพธาธนายง และแพทย์หญิงพิณประภัสร์ พาปาน

ออกแบบ : บริษัทสวนลีลา จำกัด โทรศัพท์ 08-7051-8000

ซุ้มศาลาสีขาวพรางแสงด้านบนด้วยระแนงเหล็กดูแข็งแรง สำหรับให้คนในบ้านได้ออกมาชมสวนในช่วงเช้าและเย็น ในอนาคตยังจะได้ร่มเงาจากต้นจิกน้ำและกันเกรา อีกทั้งโครงของศาลายังสามารถติดหลังคาหรือกั้นเป็นห้องได้ด้วย
ผนังน้ำพุรูปสิงโตตามแบบสวนสไตล์อิตาลี นำมาลดทอนให้ดูเบาลงด้วยผนังตะแกรงโครงเหล็กสีขาวซ้อนกับฉากระแนงไม้ โดยส่วนผนังน้ำพุยังคงสีและลายกระเบื้องหินตามแบบดั้งเดิม
น้ำพุหน้าบ้านสร้างเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายและรับรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวภายในสวน ช่วยให้มุมสนามหญ้าดูไม่เรียบนิ่งจนเกินไป
มุมไม้อวบน้ำอย่างอากาเว่ที่จัดคู่สวนหินกรวดแม่น้ำ ช่วยเบรกความรู้สึกและสร้างความเชื่อมต่อระหว่างสนามหญ้ากับบ่อน้ำพุให้เกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

คุณหมอเชาว์- นายแพทย์เชาวณิชย์ โพธาธนายง และคุณหมอแนน-แพทย์หญิงพิณประภัสร์ พาปาน สองสามีภรรยาตัดสินใจเลือกบ้านแปลงริมสุดสองหลังที่หันหลังชนกัน ซึ่งตำแหน่งของบ้านถูกจัดวางไว้อย่างเป็นสัดส่วน โดยไม่สร้างกำแพงกั้นระหว่างบ้าน เพื่อให้ทั้งสองหลังหันหน้าเข้าหากันโดยมีสวนเป็นตัวเชื่อม

“ผมเชื่อว่าบ้านจะสวยได้ก็ต้องมีสวนที่สวยด้วย ถึงจะเป็นบ้านที่สมบูรณ์ เราจึงมองหานักจัดสวนเก่งๆว่ามีใครบ้าง ก็ได้ข้อมูลจากหนังสือและคลิปวิดีโอของบ้านและสวน จนได้ติดต่อกับ คุณศักดิ์และคุณเอ๋ – ลีลาวดี เรืองพร้อม แห่ง สวนลีลา ก็ดีใจที่ได้ทั้งสองมาจัดสวนให้ ผมและครอบครัวมีบ้านเกิดที่จังหวัดราชบุรี บวกกับเป็นคนชอบต้นไม้อยู่แล้ว ก็เลยอยากให้สวนของเรามีบรรยากาศชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็อยากให้มีกลิ่นอายของสวนยุโรปปะปนอยู่ด้วย” คุณหมอเชาว์เล่า

บริเวณสนามหญ้าปลูกพุดกังหันซึ่งเป็นไม้พุ่มสวย รูปทรงสูงโปร่ง เพื่อไม่ให้เกิดร่มเงาที่มากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้หญ้าตายได้
ทางเดินแผ่นหินเชื่อมระหว่างสนามหญ้ากับสวนด้านหน้าทอดไปยังคอร์ตยาร์ดตรงกลาง ดูร่มรื่นด้วยการปลูกไม้ยืนต้นอย่างยางอินเดียและจิกน้ำ ให้อารมณ์แบบสวนทรอปิคัล ร่วมกับสนชนิดต่างๆที่คงเสน่ห์แบบสวนยุโรปเอาไว้
พื้นที่ซึ่งเดิมเป็นบริเวณหลังบ้านของทั้งสองหลังถูกยุบมารวมเป็นคอร์ตยาร์ดตรงกลางที่มีจุดเด่นเป็นบ่อน้ำพุโดยสามารถชมความสวยงามได้ทั้งจากในสวนและมุมต่างๆภายในบ้านทั้งสองหลัง
นอกจากไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดินหลากชนิดที่นำมาปลูกเพื่อสร้างความสวยงามและเป็นส่วนตัวให้บ้านแล้ว ยังมีม่านของต้นลีกวนยูที่ห้อยลงมาจากระบียงชั้น 2 ช่วยลดทอนความแข็งและทำให้บ้านดูสบายตาน่ามองขึ้น

เริ่มจากบริเวณสนามหญ้าหน้าบ้าน ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในบ้าน คุณศักดิ์ตั้งใจออกแบบให้กลายเป็นมุมเด่น โดยด้านหนึ่งจัดเป็นสวนน้ำพุที่ลดทอนแบบมาจากประติมากรรมในสวนสไตล์อิตาลี สำหรับให้เจ้าของบ้านมานั่งเล่นชมสวนเพลินๆตา พร้อมฟังเสียงน้ำตกกระทบบ่อเป็นจังหวะตลอดทั้งวัน ด้านข้างมีซุ้มศาลาสีขาวขนาดใหญ่สำหรับนั่งเล่นกลางแจ้งได้หลายคน นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่กั้นรั้วเป็นสัดส่วนอยู่ไม่ไกลจัดเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงอย่างหนูตะเภาและไก่แจ้อีกด้วย ทุกคนในบ้านจึงสามารถออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ชื่นชอบร่วมกันได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

“ผมออกแบบซุ้มศาลาหลังนี้โดยไร้หลังคา เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รู้สึกถึงการอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งไม่นานก็จะแผ่กิ่งก้าน ผมไม่ปลูกไม้เลื้อยเพราะจะดูรกเกินไป แต่ก็เลือกปลูกฟิโลเดนดรอนให้เกาะกำแพงเป็นฉากหลังแบบสวนแนวตั้ง กรอบซุ้มที่ประดับเป็นฉากหลังเป็นรูปวงกลม อาจไม่ได้ดูแปลกตานักสำหรับสวนแบบยุโรปและเอเชีย แต่เราก็ทำให้เกิดงานออกแบบที่แปลกใหม่ได้ เมื่อนำไปใช้ร่วมกับฉากหลังที่เป็นอิฐทาสีขาว ซึ่งในอนาคตเจ้าของสามารถติดหลังคาหรือกั้นกระจกและติดเครื่องปรับอากาศเพื่อให้กลายเป็นอีกห้องหนึ่งได้” คุณศักดิ์เล่า

บันไดเวียนใช้เป็นทางลัดจากสวนสู่ระเบียงชั้น 2 สำหรับให้สมาชิกขึ้นไปพักผ่อน เป็นอีกมุมหนึ่งที่สามารถขึ้นไปรับลมและชมความสวยงามของสวนได้
บริเวณด้านหน้าของบ้านอีกหลังซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนัก จึงออกแบบเป็นพียงมุมนั่งเล่นเล็กๆ โดยทำที่นั่งให้ดูเป็นส่วนตัวและกลายเป็นจุดเด่นของสวนมุมนี้ด้วย
ฟิโลเดนดรอนหูช้างออกใบสวยงามร่วมกับเหลืองชัชวาล ซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่ยึดเกาะผนังรั้วคอนกรีต กลายเป็นสวนแนวตั้งที่ดูสดชื่นและสบายตา
คุณธนากรณ์กำลังรดน้ำบริเวณสวนด้านข้างลานจอดรถ สวนมุมนี้ออกแบบเป็นฉากโครงเหล็กแบบตาราง ซึ่งมีกระถางกระบองเพชรปราสาทนางฟ้าเป็นจุดเด่น รับกับฉากหลังที่เป็นผนังอิฐตรงกลางซึ่งช่วยพรางกำแพงรั้วเดิม

พื้นที่หลังบ้านทั้งสองหลังเป็นห้องรับประทานอาหาร ออกแบบเป็นคอร์ตยาร์ดที่ปูพื้นกระเบื้องหินซึ่งมีน้ำพุอยู่ตรงกลาง คอร์ตยาร์ดแห่งนี้มีข้อจำกัดทั้งขนาดพื้นที่ แสงแดด และแรงปะทะของน้ำฝน จึงเลือกปลูกลีกวนยูให้ห้อยลงจากกระถางด้านบน ทำให้สวนมุมนี้ดูสบายตาและช่วยลดทอนความแข็งของอาคารและงานฮาร์ดสเคป ประกอบกับบริเวณรั้วบ้านที่ปลูกเหลืองชัชวาลให้เกาะผนังเพื่อป้องกันแสงสะท้อนจากหลังคาพอลิคาร์บอเนตของพื้นที่ด้านข้าง ก็ทำให้มุมดังกล่าวสามารถนั่งชมได้จากภายในบ้านและได้ความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น มุมนี้เมื่อมองลงมาจากหน้าต่างห้องนอนก็จะเห็นเป็นมุมคอร์ตยาร์ดที่มีน้ำพุล้อมรอบด้วยต้นไม้ กลายเป็นมุมมองที่สวยมาก แม้ว่าสวนนี้จะเน้นไม้ใบสีเขียว แต่รอบบ้านก็มีดอกไม้หลากหลายสีสันที่ปลูกแซมและทยอยออกดอกเรื่อยๆ ให้ดูได้ไม่เบื่อ

“ทุกวันนี้จะรีบทำงานให้เสร็จและรีบกลับบ้าน มองเห็นสวนทีไรก็ชื่นใจทุกครั้ง เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสวนที่ดูสวยขึ้นทุกวัน เรามีห้องกินข้าวที่เปิดไปเจอสวนคอร์ตยาร์ดตรงกลาง ทำให้บรรยากาศของการกินข้าว พักผ่อน และชมสวนมันเต็มอิ่มมากๆ ทั้งที่เมื่อก่อนบริเวณนี้ร้อนมาก แต่พอจัดสวนเสร็จ มีทั้งต้นเสม็ดแดงและลีกวนยู ก็ทำให้เรามีความสุขกับการอยู่บ้านมากยิ่งขึ้น” คุณหมอเชาว์เล่าด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข

สิ่งสำคัญในการออกแบบสวนนี้คือการนำหลายๆสิ่งมาผสมผสานให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างลงตัว ทั้งแสงและเงา ภายในและภายนอก ต้นไม้และอาคาร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างกันได้ รวมไปถึงช่วยสานความสัมพันธ์ให้ทั้งสองบ้านกลายเป็นบ้านหลังเดียวกันด้วย

ต้นเสม็ดแดงเป็นไม้ประธานรูปทรงสวยงามที่นิยมปลูกกัน ออกดอกสีขาวเป็นช่อบานทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
ปลูกคามิเลียในกระถางดินเผา ออกดอกสีสันสดใสตัดกับสีเขียวของใบมันวาวและต้นไม้รอบๆ โดยองค์ประกอบอื่นๆของสวนจะเน้นสีเรียบๆ ทำให้ดอกไม้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
แปรงล้างขวดเป็นไม้ยืนต้นที่มีลักษณะคล้ายหลิวลู่ลม โตเร็วและให้ร่มเงาได้ดีกว่า โดดเด่นที่ดอกออกเป็นช่อสีแดงที่ปลายกิ่ง ออกดอกได้ตลอดทั้งปี
เฟอร์นิเจอร์สนามรูปทรงโมเดิร์นแต่ดูสบายตาด้วยการใช้หวายเทียมสานเป็นลวดลายที่ดูละเอียด เข้ากับบรรยากาศของสวนรอบๆได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดทอนความแข็งของศาลาด้วย
รั้วขนาดความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีระยะห่างระหว่างซี่กรงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือตามขนาดตัวของหนูตะเภาที่เลี้ยง
ไก่แจ้ก็เป็นสัตว์เลี้ยงอีกชนิดที่ดูแลไม่ยาก เพียงให้น้ำและอาหารสำเร็จรูปทั่วไป อาจเสริมด้วยธัญพืชในช่วงเช้าก็เพียงพอ
หนูตะเภาเป็นหนูขนาดใหญ่ที่มีขนาดเท่าลูกหมู มีหลายพันธุ์ สามารถปล่อยให้ออกมากินหญ้าในธรรมชาติได้ แต่ควรระวังเรื่องโรคหวัด และหมั่นทำความสะอาดบ้านให้หนูตะเภาอยู่เสมอ
ใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาตลอดทั้งวันเป็นที่ตั้งของบ้านหนูตะเภา (ซ้าย) ซึ่งทำจากบ่อพักน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปและบ้านไก่แจ้ (ขวา)

เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

นิตยสารบ้านและสวน เดือนมิถุนายน 2563