วิธีปลูกเฟินสาย หรือ ฮูเปอร์เซียจากมืออาชีพ ต้นไม้แขวนฟอร์มสวยที่น่ามาปลูกในบ้าน

สวนโพธิ์เสด็จพันธุ์ไม้ จังหวัดนครศรีธรรมราช คือแหล่ง “ฮูเปอร์เซีย”(Huperzia) หรือ “ไม้สาย”(นิยมเรียกในชื่อ“เฟินสาย”) แหล่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ นอกจากจุดเด่นเรื่องสายพันธุ์ที่สวยงามแปลกตาแล้ว ที่นี่ยังมีการเพาะขยายพันธุ์เองจนมีลูกไม้สวยๆมากมาย ภายในโรงเรือนอันแสนสะอาดสะอ้านบนพื้นที่ไร่ครึ่งจึงเต็มไปด้วยฮูเปอร์เซียกว่า 30 สายพันธุ์ ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของพี่ยงค์ พยงค์ และ พี่เอ๋ จิตทิมา  มาศบํารุง เจ้าของสวนที่อาศัยใจรักล้วนๆจนเนิร์สเซอรี่แห่งนี้เต็มไปด้วยต้นไม้สวยๆอย่างที่เห็น มาพบกับเคล็ดลับวิธีปลูกเฟินสายจากมืออาชีพกัน

ภายในโรงเรือนซึ่งแบ่งส่วนแยกไม้แต่ละขนาดชัดเจนเพื่อให้ดูแลง่าย พี่ยงค์ใช้โรงเรือนรูปแบบเดียวกับโรงเรือนกล้วยไม้ในภาคกลาง แต่ปรับปริมาณแสงให้เหมาะสมกับไม้สายมากขึ้น
น้องเวฟและพี่เอ๋ช่วยกันเก็บวัชพืชที่ขึ้นแทรกอยู่ในกระถาง

ในวันที่เราไปถ่ายทําเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่พี่ยงค์นําต้นไม้ขึ้นมาขายที่งานเฟินในกรุงเทพฯ พี่เอ๋จึงรับหน้าที่อธิบายเรื่องราวต่างๆในสวนแห่งนี้ โดยมีน้องเวฟ – เด็กชายศรัณยู  มาศบํารุง ลูกชายวัย 9 ขวบของทั้งสองเป็นผู้ช่วยหยิบจับต้นไม้ต่างๆ อย่างแข็งขัน พี่เอ๋บอกว่าจุดเริ่มต้นครั้งแรกคือตอนตั้งครรภ์น้องเวฟ ช่วงนั้นเธอเริ่มเบื่อกรุงเทพฯ ประกอบกับอยากให้ลูกได้เติบโตกับธรรมชาติ เมื่อขายบ้านที่กรุงเทพฯได้จึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่นครศรีธรรมราชบ้านเกิดของพี่ยงค์ โดยที่อาชีพเดิมของทั้งคู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านต้นไม้เลยพี่ยงค์เคยเป็นวิศวกรไฟฟ้า ส่วนพี่เอ๋เป็นเซลส์ขายคอมพิวเตอร์ แต่อาศัยว่ามีใจรักจึงเริ่มจากเปิดร้านขายต้นไม้ก่อน โดยลองรับมาจากแหล่งต่างๆ

“เริ่มแรกรับไม้ประดับพวกกุหลาบและกล้วยไม้มาขาย แต่เจออุปสรรคคือพอมันหมดดอกแล้วขายไม่ได้ ฉีดปุ๋ยก็แล้ว เลยลองเสิร์จในอินเทอร์เน็ตว่าที่ใต้มีต้นอะไรพอจะขายได้ ก็เริ่มจากกล้วยไม้ป่าทางใต้จะมีตระกูลสิงโตเยอะ ลองมาทํา พอได้ฝักก็ส่งแล็บ โพสต์ขายในอินเทอร์เน็ตบ้าง กลุ่มที่รู้จักกันทางออนไลน์จะเรียกพี่ว่าเป็น ‘เจ้าแม่สิงโต’ พอตอนหลังพี่ยงค์ลองเอาพวกไม้สายมาเลี้ยง แต่เราไม่รู้หรอกว่าจะเลี้ยงอย่างไร ก็ลองๆ เลี้ยงดู มีตายบ้าง ดูชาวบ้านว่าเขาเลี้ยงอย่างไร ค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ”

ส่วนปลายของสายที่แก่เต็มที่เรียกว่า “สโตรบิลัส” สําหรับนําไปขยายพันธุ์ต่อไป
สโตรบิลัสตรงส่วนปลายจะเกิดรากแทงขึ้นมาและงอกขึ้นเป็นต้นใหม่ที่พร้อมจะย้ายลงกระถางนิ้วต่อไป
ไม้สายที่ย้ายจากกระถางนิ้วลงกระถาง 3 นิ้วใช้วัสดุปลูกเป็นกาบมะพร้าวสับทั้งหมด
ในภาพคือต้นหางสิงห์นิวกินี วิธีการขยายพันธุ์ให้ตัดสโตรบิลัสวางเรียงไว้ในตะกร้า วัสดุเพาะข้างล่างเป็นกาบมะพร้าวสับ ปรับด้านบนเรียบด้วยขุยมะพร้าว เพื่อให้ปลายสัมผัสกับความชื้น จะได้งอกเป็นต้นใหม่ อาจฉีดสารป้องกันเชื้อราโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน จากนั้นนําตะกร้าใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น

ลองขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง

ที่นี่จะเน้นไม้สายและเฟินแปลกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเรียกว่าเป็นเพียงไม่กี่แห่งที่เพาะขยายพันธุ์เอง มีทั้งช้องบลู ช้องนางคลี่ สร้อยสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมสตูล และสร้อยปะการัง โดยพี่ยงค์จะเป็นคนไปตระเวนหาไม้สายตัวสวยๆ หน้าตาแปลกๆ จากที่ชาวบ้านเลี้ยงกันอยู่แล้ว และซื้อมาทําแม่พันธุ์เพื่อขยายต่อ

“วิธีขยายพันธุ์เกิดจากความบังเอิญมาก คือส่วนปลายของสายที่เรียกว่าสโตรบิลัส (Strobilus) มันขาดเราก็ลองมาวางในกระถางแล้วมันงอกเป็นต้น พอตอนหลังอาจารย์ไพรัตน์ อําลอย(อาจารย์ประจําคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก) มาสอนว่าเพาะอย่างไรสําหรับไม้สายเหล่านี้เมื่อได้ต้นพันธุ์มาก็จะเลี้ยงจนสมบูรณ์จึงตัดสโตรบิลัสออกมาได้ โดยตัดบริเวณส่วนที่เป็นเส้นเล็กที่งอกออกมาจากสร้อย นั่นคือส่วนที่แก่ที่สุดซึ่งพร้อมจะขยายพันธุ์ต่อ 1 สร้อยได้ 1 ต้นหรือมากกว่าเมื่อตัดออกไปแล้วกิ่งนั้นจะตาย”

ข้อสังเกตอีกอย่างที่พี่เอ๋ค้นพบด้วยตัวเองคือ หากเป็นต้นที่มีสร้อยเส้นใหญ่จะเพาะง่ายกว่ากลุ่มที่มีสร้อยขนาดเล็ก หรือไม้ตัวไหนที่ความยาวมากๆ ก็จะเพาะยาก เช่น หางหงส์

ไม้ที่ย้ายลงกระถางนิ้ววางเรียงในตะแกรงภายในโรงเรือนที่คลุมหลังคาพลาสติก

เพาะและย้ายปลูก

การเพาะเฟินสายจะใช้สโตรบิลัสตรงสร้อยส่วนปลายตัดวางในตะกร้าใช้เวลาประมาณ 5 8 เดือนก็จะงอกเป็นต้น รอจนแข็งแรงจึงย้ายปลูกในกระถางนิ้ว แล้วขยับขึ้นเป็น 3 1/2 นิ้วและ 5 นิ้วตามลําดับ จากนั้นจึงคว่ําต้นลงเพื่อให้ได้ฟอร์มตามต้องการ

“ประสบการณ์เป็นตัวสอนเราว่าถึงเวลาต้องย้ายปลูกแล้ว ต้องคอยสังเกตว่าเอ๊ะ! ทําไมเหลือง ลองแคะกระถางซิ รากมันเต็มหรือเปล่า แล้วก็สังเกตเครื่องปลูก ปกติกาบมะพร้าวสับจะอยู่ได้หนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง ต้องเปลี่ยนไม่อย่างนั้นกาบมะพร้าวจะเปื่อยกลายเป็นดิน พืชพวกนี้ถ้าเป็นดินแล้วระบบรากจะหยุด รากไม่เดิน ดังนั้นต้องขึ้นกระถางใหม่ได้แล้ว พอสองปีจึงเพิ่มขนาดได้ นําไปคว่ําขายเป็นกระถางไซส์ 5 นิ้ว คนใต้จะคุ้นเคยกับลักษณะทรงพุ่มคว่ํา แต่คนภาคกลางจะปลูกทั้งสองแบบ ขึ้นพุ่มด้านบนก็ได้ สวยดีไปอีกแบบ แต่ถ้าคว่ําก็ได้ทรงห้อย ข้อเสียของการไม่คว่ําต้นลงก็คือรากจะดึงเครื่องปลูกขึ้นข้างบน ถ้าทําไม่ดีก็โค่นได้ง่าย”

ไม้สายที่แขวนไว้เป็นระเบียบ ภายในโรงเรือนเดิมที่เป็นสวนมังคุด เมื่อโค่นต้นเดิมออกหมดมีการปรับพื้นใหม่โดยนําทรายมาถมทับ เพื่อป้องกันวัชพืชและทําให้พื้นโรงเรือนไม่เฉอะแฉะ
กระถางเหล็กแบ่งออกเป็นสองซีกได้ เว้นช่องตรงกลางให้ต้นโผล่ออกมาซึ่งพี่เอ๋ออกแบบเองแล้วให้ช่างทําเพื่อให้ย้ายเปลี่ยนขนาดกระถางได้ง่าย

โรงเรือนที่นี่มีทั้งส่วนปล่อยโล่งกางซาแรนพรางแสงเพียงอย่างเดียวกับส่วนที่ขึงหลังคาพลาสติกสําหรับไม้สายขนาดเล็กและไม้ที่ต้องการเก็บไว้ส่งประกวดเพราะบางครั้งที่นี่มีฝนตก 10 วัน 10 คืน ซึ่งจะทําให้ต้นไม้เน่าเสียหายได้ โดยทําระบบให้น้ําแยกระหว่างโรงเรือนพลาสติกกับข้างนอก ใช้น้ําจากแหล่งน้ําธรรมชาติโดยสูบน้ํามาผ่านวัสดุกรอง ได้แก่ หิน กรวด ทราย และถ่าน ก่อนจะส่งไปตามระบบสปริงเกลอร์ภายในโรงเรือน

สําหรับผู้ต้องการเลือกซื้อไม้สายเหล่านี้ พี่เอ๋ก็มีเคล็ดลับง่ายๆ มาแนะนําคือให้สังเกตต้นที่ไม่มีตําหนิ ใบไม่เหลือง ถ้าพบว่าใบเหลืองสันนิษฐานว่าเกิดจากโรคหรือแมลง หากทําได้ให้ลองดึงกระถางดูว่ามีแมลงที่รากหรือไม่ เพราะมีส่วนทําให้ต้นไม้มีอาการใบเหลืองหรือเน่า รวมทั้งอาจเกิดจากระบบขนส่งที่ทําให้ต้นไม้เหลือง

นอกจากนี้ให้เลือกต้นที่มีหน่อสมบูรณ์ เขียวสม่ําเสมอ ดูฟอร์มไม้ว่าเป็นพุ่มกลม มีหน่อแทงออกรอบทิศทาง ไม่ควรปลูกเลี้ยงในบริเวณที่อากาศร้อนอับทึบอย่างโรงรถหรือใต้หลังคาพอลิคาร์บอเนต แต่ควรเลี้ยงใต้ต้นไม้ที่มีลมโชยเอื่อยจะเติบโตสวยงามได้ดีกว่า 

สร้อยปะการัง ไม้ตัวใหม่ซึ่งกําลังได้รับความนิยมลักษณะกิ่งที่แตกออกมาเป็นเส้นเล็กๆแต่แผ่กว้าง ดูเผินๆเหมือนกิ่งปะการัง
สิงห์บลู ลักษณะใบเป็นเส้นเรียวเล็กดูฟูให้สีอมฟ้านิดๆ ดูสวยงาม
สร้อยนางกรองหกเหลี่ยม
หางหงส์
ระย้าเกล็ดหอย การเรียงของใบแทงออกด้านข้างสลับซ้ายขวาซ้อนทับกันเป็นแผ่นแบน

การย้ายปลูก

การย้ายต้นไม้ให้ถอดกระถางแล้วนําเครื่องปลูกเก่าที่ดูแล้วเป็นดินออกใช้น้ําฉีดล้างดินออกให้หมดแล้วเติมกาบมะพร้าวสับใหม่ลงไป การเปลี่ยนกาบมะพร้าวสับจะทําช่วงฤดูแล้ง เพราะการใช้งานเมื่อผ่านฤดูฝนจะเริ่มเปื่อยแต่ถ้าเปลี่ยนฤดูฝนจะทําให้อายุใช้งานสั้นลง

ควรย้ายต้นที่เพาะลงกระถางนิ้วในฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศดีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะ หากย้ายช่วงฤดูร้อน อากาศที่ร้อนเกินไปจะทําให้ปลายใบไหม้ได้

การเตรียมกาบมะพร้าวสับก่อนนํามาใช้ให้แช่น้ําประมาณ 5 วัน เพื่อให้ยางที่ติดมาถูกชะล้างออกไปหมด (ระหว่างนี้ต้องเปลี่ยนน้ําใหม่ทุกวัน) จากนั้นจึงนํากาบมะพร้าวมานึ่งอีกครึ่งชั่วโมงเพื่อฆ่าแมลง แล้วจึงนําไปใช้ได้

ช้องบลู ความสวยงามอยู่ที่ใบมีสีเขียวอมฟ้า ข้อสังเกตของต้นนี้คือหากความชื้นไม่ถึงใบจะไม่ออกสีบลู ดังนั้นภาคใต้กับภาคตะวันออกจึงเลี้ยงไม้ตัวนี้ได้สวยและออกสีชัดเจน
บลูกลาย
ช้องบลูเขียว อายุราว 6 ปี แตกใบลงมาเป็นพวงสีเขียวสวย นิยมนําไปแขวนประดับตกแต่งในสวนหรือในพื้นที่อินดอร์ที่มีแสงส่องถึง

Tips ดูแลไม้ให้สวย

สภาพแวดล้อม ข้อดีของโรงเรือนที่นี่คือรอบๆ เป็นสวนผลไม้ จึงช่วยกักความชื้นได้ดี ส่วนในพื้นที่ทําโรงเรือนขึงซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ให้แสงลอดลงมาได้ 40 เปอร์เซ็นต์ วิธีทําให้ต้นได้พุ่มกลมสวยและแตกหน่อข้างคือต้องแขวนต้นให้ได้รับแสงเต็มที่ หน่อก็จะออกสม่ําเสมอ หรือหากต้องการให้ต้นออกหน่อด้านไหนให้หันด้านนั้นเข้าหาแสง โดยหมุนต้นให้หันหาแสงด้านทิศตะวันออกประมาณ 3 เดือนครั้ง

น้ํา ปกติรดน้ําด้วยระบบสปริงเกลอร์ 2 วันครั้ง ระวังอย่าให้แฉะ ใบจะร่วงต้องปล่อยให้ต้นไม้แห้งบ้าง พอแห้งแล้วโดนน้ําต้นไม้จะเต็มขึ้นมา ส่วนในฤดูแล้งที่มีลมแรงและอากาศแห้งก็เพิ่มการให้น้ําให้บ่อยขึ้น

ปุ๋ย ให้ปุ๋ยละลายช้าประมาณ 2 เดือนครั้ง โดยจะใส่เฉพาะช่วงฤดูแล้งเพราะหากใส่ช่วงฤดูฝนปุ๋ยจะละลายไปกับน้ําอย่างรวดเร็ว ทําให้พืชใช้ประโยน์ได้ไม่เต็มที่ วิธีการใส่ปุ๋ยคือให้ใส่ 3 มุมตรงขอบกระถาง เพื่อให้รากเดินออกมากินอาหารและไม่ควรใส่ใกล้โคนมากไปจะลวกโคนจนมีอาการเหลือง นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยปลาฉีดพ่นใบเป็นครั้งคราว แต่ปุ๋ยปลามีข้อเสียคือหากรดลงบนเครื่องปลูกจะทําให้ย่อยสลายเร็ว ส่วนกลุ่มกระเช้าสีดาจะใส่ปุ๋ยเกล็ดร่วมด้วย

โรคและแมลง คราดวัชพืชออกทุก 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแมลงมาอาศัยอยู่ในหญ้าและจะทําให้มีเพลี้ยมา โดยต้องระวังตั้งแต่ไม้นิ้ว รดสารกําจัดแมลง ได้แก่โปรวาโด ชื่อสามัญ อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) และนาปาม สารสําคัญคือบูโพรเฟซิน (Buprofezin) ใช้ผสมน้ํารดสลับกันเพื่อป้องกันการดื้อยา

ท่านใดสนใจไม้สายของสวนโพธิ์เสด็จ ติดต่อได้ที่ Phosadet Garden โทรศัพท์ 08-9723-1616 และ 08-1563-3037


เรื่อง : “เกซอนลา”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ําคํา , ธนาวุฒิ โชติประดิษฐ