หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เบื่อชีวิตรีบเร่ง อยากเกษียณตัวเองละทิ้งความวุ่นวายในเมืองไปซบไออุ่นจากธรรมชาติ บ้านและสวนได้รวบรวมบ้านสวยน่าอยู่ในบรรยากาศบ้านสวนบ้านไร่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปลูกบ้านหลังกะทัดรัด และทำการเกษตรภายในบริเวณบ้าน เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านการหาวัตถุดิบมาบริโภคและใช้สอยในครัวเรือน หากเหลือก็ยังสามารถขายหรือแบ่งปันให้คนอื่นได้ ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจแนวทางการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้ดูเป็นไอเดียกัน
บ้านสวน
บ้านไม้ใต้ถุนสูงกลางสวนมะพร้าว
เจ้าของ : คุณณัฐธภาคย์ – คุณวีณ์ลภัส ธำรงโรจนพัฒน์
สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิต กัณหา
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นของสวนผลไม้เก่าในคลองดำเนินสะดวก เจ้าของบ้านจึงได้ปรับปรุงพื้นที่ด้วยการถมร่องน้ำเก่าบางส่วน เพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัยขนาดกะทัดรัด ด้วยอยากกลับมาทำสวนที่นี่ ลักษณะเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงที่มีสเต็ปไม่สูงมากนัก เนื่องจากพื้นที่แถวนี้เคยมีน้ำท่วมถึงมาก่อน และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่ผสมผสานไม้เก่าหลากประเภทเพื่อให้ได้บ้านไม้หลังใหม่ในงบประมาณที่ไม่สูงเกินไป พร้อมเปิดช่องลมและยกใต้ถุนสูงให้ลมพัดผ่าน เพื่อช่วยลดทอนความร้อนของอากาศและทำให้บ้านเย็นสบาย โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศเลย >>อ่านต่อ
เกษตรผสมผสานในบ้านไม้ใต้ถุนสูง
เจ้าของ : คุณสายันต์ ทิพย์แสง และคุณอารมณ์ วิรัชศิลป์
สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา
ตกแต่งภายใน : บริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด
บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่เกิดจากความตั้งใจในการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยอย่างเรียบง่ายพร้อมๆไปกับวางแผนทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงในพื้นที่รอบๆ บ้าน ตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยจัดการแบ่งพื้นที่สำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเลี้ยงปลาด้วย 30% ปลูกข้าว 30% ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก 30% และเป็นที่อยู่อาศัย 10% ควบคู่ไปกับการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสามารถใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแบบพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เจ้าของบ้านอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน มีของกินสลับเปลี่ยนทุกวัน และยังเหลือแจกเหลือแบ่งขายอีกด้วย >>อ่านต่อ
บ้านฟาร์มสร้างเองบนผืนดินของบรรพบุรุษ
เจ้าของ: คุณในดวงตา ปทุมสูติ – คุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร
หลังใช้ชีวิตในเมืองกรุงมาหลายปีแล้วรู้สึกไม่ใช่ เจ้าของบ้านทั้งสองจึงอยากกลับมาทำกินบนผืนดินของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดที่ผูกพัน อีกทั้งการได้อยู่กับธรรมชาติก็ทำให้จิตใจนิ่งและเย็นขึ้น ทั้งคู่มั่นใจว่าสร้างบ้านเองได้ โดยใช้ไม้สะเดา ไม้ประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของตัวเอง ทั้งยังมีไม้เก่าและประตูหน้าต่างเก่าที่ซื้อสะสมไว้ ใช้เวลาร่วม 2 ปี บ้านจึงเป็นรูปเป็นร่างที่ดูภายนอกเหมือนเสร็จแล้ว แต่ก็ค่อยๆ เติมแต่งและปรับไปตามการใช้งาน พร้อมไปกับการปลูกพืชผักไว้กินในครัวเรือน มียุ้งข้าวสำหรับเก็บกินในบ้าน มีบ่อน้ำธรรมชาติใช้อุปโภค โดยขุดบ่อและปลูกไผ่โดยรอบเป็นอาณาเขต ส่วนหนึ่งเป็นดงกล้วย อีกส่วนทำนา นอกนั้นปลูกไม้ยืนต้นไว้ใช้ไม้ และแม้จะดูเป็นบ้านกลางทุ่งที่แสนน่าอยู่ แต่อีกด้านคือวิถีเกษตรกรได้เปลี่ยนไป รอบๆ พื้นที่มีการใช้เคมี มีการเผาไร่อ้อย ซึ่งเจ้าของบ้านก็ต้องปรับตัวและทำได้แค่สร้างธรรมชาติของตัวเองเองให้มากขึ้น >> อ่านต่อ
วิถีอริยสูตร 4 ที่ไร่เอกเขนก
เจ้าของ: คุณเอกสิทธิ์ รัชตะกิตติสุนทร และคุณกมลวรรณ เปรมฤทัย
เมื่อมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ออกจากคอมฟอร์ตโซน ตัดสินใจเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่รกร้างข้างทางในอําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็น “ไร่เอกเขนก” ที่ปลูกผักแบบอินทรีย์ โดยน้อมนําพระราชดํารัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เกิดเป็นอริยสูตร 4 คือ พร้อม พอ เพียร และพัฒนา ภายในไร่มีอาคารที่ออกแบบเป็นบ้านดินสีคราม นอกจากเปิดเป็นคาเฟ่แล้ว ยังเป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน ด้วยความเป็นบ้านดินจึงทําให้อากาศภายในบ้านค่อนข้างคงที่ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงให้ความรู้สึกสบายๆ ในส่วนของไร่ปลูกผักนั้น เจ้าของบ้านได้ให้ชาวบ้านที่มีความถนัดในแต่ละด้านมาช่วยดูแล ซึ่งเรียกว่า “พ่อผัก-แม่ผัก” โดยที่นี่เรียกผักปลอดสารพิษว่า “ผักปลอดกิเลส” เพราะไม่ปลูกนอกฤดูกาล ไม่มีสารเร่งผลผลิต ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม จึงทําให้ผักที่ได้มีความงามตามธรรมชาติ พร้อมส่งตรงถึงโรงแรมและร้านอาหารในเชียงใหม่ รวมถึงมีจําหน่ายที่ไร่ด้วย >> อ่านต่อ
บ้านต้นเต๊า บ้านไม่กลัวน้ำท่วม
เจ้าของ : คุณภัคธิมา วรศิริ และ คุณชิติพัทธ์ วังยาว
ออกแบบ : คุณภัคธิมา วรศิริ
ออกแบบวิศวกรรม : คุณโอภาส วรศิริ
รับเหมาก่อสร้าง : คุณชิติพัทธ์ วังยาว และทีมช่างบ้านบัว บ้านสวน
บ้านที่นำเอาเอกลักษณ์ของบ้านในพื้นที่บ้านบัว จังหวัดพะเยากับรูปแบบของหลองข้าวซึ่งเป็นอาคารเก็บข้าวเปลือกมาใช้ แต่ปรับเปลี่ยนวัสดุและสีสันให้เป็นโครงสร้างเหล็กผสมปูน และเน้นสีขาวเพื่อความสะอาดตา รวมทั้งยังผสมผสานการใช้งานในรูปแบบวิถีชีวิตปัจจุบันเข้ากับลักษณะการใช้งานใต้ถุนและชานบ้านอย่างสมัยโบราณ โดยนอกจากสร้างบ้านไว้อยู่เองแล้ว ยังทำไว้สำหรับรองรับแขกที่มาพักแบบโฮมสเตย์ พร้อมทั้งเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆด้วย ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้คือการยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมในหน้าน้ำ เพราะอยู่ติดกับคลองของหมู่บ้าน แต่ด้วยการออกแบบที่เข้าใจในบริบท ทำให้บ้านหลังนี้สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้โดยไม่เป็นปัญหา เพราะเพียงแค่ปิดคาเฟ่ชั้นล่างและย้ายของขึ้นสู่ชั้นบนเพื่อให้น้ำสามารถผ่านใต้ถุนบ้านไปได้ และเปลี่ยนไปสัญจรโดยใช้สะพานเชื่อมชั้นสองของบ้านออกสู่ถนนแทน จนกว่าหน้าน้ำจะหมด ส่วนบริเวณโดยรอบบ้านก็ทำเป็นสวนครัวและทดลองปลูกข้าวไว้รับประทานเองอีกด้วย >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และนิตยสาร my home