ไม่นานมานี้หลายท่านคงได้ยินข่าว อบต.หลายที่ใช้งบประมาณไปกับการทำเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปทรงต่างๆ มีทั้งกินรี เครื่องบิน สัตว์ประจำถิ่น เครื่องหมายสัญลักษณ์ประจำถิ่น
มีเสียงคัดค้านบ้างสนับสนุนบ้าง ไม่ว่าจะคัดค้าน สนับสนุน หรือบางที่ก็มีการสอบสวนกัน ด้วยเสาเหล่านั้นก็ตั้งขึ้นมาใช้งานเรียบร้อยไปแล้ว ถึงเวลานี้ผมใคร่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย เผื่อจะมีประโยชน์กับการตัดสินใจในการทำประติมากรรมเสาไฟในที่ต่างๆต่อไปในอนาคต หรือแม้กระทั่งในบ้านเรือนของเราเองก็ตาม เสาไฟกินรี
ไฟส่องสว่างทั่วๆไปนั้นเราแบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็นสองอย่างใหญ่ๆ คือให้แสงสว่างเพื่อความปลอดภัย นั่นคือปลอดภัย จากขโมยขโจร งูเงี้ยวเขี้ยวขอ หลุมบ่อ เห็นว่าเป็นขอบถนนขอบทาง ทางโค้ง ทางลาด คนผ่านไปมาจะได้มองเห็นกันชัดๆ กับอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง คือ เพื่อสร้างบรรยากาศ ถ้าต้องการเลือกแบบนี้ เรื่องความปลอดภัยก็เป็นรอง เอาบรรยากาศให้ได้ก่อน ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานต้องการแบบไหน ณ สถานที่ไหนในเวลาใด แต่ก็ยังมีทางเลือกที่สามนั่น คือ ผสมผสานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เช่น โคมไฟเหนือโต๊ะอาหารแบบที่ปรับระดับสูงต่ำได้ เมื่อต้องการ รับประทานอาหารในชีวิตประจำวันก็ยกให้มันสูงขึ้น แสงจะได้กระจายไปทั่วๆ จะได้มองเห็นว่าวันนี้มีอะไรกินบ้าง ก้างปลาอยู่ตรงไหน ไอ้ก้อนดำๆในจานนั่นมันหมูทอดหรือเต้าหู้ยี้ สามารถมองเห็นหน้าสมาชิกบนโต๊ะได้ชัดเจน พูดคุยกันได้สะดวก ในอีกการใช้งานเมื่อเราต้องการเน้นบรรยากาศของแสงไฟส่องเฉพาะจุด เช่นเมื่อจะเล่นไพ่ก็ดึงโคมไฟให้ต่ำลงมาในจุดที่พอใจ แสงไฟก็จะเป็นวงส่องเน้นเฉพาะตรงกลางโต๊ะทำให้มีสมาธิในการเล่น สมาชิกในวงก็สามารถซ่อนแววตาที่อยากปกปิดเมื่อได้ไพ่ดีหรือไม่ดีได้อีกด้วย ได้ประโยชน์หลายทางด้วยกัน
ทีนี้มาถึงโคมไฟถนนที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ผมมีความเห็นว่าท่าน อบต. ทั้งหลายหรือใครก็ตามที่ตัดสินใจจะทำเสาไฟของท่านให้เป็นประติมากรรมรูปแบบใดๆ นั่นแปลว่าท่านกำลังยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของศิลปะและการออกแบบแล้ว นอกเหนือจากเรื่องทางวิศวกรรมว่าแสงสว่างที่ได้เป็นแสงที่ได้ตามวัตถุประสงค์หรือเปล่า ซึ่งในที่นี้ก็คือ จะเอาเรื่องความปลอดภัย หรือบรรยากาศ หรือเอาแบบผสมทั้งสองอย่าง (ซึ่งทำได้ยาก) เมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของความงามและการออกแบบแล้ว ที่นี้ก็เท่ากับท่านมีเรื่องให้ต้องปวดขมองเพิ่มขึ้นมาอีกมาก เรื่องแรกคือไอ้เจ้าตัวประติมากรรมที่เราเลือกมานั้นมันสวยหรือเปล่า สัดส่วน สีสัน รายละเอียดของประติมากรรมนั้นเป็นอย่างไร มันให้ความหมายตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ และไอ้ความหมายที่เราต้องการนั้นจริงๆแล้วมันถูกต้องชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ เรื่องต่อมาคือสภาพแวดล้อมที่เราจะเอาเสาประติมากรรมของเราไปปัก
ลองสังเกตดูเสาไฟหงส์ที่ถนนอักษะเขามีความสวยงาม เพราะสภาพแวดล้อมที่โอ่โถงสะอาดตา ปราศจากสายไฟที่รกรุงรัง มีความกว้างของถนนที่ดูโอ่อ่า มีคูน้ำกลาง ถนนที่สะท้อนภาพเสาไฟและแสงไฟช่วยเพิ่มความมลังเมลือง
หรือเอาที่คลาสสิคจริงๆก็ที่ถนนราชดำเนิน เสาไฟกินรี (มีกินนรคู่กันด้วยอยู่คนละฟากถนนกัน) ตัวเสาสวยงามได้สัดส่วน กินรี(และกินนร) ออกแบบสวยงามอยู่ในท่าจับโคมไฟไว้ เหมือนกำลังยื่นแสงสว่างให้ผู้คน ระยะห่างระหว่างเสากำลังพอเหมาะ ไม่ถี่และห่างเกินไป ไม่ได้คำนวณที่ระดับความสว่างอย่างเดียว แต่เขาคำนึงถึงความงามด้วย ความสูงของเสาสัมพันธ์กับความกว้างของถนน ไม่ใช่เสาสูงแต่ถนนแคบนิดเดียว ครั้นจะทำเสาเตี้ย ต้นไม้ริมถนนก็บังแสงไฟอีก เสาไฟประติมากรรมที่มีรายละเอียดเยอะๆ เอามาปักถี่ๆเกินไป มันจะดูยุ่งเหยิง ตีกันนัวเนียไปหมดไม่น่าดู ที่ถนนราชดำเนินเมื่อมีกินรีที่หัวเสาแล้วตัวเสาเขาก็ไม่ใสรายละเอียดและสีสันใดๆเข้าไปอีก เพื่อให้หัวเสาดูเด่น และเขาคำนึงด้วยว่าเมื่อเอาเสามาตั้งเรียงกันบนถนนเยอะๆแล้วภาพมันจะเป็นอย่างไร ระยะห่างแค่ไหนจึงจะเหมาะ
ทีนี้มีโคมไฟถนนอีกที่หนึ่งของ อบต.บ้านใหม่ อยุธยา เขาใช้สุ่มไก่มาดัดแปลงเป็นโคมไฟถนน ปักกับเสาไม้ไผ่บ้าง ขอชาวบ้านแขวนกับชายคาบ้านบ้าง อันนี้ดีครับ ไม่ใช่ดีเพราะประหยัด ส่งเสริมอาชีพชาวบ้านให้มีรายได้เท่านั้น แต่ผมว่าดี เพราะมีความเหมาะสม คือโคมไฟมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ดูเป็นหมู่บ้านชนบท ให้แสงสว่างแบบเน้น บรรยากาศชนบท คือไม่สว่างจ้าจนดูอะไรแบนไปหมด สร้างความมีมิติให้กับตัวหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันก็สว่างพอในแง่ ของความปลอดภัย ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับไฟถนน แน่นอนโคมไฟแบบนี้อายุไม่ยืนยาวอะไรนักถึงเวลาก็ต้อง เปลี่ยน แต่ถ้าคิดว่าต้นทุนโคมละร้อยก็สามารถเปลี่ยนได้ถึง 1,000 ครั้ง ราคาถึงจะเท่ากับเสาไฟประติมากรรมที่กำลังทำๆ กันอยู่ ก็น่าคิดนะครับ ทั้งหมดทั้งปวงผมก็แค่อยากจะพูดถึงสิ่งควรคำนึงเมื่อเราจะต้องยุ่งกับของสวยๆงามๆครับ
เรื่อง : ประพันธ์ ประภาสะวัต