บ้านปูน แลดูทันสมัยนี้สร้างใหม่แทนบ้านไม้หลังเก่าซึ่งอยู่กันมานาน เปลี่ยนผ่านช่วงอายุคนจากรุ่นสู่รุ่น แม้นัยหนึ่งรุ่นพ่ออาจยังมีความลังเลในความต่างจากรูปทรงและวิถีการอยู่อาศัยแบบเดิมๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองเชียงใหม่ แวดล้อมด้วยบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งเป็นบ้านไม้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็รับได้กับสิ่งที่เปลี่ยนไปตามที่รุ่นลูกเลือกสรร
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณเฉลิมชนม์ อินตื้อ
สถาปนิก : บริษัทแผลงฤทธิ์ สถาปัตย์ จำกัด
บ้านปูน หลังนี้มีจุดเริ่มต้นที่คุณเฉลิมชนม์ อินตื้อ เจ้าของบ้าน ซึ่งเล่าว่า “บ้านนี้รวมคนสามรุ่นมาอยู่ร่วมกัน คือคุณพ่อคุณแม่ของผม ผมกับภรรยา และลูกของผมจึงอยากทำบ้านที่รวมทุกส่วนเข้าด้วยกัน ตัวผมเองชอบบ้านรูปยาว มีส่วนใช้สอยที่ต่อเนื่องกัน ไม่ต้องกั้นเป็นห้องๆ อยากได้แบบโล่งๆ เดิมผมอยากได้บ้านชั้นเดียว แต่พื้นที่ใช้สอยไม่พอกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องทำห้องนอนของผมอยู่ชั้นบน ของคุณพ่อคุณแม่อยู่ชั้นล่าง (คนละด้านของตัวบ้าน) แต่สิ่งที่ระบุกับสถาปนิกอย่างชัดเจนก็คือ อยากได้บ้านที่มีแปลนเป็นรูปตัวยู(U)”
แม้ที่ดินจะเป็นรูปสามเหลี่ยมที่แต่ละด้านไม่เท่ากัน สถาปนิกก็สามารถออกแบบและวางผังตัวบ้านได้ลงตัว กล่าวคือ ได้แปลนบ้านรูปตัวยูตามความต้องการของเจ้าของบ้าน จัดสรรพื้นที่ภายในได้โล่งเรียบ และผังของบ้านก็ยังอยู่ในทิศทางที่แสงแดดเข้ามาในตัวบ้านเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ด้านหนึ่งของห้องชั้นล่างจึงทำผนังกระจกใสเพื่อเน้นบรรยากาศแบบเปิดโล่ง ทำให้ภายในและภายนอกบ้านดูเหมือนเป็นส่วนเดียวกันตัวบ้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมตรงๆ ใช้ปูนเปลือยเป็นวัสดุหลัก แต่ก็มีการเลือกใช้หลากหลายเทคนิคทั้งฉาบเรียบ ฉาบมัน ฉาบผสมสีขาวและสีเทา
ในแปลนรูปตัวยูนี้ด้านหนึ่งเป็นบ้านสองชั้น พื้นที่ใช้สอยต่างๆ อยู่ในส่วนนี้เกือบทั้งหมด ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนรับแขก- นั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว ชั้นบนเป็นห้องนอน 2 ห้องพร้อมห้องน้ำภายใน อีกด้านของบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวคือห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ มีส่วนพักผ่อนชั้นล่างเชื่อมต่อระหว่างบ้านทั้งสองด้านส่วนนี้ยังต่อกับโรงรถด้านหลัง ขณะที่ด้านหน้าเป็นพื้นที่ว่างระหว่างกลางจึงทำเป็นชานอเนกประสงค์ ปลูกต้นจิกขนาดใหญ่พอที่จะให้ร่มเงาและดูจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้บ้านหลังนี้น่าอยู่เป็นพิเศษ
ในเรื่องของการตกแต่งภายใน คุณเฉลิมชนม์นั้นเป็นเจ้าของกิจการที่ผลิตของตกแต่งบ้านสไตล์ล้านนาประยุกต์ เช่น โคมไฟ หรือประติมากรรมประดับผนัง เรียกว่าชีวิตของเขาเกี่ยวข้องกับงานศิลปะอย่างเต็มตัว จึงย่อมมีแนวทางในการตกแต่งบ้านของตัวเอง
“บ้านนี้ใช้เวลาก่อสร้างหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จ แต่ก็เฉพาะตัวบ้านเท่านั้นครับ ตอนเข้ามาอยู่แรกๆ ยังเป็นบ้านโล่งๆ ค่อยๆ หาเฟอร์นิเจอร์กับของตกแต่งเข้ามา ผมชอบบ้านเรียบๆ อะไรที่เป็นเท็กซ์เจอร์หรือลวดลายเยอะนี่ผมไม่ชอบเลย งานไม้ที่เห็นในบ้านหลังนี้คือไม้ที่เคยเป็นบ้านหลังเก่า ไม้ใหม่ดูสำเร็จรูปเกินไป ขณะที่ไม้เก่ายังให้คุณค่าทางด้านจิตใจ เหมือนว่าความรู้สึกเก่าๆ ก็ยังอยู่กับเรา ผมเลือกสีเอิร์ธโทนเพราะว่าดูกลางๆ เบื่อเมื่อไรก็สามารถเปลี่ยนให้มีสีสันต่างออกไปได้ไม่ยาก
“ผมชอบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวมากกว่าทำบิลท์อินผมชอบอยู่บ้าน ชอบจัดบ้าน ย้ายของสลับไปมา แต่ก็ยังเน้นความเรียบโล่งอยู่นะครับ” รอบบ้านยังพอมีพื้นที่ว่างอยู่บ้างแม้ไม่มากนัก คุณเฉลิมชนม์ได้สรรหาพรรณไม้ต่างๆ มาปลูก ซึ่งในวันข้างหน้าก็พร้อมออกดอกออกผลสร้างความรื่นรมย์และเพิ่มความสบายให้บ้านมากยิ่งขึ้น
มองเผินๆ ผนังของบ้านหลังนี้อาจดูเรียบ เหมือนเป็นผนังปูนเปลือยเกือบทั้งหมด แท้จริงแล้วผนังแต่ละส่วนมีความแตกต่างกัน คุณเฉลิมชนม์ให้ความใส่ใจและดูรายละเอียดต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น
เรื่อง : Otto
ภาพ : สังวาล พระเทพ, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
รวมแบบบ้านปูนชั้นเดียว อยู่สบาย
บ้านปูนที่มีความพื้นถิ่น ร่วมสมัย