บ้านล้านนาประยุกต์ในอ้อมกอดธรรมชาติ

บ้านฝรั่งหัวใจไทยที่หลงใหลในมนตร์เสน่ห์เมืองล้านนา ออกแบบบ้านโดยอิงกับงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น บนทำเลที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาซึ่งแวดล้อมด้วยทุ่งนา เจ้าของบ้านจึงทำระเบียงไว้รอบบ้านเพื่อให้ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของบ้านก็ขอให้ได้เห็นวิวอันงดงามราวกับสวรรค์สร้างนี้ทุกเวลา

เจ้าของ : คุณจอห์น มาร์ และคุณณัฐนันท์ พัศดุธาร

ออกแบบ : คุณจอห์น มาร์

บ้านล้านนาประยุกต์

ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้มาเห็นความอ่อนช้อยของศิลปวัฒนธรรมไทยผสานกับภูมิประเทศที่งดงามของบ้านหลังนี้จะรู้สึกหลงใหลในมนตร์เสน่ห์แห่งความเรียบง่ายนี้ และผมก็คิดว่า คุณจอห์น มาร์ เจ้าของบ้านชาวอังกฤษผู้นี้คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ทว่าเขาไม่เพียงชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น แต่ยังตกหลุมรักแม่หญิงเชียงใหม่ คุณณัฐนันท์ พัศดุธาร กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย

บ้านล้านนาประยุกต์
เรือนหลักเป็นอาคารสองชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างอาคารพื้นถิ่นกับอาคารตะวันตก โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยมหาอินทร์)
มุมนั่งเล่น
มุมนั่งเล่นข้างบ้านด้านทิศตะวันตกซึ่งเจ้าของบ้านมักใช้งานในช่วงเช้า ออกแบบให้มีชายคาคลุมเพื่อให้ร่มเงา พื้นปูกระเบื้องทรงหกเหลี่ยมจากโรงอิฐภารดร ในจังหวัดเชียงใหม่ เผาด้วยเตาแบบโบราณ สีสันของกระเบื้องจึงไม่สม่ำเสมอกันทุกแผ่น เมื่อนำมาปูก็ทำให้เกิดน้ำหนักที่สวยงาม

มุมนั่งเล่น

คุณจอห์นเริ่มบทสนทนาว่า  “ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับนำเข้าและส่งออกเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่อังกฤษ ทำให้ต้องเดินทางไปดูสินค้าตามประเทศต่างๆเป็นประจำ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนได้มาเที่ยวเชียงใหม่ตามคำชักชวนของเพื่อนชาวไทยซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยา พอได้มาสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่และงานศิลปะของชาวล้านนาก็เกิดความชื่นชอบจนถึงขั้นหลงใหล เลยตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งภรรยาพาไปเที่ยวคุ้มเจ้าบุรีรัตน์(น้อยมหาอินทร์)ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมรู้สึกชอบรูปทรงของตัวอาคาร จึงนำมาเป็นไอเดียในการทำบ้าน โดยทำเป็นเรือนหลักสำหรับพักอาศัยเองเพียงเรือนเดียว ไหนๆก็อยู่กันแค่สองคน มีแค่ห้องนอนกับห้องรับแขกอย่างละห้องก็พอ เนื่องจากทำเลของบ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาที่แวดล้อมด้วยทุ่งนา ผมคิดว่าไม่ว่าจะนั่งอยู่ตรงไหนของบ้านก็ขอให้ได้เห็นวิว จึงทำระเบียงเสียรอบบ้านเลย”

คุณณัฐนันท์เสริมว่า  “คุณจอห์นชอบธรรมชาติมากแต่เป็นฝรั่งขี้หนาว เปิดแอร์เปิดพัดลมไม่ได้เลย บ้านหลังนี้จึงไม่ได้ติดแอร์ แต่มีประตูอยู่รอบบ้านแทน ที่สำคัญคืออยากให้บ้านดูกลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด ชั้นล่างของบ้านจึงทำเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ ส่วนเรือนรับรองที่สร้างแยกไปอีกหลังก็เกิดจากแนวคิดที่ว่าเวลามีญาติหรือเพื่อนฝูงมาจะไปพักที่โรงแรมก็ไม่สะดวก จึงทำไว้เพื่อความเป็นส่วนตัวของทั้งเราและแขกด้วย โดยเรือนรับรองได้แนวคิดมาจากเรือนไทยที่วังสวนผักกาด ลักษณะเป็นบ้านไทยในอยุธยา ใช้โทนสีดำ แดง และทองเป็นหลัก รวมทั้งใช้วัสดุพื้นถิ่นเพื่อให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมมากที่สุดค่ะ”

สไตล์ล้านนาประยุกต์
ชั้นล่างของเรือนหลักมีลักษณะก่ออิฐถือปูน บรรยากาศเปิดโล่งเพราะมีประตูอยู่โดยรอบ อีกทั้งตัวอาคารยังตั้งขวางทิศทางลม อากาศจึงถ่ายเทได้สะดวก บานประตูและพื้นเป็นไม้เก่าที่เจ้าของบ้านซื้อสะสมไว้ก่อนจะสร้างบ้าน ส่วนโซฟานำมาจากบ้านที่อังกฤษแล้วทำผ้าคลุมใหม่
เฟอร์นิเจอร์บริเวณชั้นล่างเลือกใช้แบบลอยตัว เพื่อความสะดวกในการปรับเปลี่ยน สังเกตว่าทั้งเก้าอี้หวายและตู้สไตล์จีนมีสไตล์แตกต่างกัน แต่สามารถจัดวางร่วมกันได้เพราะมีโทนสีน้ำตาลและทำจากวัสดุธรรมชาติเหมือนกัน
ระเบียง
ระเบียงชั้นบนออกแบบให้สามารถเดินได้รอบ “เพราะตำแหน่งของบ้านตั้งอยู่กลางทุ่งนา ผมจึงอยากให้ชั้นบนมีระเบียงอยู่โดยรอบ และจัดวางชุดนั่งเล่นไว้ตามมุมต่างๆ เพื่อจะได้ชมวิวได้ทั้งวัน”
มุมนั่งเล่นสไตล์โอเรียนทัล
มุมนั่งเล่นบริเวณทางเข้าห้องนอน จัดวางเก้าอี้โบราณสไตล์จีน (จากร้าน Orientals Spirit ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่) และโต๊ะคอนโซลสีแดงเพื่อสร้างความน่าสนใจให้มุมนี้ ด้านบนประดับภาพบาติก “SEDU” จากประเทศอินโดนีเชีย ประตูด้านในนำไปยังห้องแต่งตัว
ห้องนอนสไตล์ล้านนา
ห้องนอนห้องเดียวบนชั้น 2 มีลักษณะเปิดโล่ง โชว์ให้เห็นโครงสร้างหลังคาของเรือนไทย เหนือประตูตีระแนงไม้สำหรับใช้ระบายอากาศ พื้นเป็นไม้ประดู่ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวหลากหลายสไตล์ ซึ่งทั้งหมดใช้วัสดุธรรมชาติและโทนสีน้ำตาล – แดง ทำให้ดูเชื่อมโยงและกลมกลืนกัน

ทั้งเรือนหลักและเรือนรับรองต่างหันหน้าไปทางทิศใต้ โดยเรือนหลักมีลักษณะเป็น บ้านล้านนาประยุกต์ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 170 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นพื้นที่เปิดโล่งทำเป็นส่วนรับแขก จัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่เจ้าของบ้านสะสมไว้ ชั้นบนเป็นพื้นที่เปิดโล่งเช่นเดียวกันทำเป็นห้องนอนใหญ่  มีส่วนที่กั้นเป็นห้องเล็กสองห้องคือห้องน้ำกับห้องแต่งตัว

ส่วนเรือนรับรองสร้างแบบเรือนไทยภาคกลาง มีชั้นเดียว ประกอบด้วยชานหน้าบ้านสำหรับนั่งเล่น ห้องนอน 2 ห้อง พร้อมห้องน้ำในตัว  มีส่วนเตรียมอาหารขนาดเล็กและส่วนแต่งตัวรวมอยู่ด้วยกัน การตกแต่งใช้วัสดุพื้นถิ่นอย่างกกและไม้ไผ่เป็นหลัก

ชานบ้าน
ชานของเรือนรับรองซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเรือนไทยดัดแปลงเป็นลานนั่งเล่นสังสรรค์ เนื่องจากหน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ มุมนี้จึงเป็นมุมโปรดของแขกที่มาพัก ในยามเย็นสามารถมองเห็นภาพดวงอาทิตย์ค่อยๆลับเหลี่ยมเขา พื้นปูไม้เนื้อแข็ง ส่วนฝ้าเพดานมุงเสื่อกกซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่น รูปแบบของกรอบหน้าต่างและประตูดัดแปลงมาจากซุ้มหน้าต่างของวังสวนผักกาด โดยนำมาตัดทอนและลดขนาดลง
ทางเดิน
ทางเดินก่อนขึ้นบันไดปูแผ่นศิลาแลง ส่วนด้านข้างวางโอ่งน้ำสำหรับไว้ล้างเท้า ได้อารมณ์แบบบ้านโบราณ
เตียงสี่เสา
เตียงสี่เสาแบบมีมุ้งครอบทำจากไม้ไผ่ ให้ความรู้สึกของบ้านชนบทได้เป็นอย่างดี ส่วนผนังและเพดานกรุเสื่อกก
ห้องน้ำไม้ไผ่
ผนังในห้องน้ำกรุไม้ไผ่เพื่อให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ส่วนพื้นกรุกระเบื้องแล้วปูทับด้วยพื้นไม้สำเร็จสำหรับใช้ภายนอกบ้านเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกัน

กล่าวได้ว่าบ้านทั้งสองหลังนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไทยและการใช้วัสดุพื้นถิ่นที่เป็นธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นฝีมือการออกแบบบ้านของชาวต่างชาติ

ก่อนจบบทสนทนาในครั้งนี้ คุณจอห์นได้ทิ้งท้ายกับเราว่า  “ผมคิดว่าชาติก่อนผมคงจะเป็นคนไทย พอได้มาสัมผัสวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของคนไทยจึงหลงใหลชนิดถอนตัวไม่ขึ้น และฝันไว้ว่าชาตินี้จะต้องมีบ้านไทยแบบล้านนาแท้ๆสักหลังให้ได้”


เรื่อง : SPRANT

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

หลายวัฒนธรรมรวมเป็น บ้านล้านนาร่วมสมัย

รวมบ้านไม้สไตล์ล้านนา อบอุ่น อยู่สบาย