ไขข้อสงสัยซื้อกล้วยด่างแท้-กล้วยด่างเทียม ดูอย่างไร ไม่ให้โดนหลอก
ในระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา วงการไม้ด่างเริ่มเติบโตและแตกแขนงกลุ่มสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จากเดิมที่นิยมกันแค่กลุ่มไม้ด่างในวงศ์ Araceae ก็เริ่มขยายสู่กลุ่มไม้ด่างชนิดอื่นๆ ซึ่งป้ายต่อไปคือ “กล้วยด่าง”
ที่แต่เดิมนิยมกันเพียงกลุ่มสมาชิกเล็กๆไม่กี่คน ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่เริ่มได้รับความนิยมในวงกว้าง และกำลังเป็นขุมรายได้ที่ทำเงินมหาศาล สวนกระแสกับธุรกิจชนิดอื่นๆที่กำลังซบเซาอยู่ในตอนนี้ ทำให้เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขาดจรรยาบรรณหรือความรู้แฝงตัวเพื่อจำหน่ายกล้วยด่างเทียมอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราควรมาศึกษาวิธีการแยก “กล้วยด่างแท้” และ “กล้วยด่างเทียม” จากประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในวงการและเริ่มสะสม กล้วยด่าง มาเป็นระยะเวลายาวนานโดยคุณโอ๊ต-อัศวเดช ตั้งโยธาพิพัฒน์กุล
นิยามของ “กล้วยด่างแท้”
กล้วยด่างที่มีราคาและทำการซื้อขายกันในหมู่นักสะสม คือกล้วยด่างที่เกิดจากความผิดปกติในระดับพันธุกรรมที่เกิดการกลายเฉพาะจุด สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอกทางส่วนใบ ลำต้น ไปจนถึงผล ซึ่งเกิดความสม่ำเสมอไม่เท่ากัน กลายเป็นสีสันและลวดลายที่ผิดแปลกไปจากกล้วยปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีเขียวทั้งต้น โดยความผิดปกตินี้จะเกิดกับต้นกล้วยต้นนั้นไปตลอด แม้ว่าต้นนั้นจะอยู่ในสภาวะสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ลักษณะผิดปกติดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นและไม่กลับไปมีใบเขียวเหมือนต้นกล้วยปกติได้อย่างแน่นอน ต่างจากกล้วยด่างเทียมซึ่งเกิดกับต้นที่มีพันธุกรรมของกล้วยแบบปกติ แต่แสดงความผิดปกติออกมาคล้ายต้นกล้วยด่างจนหลายคนแยกไม่ออก ซึ่งหากต้นกล้วยต้นนั้นได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก็จะกลับไปมีใบสีเขียวตามเดิมในธรรมชาติ
กลโกง กล้วยด่างเทียม
กล้วยด่างเทียมเกิดได้จากหลายปัจจัย ส่วนมากเกิดจากการขาดสารอาหาร ทำให้ใบและลำต้นมีอาการใบเหลืองและสีซีดอ่อน ไม่สม่ำเสมอกัน คล้ายกับลักษณะใบด่างโดยความผิดปกติทางพันธุกรรม แม้จะรดน้ำและกลับมาดูแลให้สารอาหารที่เหมาะสม บางต้นก็ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะมาแสดงให้เห็นว่าเป็นสีเขียวตามเดิม รองลงมาคือโรคระบาดอันมาจากของเชื้อไวรัส เช่น Mosaic Virus จะมีอาการด่างเหลือง บางเป็นดวงทั่วทั้งใบ ไม่ให้ผลผลิต และมักแพร่ไปติดยังต้นอื่นๆในสวน ปัจจัยสุดท้ายคือดินเปรี้ยว ซึ่งลักษณะใบจะคล้ายกับกล้วยด่างแท้เกือบทุกประการ ต้องอาศัยการศึกษาจากแหล่งที่มาของต้นกล้วยต้นนั้น
วิธีซื้อ กล้วยด่าง ให้ไม่ถูกหลอก
1.ศึกษาความน่าเชื่อถือจากแหล่งที่มา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากกล้วยด่างเทียมบางครั้งแทบแยกไม่ออก ในวงการกล้วยด่างเคยเป็นวงการขนาดเล็กที่ผู้จำหน่ายรู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ คนที่ปลูกเพื่อจำหน่ายมักมีสวนสำหรับเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว สามารถให้ความรู้เรื่องการดูแลและการันตีต้นกล้วยด่างของตัวเองได้ ในสวนจะมีต้นแม่พันธุ์แท้ที่สมบูรณ์หลากหลายสายพันธุ์ และสามารถเปิดให้ผู้ซื้อดูชมได้ โดยไม่ใช้รูปของคนอื่นมาเพื่อการโฆษณา ผู้ซื้อกล้วยด่างมือใหม่ควรหลีกเลี่ยงการซื้อกล้วยด่างจากผู้ที่ไปขุดมาจากป่าโดยตรง เพราะหากไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญจะแยกได้ยาก แม้แต่ผู้ขายเองก็อาจไม่มีความรู้เพียงพอที่จะจำแนกได้
2.จำลักษณะของลวดลายกล้วยด่างเทียม ซึ่งหน้าตาจะออกมาเหมือนเดิมคล้ายๆกัน ส่วนมากมีลักษณะตามเส้นใบจะมีริ้วสีเหลืองหรือขาวยาวไปตลอดเส้นใบ หรือไล่สีไปตามเส้นใบ มักเกิดสีสันที่ไม่ชัดเจน เหมือนนำเอาใบกล้วยไปแช่ไว้ในน้ำสี และแพร่ดึงสีนั้นมาแสดงบนใบอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งใบ ในขณะที่ใบด่างแท้จะเกิดลวดลายและสีสันตัดกันชัดเจน เกิดได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า รวมถึงมีลวดลายที่แตกต่างไม่สม่ำเสมอเหมือนกันทั่วทั้งใบ
3.ก่อนซื้อควรศึกษาชนิดของต้นกล้วยด่างที่ซื้อให้ดีเสียก่อน ว่ามีหน้าตาและลวดลายการด่างตรงตามที่ผู้ขายบอกมาหรือไม่ หากไม่แน่ใจอาจเข้าไปปรึกษาในกลุ่มสมาคมคนที่สะสมกล้วยด่างที่มีมายาวนาน อย่าง คนรักกล้วยด่าง หรือ กล้วยด่าง – Variegated Banana Tree Thailand
การจัดส่งหลังซื้อขาย
ในการจัดส่งกล้วยด่างที่มีระยะเวลาส่งภายใน 1 วัน มีอยู่ 2 วิธี
- นำใส่ตะกร้าพลาสติก 2 ตะกร้า ครอบประกบกัน ส่วนมากเป็นวิธีที่ใช้ทั้งไม้ใบอื่นๆและกล้วยที่มีขนาดความสูงไม่เกิน 1 เมตร
- นำใส่กล่องต่อให้ได้ระยะยาวตามความสูงของต้นกล้วย ซึ่งมักไม่เกิน 2 เมตร โดยจะห่อพลาติกบริเวณใบและกระถางให้แน่น
ทั้งสองแบบจะไม่มีการเปลี่ยนเครื่องปลูก เพราะจะเป็นการหยุดการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่หากนอกเหนือจากนั้น เช่นความสูงของต้นกล้วยเกิน 2 เมตร หรือต้องจัดส่งในระยะไกลจำเป็นต้องนำใส่รถกระบะเพื่อนำไปจัดส่งด้วยตัวเอง เพื่อความปลอดภัยของต้นไม้
ขอขอบคุณข้อมูล จาก คุณอัศวเดช ตั้งโยธาพิพัฒน์กุล Assawadet Musaotto Tangyothapipatkul
เรื่อง ปัญชัช
ภาพ อัศวเดช ตั้งโยธาพิพัฒน์กุล และ อภิรักษ์ สุขสัย