ปลูกต้นไม้ลดมลพิษ วิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดมลพิษได้แม้อยู่บ้าน

คุณเคยมีอาการเหล่านี้กันบ้างหรือไม่?  ปลูกต้นไม้ลดมลพิษ

มีผื่นคันตามผิวหนัง ร่างกายแพ้สารเคมีง่าย มีอาการระคายเคืองตา จมูก คอ และระบบทางเดินหายใจ หายใจติดขัด ปวดศีรษะบริเวณหน้าผากเหนือกระบอกตาทั้งสองข้างและต้นคอ รู้สึกเหนื่อยล้าไม่มีแรง ง่วงซึม อาจเรื้อรังถึงขั้นเป็นหอบหืด อาการเหล่านี้มักเกิดเมื่ออาศัยอยู่ภายในอาคารมาระยะเวลาหนึ่ง และจะทุเลาหรือหายไปก็ต่อเมื่อออกจากที่นั่นหากคุณมีอาการดังกล่าวอาจสันนิษฐานได้ว่าคุณป่วยเป็น“โรคแพ้ตึก” หรือ“ตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome) เข้าให้แล้วล่ะค่ะ สาเหตุหลักของโรคนี้เกิดจากการที่ห้องนั้นไม่มีระบบหมุนเวียนอากาศที่ดีพอ มีเฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่เป็นแหล่งผลิตหรือสะสมสารพิษตลอดจนก๊าซพิษที่เกิดจากตัวมนุษย์เอง

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเรายังต้องใช้ชีวิตประจำวันและทำงานคลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้

วิธีหนึ่งที่แก้ปัญหานี้ได้ผลดีและทุกคนก็สามารถทำได้ง่าย ๆนั่นคือ “การปลูกต้นไม้ลดมลพิษ” ค่ะหลายปีก่อนองค์การนาซานำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับไม้ประดับที่มีประสิทธิภาพในการดูดสารพิษจำนวน 50 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดับเมืองร้อนที่ปลูกกันทั่วไปในบ้านเราต่อมาก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาอีกมากมายซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าต้นไม้สามารถลดมลมิษทางอากาศได้จริงแล้วทำไมถึงต้องใช้ต้นไม้ลดมลพิษ ลองค่อย ๆนึกตามนะคะว่านอกจากต้นไม้จะเป็นเครื่องฟอกอากาศให้สะอาดและเป็นธรรมชาติแล้ว ยังไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ต้องคอยเปลี่ยนตัวกรองอากาศ ไม่มีเสียงรบกวน ราคาถูก ทั้งยังทำให้จิตใจสดชื่นผ่อนคลาย เห็นข้อดีอย่างนี้ชักอยากปลูกต้นไม้กันแล้วใช่ไหมคะ ลองมาดูกันว่าสารพิษหรือมลพิษรอบตัวเรามีอะไรมาจากไหนและต้นไม้อะไรที่ช่วยลดมลพิษได้บ้าง

 รู้จักสารก่อมลพิษ

ฟอร์มาลดีไฮด์ พบในพาทิเคิลบอร์ดและไม้อัดที่เป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ทั้งชั้นวางของ เคาน์เตอร์ ตู้เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด วัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนไฟ วัสดุเคลือบด้านหลังของพรมปูพื้น ถุงบรรจุของ กระดาษไข กระดาษเช็ดหน้า และกระดาษเช็ดมือ
อาการ: สร้างความระคายเคืองกับเนื้อเยื่อต่าง ๆทั้งตา จมูก คอ และระบบทางเดินหายใจ อาจลุกลามกลายเป็นโรคหอบหืดได้
พืชลดมลพิษ: ปาล์มไผ่ วาสนา ลิ้นมังกร เข็มสามสี เดหลี เศรษฐีเรือนในไทรย้อยใบแหลม เฟินบอสตัน บีโกเนีย เบญจมาศและพลูด่าง

เบนซีน พบในควันยาสูบ ตัวทำละลายอุตสาหกรรม สีทาบ้าน หมึก น้ำมัน พลาสติก ยาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และน้ำมันเบนซิน
อาการ:ในระดับต่ำอาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ไม่อยากอาหาร มีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น กระวนกระวาย มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด ร่างกายอ่อนแอ มีปัญหาเกี่ยวกับไขกระดูก
พืชลดมลพิษ: เยอร์บีรา เบญจมาศกระถาง เดหลี ปาล์มไผ่ ไผ่กวนอิม ไอวี่ ลิ้นมังกร

ไตรคลอโรเอทีลีน เป็นตัวทำละลายในงานอุตสาหกรรมพบในหมึกพิมพ์ สี แล็กเกอร์ น้ำมันขัดเงา และกาวสังเคราะห์
อาการ: มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหัว วิงเวียนและหากได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้หมดสติรวมทั้งมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
พืชลดมลพิษ: เยอร์บีรา เข็มสามสี เดหลี วาสนา และปาล์มไผ่

ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง เช่น การจุดไฟ เครื่องทำน้ำร้อน ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์
อาการ : ในระดับต่ำๆจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะและปวดศีรษะ ขณะที่หากได้รับแบบเฉียบพลันอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปขัดขวางการส่งผ่านก๊าซออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆของร่างกาย
พืชลดมลพิษ: ปาล์มไผ่ เศรษฐีเรือนนอก พลูด่าง วาสนา เข็มสามสีลิ้นมังกร เดหลี เบญจมาศ ไอวี่ ฟิโลเดนดรอนใบหัวใจ

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซตามธรรมชาติที่รู้จักกันดีเกิดจาการเผาไหม้ของสารประกอบที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง มีประโยชน์ใช้ทำน้ำแข็งแห้งและใช้ในการสังเคราะห์แสงของพืช
อาการถ้ามีก๊าซนี้มากจนถึงร้อยละ 25-30จะทำให้หายใจช้าลงความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัว สลบ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
พืชลดมลพิษ : หมากเหลือง เป็นต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีเยี่ยม ส่วนต้นอื่นๆที่มีประสิทธิภาพดีไม่แพ้กันคือ เกล็ดแก้ว ดาวเรือง ตีนตุ๊กแก ชงโค เทียนทอง แพงพวย ยี่โถ ราชพฤกษ์ เวอร์บีนา สัตบรรณ มะขามเทศด่าง

 รู้หรือไม่ ข้าวของเครื่องใช้รอบ ๆตัวเราที่มาจากวัสดุสังเคราะห์ ได้แก่ ฝ้าเพดานสำเร็จรูป จอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ พรมปูพื้น น้ำยาลบคำผิด สีทาอาคาร พาร์ทิเคิลบอร์ด น้ำยาเคลือบเงาไม้ วอลล์เปเปอร์ กาววิทยาศาสตร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และน้ำยาเคลือบเงาไม้ ยังมีสารพิษอื่น ๆอีกเป็นจำนวนมากทั้งไซลีน โทลูอีน แอมโมเนีย แอลกอฮอล์ ฯลฯ นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เพื่อลดสารเหล่านั้นแล้วสิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือที่ปลอดภัยกับธรรมชาติ รวมทั้งทำให้อากาศในห้องหมุนเวียนถ่ายเทอยู่เสมอ

 ปลูกต้นไม้อะไร ตอนไหนดี

บอสตันเฟิน

คุณสมบัติดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์ได้ในอัตรา 1,863 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง  ไซลีน 208 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่า ถ้าคุณซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ หรือพรมปูพื้นให้ใช้ 1 หรือ 2 ต้น ตามความเหมาะสมในแต่ละห้อง

ไอวี่

คุณสมบัติ ดูดซับเบนซีน  90 เปอร์เซ็นต์(วัดจากห้องที่ปิดสนิท) ฟอร์มาลดีไฮด์ที่อัตรา 1,120 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง ไซลีนที่อัตรา 131 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่าเหมาะสำหรับห้องที่ทาสีหรือปูพรมใหม่ ๆ รวมทั้งห้องที่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ พริ้นเตอร์ เครื่องส่งเอกสาร หรือหมึกพิมพ์

หมากเหลือง

คุณสมบัติดูดซับไซลีนที่อัตรา 654 ไมโครกรัมต่อชั่วโมงและฟอร์มาลดีไฮด์ที่อัตรา 938 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่า ใช้ได้ทุกห้องและมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ในห้องที่ปูพรมใหม่ ๆหรือห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ขัดเงา

เศรษฐีเรือนนอก

คุณสมบัติดูดซับคาร์บอนมอนอกไซด์มากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณก๊าซที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ไซลีนที่อัตรา 268 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง และฟอร์มาลดีไฮด์ที่อัตรา 560 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่าควรใช้ในห้องครัวที่มีเตาแก๊สหรือในห้องที่มีเตาผิง ซึ่งมีการสะสมก๊าซคาร์มอนอกไซด์

วาสนา

คุณสมบัติดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์ได้ที่อัตรา 1,361 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง  และไซลีนที่อัตรา 154 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่ามีประสิทธิภาพดีในห้องที่ปูพรมเสร็จใหม่ๆ หรือมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่

ลิ้นมังกร

คุณสมบัติดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์ที่อัตรา 0.938 กรัมต่อชั่วโมง

แนะนำว่า ควรปลูกในห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีพาร์ทิเคิลบอร์ดและไม้อัดเป็นส่วนประกอบ

ปลูกต้นไม้ลดมลพิษ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพรรณไม้ลดมลพิษในอากาศ

  1. ต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดมลพิษต่าง ๆในอากาศ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสกล้วยไม้สกุลหวาย จั๋ง เงินไหลมาเดหลี ทิวลิป อโกลนีมานกแก้วราชินี บีโกเนีย เบญจมาศ เฟินชนิดต่างๆ พลูด่าง ฟิโลเดนดรอนเยอร์บีรา วาสนา เศรษฐีเรือนนอก เศรษฐีเรือนใน สาวน้อยประแป้ง เสน่ห์จันทร์แดง หนวดปลาหมึก ไอวี่ กล้วยแคระ กุหลาบหิน โกสน คริสต์มาส คล้าตีนกระต่าย คล้าแววมยุรา หน้าวัวอาซาเลีย
    2. ต้นไม้ที่ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนในเวลากลางคืนได้แก่ สับปะรดสี   ลิ้นมังกร  ว่านหางจระเข้
  2. รองศาสตราจารย์พาสินี สุนากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทดลองปลูกไม้เลื้อย 3 ชนิดโดยเลือกใช้ไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทย ดูแลรักษาง่ายมีใบปกคลุมดีและเติบโตเร็วพบว่าสร้อยอินทนิลเป็นต้นไม้ที่ตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุดเป็นอันดับแรกพวงชมพูเป็นอันดับที่ สองและตำลึงเป็นอันดับสุดท้าย

เรื่อง : “วรัปศร”
ภาพ : ปิยะวุฒิ ศรีสกุล
ภาพประกอบ : ปัณณวัจน์ ฤทธิเดช


ที่มา

วชิรพงศ์ หวลบุตตา.พรรณไม้ลดมลพิษ.  กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, 2544