บ้านผู้สูงอายุ ควรใช้พื้นไม้ ช่วยป้องกันเจ็บป่วยได้เพราะอะไร

ทำไมผู้สูงอายุจึงชอบอยู่บ้านที่ปูพื้นไม้ และรู้ไหม พื้นไม้ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ป่วยง่าย บ้านผู้สูงอายุ

บางคนอาจมีประสบการณ์ตรงที่ตอนวัยรุ่นชอบพื้นกระเบื้อง พื้นหิน เพราะอากาศร้อนจึงชอบพื้นเย็นๆ แต่พออายุมากขึ้นกลับมาชอบพื้นไม้ นอกจากเรื่องสไตล์ส่วนตัวแล้ว ก็เป็นเพราะการรับความรู้สึกร้อน-หนาวของผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใส่ใจเรื่องสุขภาวะในการอยู่อาศัย ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและมีคำตอบมาไขข้อสงสัย เพื่อให้ลูกหลานเตรียมพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม บ้านผู้สูงอายุ

บ้านผู้สูงอายุ

ความรู้สึกร้อน-หนาวเกิดจากอะไร

ความรู้สึกร้อนหรือหนาวนั้นเกิดจากประสาทสัมผัส โดยภายใต้ผิวหนังของเรามีเซลล์ประสาทหลายชนิด ทำหน้าที่ “รับสิ่งเร้า” และเซลล์ประสาทเหล่านี้ยังแบ่งออกเป็นกิ่งก้านย่อยๆจำนวนมาก เพื่อนำความรู้สึกที่ได้รับไปสู่สมองในการรับสัมผัสทางผิวหนังนั้น เชื่อกันว่าร่างกายมีจุดรับสัมผัสจำนวนมาก โดยมีปลายประสาท 4 ชนิดกระจายอยู่ทั่วไป และแต่ละจุดจะมีหน้าที่รับความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การรับสัมผัสทางผิวหนัง การรับความเจ็บ การรับอุณหภูมิร้อน การรับอุณหภูมิเย็น โดยอุณหภูมิปกติของร่างกายเราอยู่ที่ 36.4 – 37.7 องศาเซลเซียส และเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของห้อง พื้นผิว และสภาพแวดล้อม โดยร่างกายจะพยายามรักษาอุณหภูมิภายในไว้ที่แกนร่างกาย แต่ผิวของร่างกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับตัวมากน้อยต่างกันตามช่วงอายุ  บ้านผู้สูงอายุ

อุณหภูมิส่งผลกับร่างกายอย่างไร

เมื่ออุณหภูมิรอบตัวมีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายจะปรับตัวเพื่อรักษาสมดุล และเกิดการตอบสนองในแบบต่างๆกัน

  • เมื่ออุณหภูมิรอบตัวร้อนจัด ร่างกายจะเฉื่อยชาลงเพื่อไม่เพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย และสมองจะเรียกร้องให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เราจึงรู้สึกง่วงนอน และอยากจะอยู่เฉยๆ
  • เมื่ออุณหภูมิรอบตัวหนาวจัด การเผาผลาญจะเกิดขึ้นไม่ดี เนื่องจากเอ็นไซม์ต่างๆทำงานไม่ดี เกิดพลังงานน้อย ความร้อนจึงเกิดขึ้นน้อยด้วย และที่สำคัญที่สุดคือร่างกายต้องสูญเสียความร้อนให้กับสภาพแวดล้อม ร่างกายจึงต้องสงวนความร้อนไว้ โดยทำให้เส้นเลือดที่บริเวณผิวหนังหดตัวไม่ให้เกิดการระเหย
  • ช่วงเช้า เวลาประมาณตี 3-4 เป็นเวลาที่อุณหภูมิอากาศต่ำสุดของวัน และอุณหภูมิร่างกายจะต่ำสุดเช่นกัน โดยอยู่ระหว่าง 36.3 – 36.5 องศาเซลเซียส
  • ช่วงบ่าย เวลาประมาณบ่าย 2-3 โมง เป็นช่วงอุณหภูมิอากาศสูงสุดของวัน แต่อุณหภูมิร่างกายจะลดต่ำลงชั่วครู่ ทำให้รู้สึกง่วงนอน จึงเหมาะสำหรับการงีบหลับ
  • ช่วงค่ำ เวลาประมาณ 1 ทุ่ม อุณหภูมิร่างกายจะขึ้นสูงสุดอยู่ระหว่าง 37.4 – 37.6 องศาเซลเซียส

เด็กและผู้สูงอายุปรับตัวตามอุณหภูมิได้ยาก

เราจะรู้สึกสบายเมื่ออุณหภูมิโดยรอบร่างกายอยู่ที่ช่วง 22-29 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 20-75% ซึ่งเป็นสภาวะน่าสบาย โดยอุณหภูมิอากาศไม่สูงกว่าอุณหภูมิผิวของร่างกาย (32 องศาเซลเซียส) เพื่อให้สามารถเกิดการระบายความร้อนสู่สภาพแวดล้อมได้ แต่หากอุณหภูมิโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากจะรู้สึกไม่สบายแล้ว ร่างกายจะปรับตัวมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ โดยมีคน 2 กลุ่มที่ปรับตัวได้ยาก คือ

  • เด็ก อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมได้ง่าย เพราะศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่
  • ผู้สูงอายุ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและไขมันมีน้อย เลือดเลี้ยงผิวหนังลดลง ทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าวัยอื่นๆบ้านผู้สูงอายุ

พื้นไม้มีอุณหภูมิคงที่ ร่างกายจึงไม่ปรับตัวบ่อย

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าร่างกายของเราได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมโดยรอบตัวอย่างมาก ทั้งอุณหภูมิห้อง สภาพแวดล้อม และพื้นผิวที่เท้าเราเหยียบสัมผัสโดยตรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ร่างกายปรับตัวยากขึ้นเรื่อยๆ จากการเสื่อมถอยของร่ายกาย และฮอร์โมนต่างๆ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและไขมันมีน้อย เลือดเลี้ยงผิวหนังลดลง ทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าวัยอื่นๆ อยู่ระหว่าง 36.0-36.9 องศาเซลเซียสเท่านั้น ยิ่งทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังน้อยลง ส่งผลให้รู้สึกร้อน-หนาวง่ายขึ้น

วัสดุที่เหมาะสำหรับปูพื้น บ้านผู้สูงอายุ จึงไม่ควรปรับเปลี่ยนตามอุณหภูมิอากาศของห้องหรืออุณหภูมิสภาพแวดล้อมง่ายจนเกินไป วัสดุไม้มีคุณสมบัติแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับสภาพแวดล้อมโดยรอบต่ำ ทำให้พื้นไม้มีอุณหภูมิคงที่ จึงเหมาะกับพื้นห้องผู้สูงอายุ สามารถให้เท้าเปล่าเหยียบสัมผัสได้ และลดอาการชากระทันหัน จนเสียหลัก ล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนั้นพื้นไม้ยังช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ห้องผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุพื้นที่มีการถ่ายเทความร้อน-เย็นกับอุณหภูมิห้องหรือสภาพแวดล้อมเร็วจนเกินไป เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นหินธรรมชาติ เพราะเมื่อผิวหนังสัมผัสแล้วจะรู้สึกไม่สบายตัว เกิดการถ่ายเทความร้อนไปมา และปรับตัวบ่อย ทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยได้ง่าย


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมบุคคลากรที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง เพื่อตอบโจทย์ Well-being ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : แฟ้มภาพบ้านและสวน


5 วิธีปรับบ้าน แก้ปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับ

ปรับบ้านรับวัยเกษียณ

10 จุดอ่อนบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยโดยไม่รู้ตัว

วัคซีนผู้สูงอายุ มีอะไรบ้างที่ต้องฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง