จะจัดสวนต้องซื้อต้นไม้แบบไหนบ้าง? แล้วซื้อมาแล้วจะมาปลูกที่บ้านอย่างไรให้ไม่ตาย? สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อต้นไม้สำหรับจัดสวน หรือพึ่งเริ่มต้นจัดสวนเองที่บ้าน แต่ไม่เคยปลูกต้นไม้รอบมาก่อน เราได้รวบรวมเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ การเลือกพรรณไม้ในการจัดสวน รวมไปถึงการปลูกต้นไม้แต่ละแบบอย่างถูกต้อง แบบที่เมื่อคุณอ่านจบคุณจะกลายเป็นผู้มีความรู้แบบนักจัดสวนได้ในทันที
ต้นไม้ใหญ่
ต้นไม้ใหญ่ หมายถึง ต้นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นตั้งตรง สูงได้มากกว่า 6 เมตร และแผ่ทรงพุ่มด้านบน จุดประสงค์หลักของการปลูกส่วนใหญ่เพื่อให้ร่มเงากับทั้งคนที่อยู่ด้านล่างใต้ต้นไม้ไปจนถึงตัวบ้านด้านข้าง นอกจากนั้นยังช่วยสร้างจุดเด่นในสวน ซึ่งต้นไม้ใหญ่แต่ละชนิดจะมีรูปทรงและลักษณะเด่นต่างกันไป สามารถเลือกไปใช้ตามความเหมาะสม
ข้อควรระวังในการปลูกต้นไม้ใหญ่
– รากชอนไชแผ่ขยายจนดันพื้นคอนกรีต บ่อปลา หรือสิ่งก่อสร้างจนแตกร้าว ควรแก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้ลงในกระถางก่อน เมื่อต้นโตเต็มที่แล้วค่อยปลูกลงดิน อีกทั้งหมั่นตัดแต่งกิ่งไม่ให้แผ่ไปมาก หลีกเลี่ยงต้นไม้ที่มีระบบรากขนาดใหญ่หรือมีพูพอนอย่างไทร โพธิ์ จามจุรี พญาสัตบรรณ หรือหางนกยูงฝรั่ง
-หมั่นตัดกิ่งที่เปราะหักง่ายจนหล่นมาเป็นอันตรายกับคนที่สัญจรไปมาหรือมีสิ่งก่อสร้างอยู่ใกล้ โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีกิ่งเปราะอย่างชมพูพันธุ์ทิพย์ จามจุรี นนทรี เป็นต้น
-หากปล่อยให้ต้นไม้ใหญ่สูงเกินไป ควรระวังเรื่องดินอ่อนทรุดตัว โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำกัดเซาะหรือหลังจากฝนตกหนักใหม่ๆ อาจส่งผลให้ต้นล้มและเกิดความเสียหายได้
-ควรปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่สวนว่ามีที่ว่างเพียงพอทั้งแนวราบและแนวตั้ง รวมไปถึงจำนวนที่เหมาะสมที่ทรงพุ่มไม่ชนกัน ดังนั้นก่อนปลูกจึงควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานของต้นไม้ชนิดนั้นๆว่ามีรูปทรงเป็นอย่างไร ระดับความสูงเท่าไหร่ ทรงพุ่มแผ่กว้างได้แค่ไหน และโตเร็วหรือเปล่า เพื่อจะเตรียมพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมและสามารถปลูกร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นในสวนได้
การปลูกต้นไม้ล้อมทำอย่างไร
– แต่เดิมเราอาจเข้าใจผิดว่าควรขุดหลุมปลูกให้ลึกถึงจะดี เนื่องจากอาจคิดว่าดินจะช่วยพยุงโคนต้นให้ตั้งตรงได้เร็ว หรือเป็นความเข้าใจที่ผิดว่ารากจะสามารถลงไปแทงหาอาหารได้ลึก ความจริงแล้วรากที่หาอาหารจะอยู่บริเวณใกล้ผิวดินและแผ่ออกไปด้านข้างมากกว่าแนวลึก มีต้นไม้ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะแทงรากแก้วลงไปลึก ดังนั้นควรขุดหลุมให้มีปากหลุมลึกเพียง 15-30 เซนติเมตร ยิ่งต้นไม้ล้อมที่ปลูกอยู่ในตุ้มดินเป็นระยะเวลานาน การขุดหลุมปลูกให้มีปากกว้างที่สุดตั้งแต่ครึ่งหนึ่งถึงสองเท่าของทรงพุ่มใบจะส่งเสริมให้ระบบรากสมบูรณ์ มีผลทำให้ลำต้นแข็งแรงและพุ่มใบเจริญเร็ว
-ไม่ควรใช้ดินปลูกที่วางขายใส่ถุงในท้องตลาดมาปลูก เพราะส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแกลบดำหรือใช้วัสดุที่มักไม่ย่อยสลายตัว ทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต รวมทั้งอาจมีเชื้อโรค รา ไข่แมลง และเชื้อวัชพืชติดตามมาด้วย ยิ่งถ้าดินรอบๆเป็นดินเลวหรือดินที่เพิ่งถมใหม่ ควรใช้ดินคุณภาพจากหน้าดินดีหรือผสมปุ๋ยหมักที่พร้อมใช้งานแล้วพรวนให้โปร่ง
– คลุมปากหลุมที่กลบแล้วด้วยวัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช โดยควรใช้วัสดุคลุมดิน เช่น หญ้าไทรตากแห้งสับ กาบมะพร้าวสับผสมขุยมะพร้าวที่ไม่มีเส้นใย ปุ๋ยหมักหยาบที่สลายตัวแล้ว ไม้บดจากโรงเลื่อย หรือเศษไม้สับที่ไม่ต้องหมัก จะผสมกันหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยไม่ควรใส่ให้ชิดโคนต้น เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราหรือที่อยู่ของแมลงได้ และไม่ควรปลูกหญ้าหรือไม้คลุมดินเพราะต้นไม้เหล่านี้โตเร็วและมักไปแย่งสารอาหารจากต้นไม้ที่เราเพิ่งปลูก ทำให้ต้นไม้ที่เราปลูกใหม่โตช้า
– เป็นความเข้าใจที่ผิดว่าการพันลำต้นด้วยกระสอบหรือวัสดุที่ช่วยรักษาความชื้นแก่ต้นไม้และช่วยป้องกันแสงแดดจัดในระยะแรก แต่การพันต้นไม้ให้เกิดความชื้นอาจเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของหนอน แมลงและเชื้อรา หากมีแผลที่ลำต้นก็อาจทำให้มองไม่เห็นและไม่ทันได้รักษาแก้ไข ควรใช้วิธีกำบังแบบอื่น เช่น ทำม่านตาข่ายพลาสติกรอบต้นในทิศใต้หรือทิศตะวันตกเพื่อพรางแสง
-ไม่ใช้ค้ำยันมากจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องยึดโยงส่วนที่สัมผัสกับลำต้น ควรใช้วัสดุแบนและยืดหยุ่นได้พอสมควร เช่น แถบพลาสติกอ่อนหรือแถบยาง การใช้ลวดหรือเชือกที่คมจะทำให้สีกับลำต้นจนเกิดแผลได้หรือรัดลำต้นแน่น หากปล่อยไว้นานจนกลืนเข้าไปในเนื้อไม้จะเกิดบาดแผลและลำต้นหักได้ การตรึงต้นไม้ด้วยค้ำยันที่มั่นคงและยาวนานเกินไปจะทำให้ลำต้นไม่แข็งแรง เนื่องจากต้นไม้ไม่สามารถขยายใหญ่ได้ โดยทั่วไปควรค้ำยันไว้ประมาณ 1-2 ปีก็เพียงพอ
-ไม้ล้อมที่เพิ่งนำมาปลูกใหม่ระบบรากยังไม่สามารถเอาสารอาหารจากปุ๋ยไปใช้ได้ การใส่ปุ๋ยในระยะแรกนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้วยังเป็นการเร่งให้วัชพืชโตเร็ว เพราะวัชพืชโดยทั่วไปจะมีระบบแข็งแรงจึงแย่งอาหารจากต้นไม้ที่ปลูกใหม่ได้ง่าย หากจำเป็นต้องให้ปุ๋ยในระยะแรกควรใช้ปุ๋ยแบบชนิดพ่นทางใบต้นไม้จะดูดซึมได้ดีกว่า โดยเราจะสามารถให้ปุ๋ยทางระบบรากปกติสำหรับต้นไม้ที่ปลูกอย่างถูกวิธีในช่วงต้นฤดูฝนแรกหลังจากปลูก โดยก่อนให้ปุ๋ยควรถอนวัชพืชและเกลี่ยวัสดุคลุมดินออกให้หมด
-ความจริงแล้วใบไม้คือแหล่งผลิตอาหารและคายน้ำ ช่วยให้เกิดแรงดูดน้ำจากรากสู่ส่วนบนของต้นไม้ หากต้นไม้ไม่มีใบหรือมีใบน้อย ต้นไม้จะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้หรือใช้น้ำไปเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ควรปล่อยกิ่งและใบที่ไม่เสียหายและไม่เป็นโรคเอาไว้ เพื่อช่วยสร้างอาหารให้มากที่สุดก่อน เมื่อต้นไม้แตกกิ่งหรือใบใหม่เพียงพอแล้ว จึงพิจารณาตัดกิ่งหรือใบตามรูปทรงที่เหมาะสม
ต้นไม้พุ่ม
ต้นไม้พุ่ม คือ ต้นไม้ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 6 เมตร มีทั้งแบบหลายลำต้นแยกจากผิวดินเป็นกอ หรือแตกกิ่งก้านสาขาใกล้ผิวดินเป็นพุ่ม มีอายุต้นมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หากนำต้นไม้พุ่มไปจัดสวนแล้วยังไม่ได้ระยะความสูงที่ใจต้องการควรปล่อยให้ต้นโตขึ้นไปก่อน ไม่ควรรีบตัดแต่ง แต่หากปล่อยไว้นานความสูงและทรงพุ่มจะแน่นเกินระยะที่ต้องการ ควรตัดแต่งอยู่เสมอ สามารถแยกออกได้เป็น
-ต้นไม้พุ่มสูง ส่วนมากจะจำแนกด้วยความสูงของต้นที่มีความสูงประมาณ 1.80-2 เมตร ใช้ปลูกเพื่อพรางตา สร้างความเป็นส่วนตัวในสวน เหมาะสำหรับกั้นแบ่งกำหนดขอบเขตให้มุมพักผ่อนส่วนตัว มีทั้งไม้ต้นที่เติบโตเป็นลำตั้งขึ้นและไม้กอที่มีหลายลำในหนึ่งกอ
-ต้นไม้พุ่มกลางและเตี้ย ความสูงของต้นประมาณ 0.50-1.50 เมตร ใช้สำหรับเพิ่มมิติให้สวน ทำให้สวนดูไม่แบน กำหนดขอบเขตกั้นแบ่งเพื่อกำหนดฟังก์ชันต่างๆ เช่น ระหว่างสนามหญ้ากับสวนหรือปลูกริมรั้วที่ต้องการมองเห็นมุมมองทิวทัศน์ภายนอกได้ชัดเจน มีทั้งต้นโตเป็นลำตั้งขึ้นและไม้กอที่มีอยู่หลายลำในหนึ่งกอ
ต้นไม้คลุมดิน
ต้นไม้คลุมดินส่วนใหญ่มีระดับความสูงประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร จุดประสงค์คือช่วยยึดเกาะหน้าดิน ทดแทนบริเวณที่ไม่ต้องการปูหญ้าเพื่อลดปัญหาการตัดแต่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันให้สวน ต้นไม้คลุมดินบางชนิดสามารถทนร่มได้มากกว่า จึงใช้ปลูกในบริเวณที่ร่มหรือรำไรแทนหญ้าได้ อาจใช้ร่วมกับการโรยกรวด
ต้นไม้เลื้อย
ส่วนใหญ่ช่วยสร้างมิติทางตั้งและเพิ่มระนาบเหนือศีรษะให้ความร่มเย็นและร่มเงาแบบไม่ทึบ ที่สำคัญใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก เพราะไม่แผ่กว้างเหมือนต้นไม้ใหญ่ แต่ควรมีพื้นที่ให้กิ่งหรือลำต้นยึดเกาะ เช่น ทำซุ้มระแนง กันสาด หรือผนัง ต้นไม้เลื้อยบางชนิดโตเร็วมากสามารถเลื้อยได้ไกล ขณะที่บางชนิดก็โตช้า อาจใช้ปลูกร่วมกันในระยะแรกที่ต้นไม้หลักยังไม่ออกดอกจะได้มีต้นเสริมที่โตเร็วขึ้นเป็นซุ้มและออกดอกให้ชมได้
ต้นไม้น้ำ
ต้นไม้น้ำ คือ ต้นไม้ที่ในธรรมชาติชอบเจริญเติบโตในน้ำหรือพื้นที่ริมน้ำ ที่น้ำท่วมถึง จุดประสงค์ที่นำมาใช้ในสวนเพื่อเพิ่มความสวยงามบริเวณบ่อน้ำหรือสวนน้ำ บางชนิดสามารถลอยน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ดิน เช่น จอก จอกหูหนู หรือแหน นอกจากนั้นรากหรือกอของไม้น้ำยังช่วยสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศในน้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์น้ำในธรรมชาติ รวมไปถึงนำไปทำปุ๋ยได้
เลือกซื้อต้นไม้กระถางจากร้านในท้องตลาด
-ดูความสวยงามและความสมบูรณ์โดยรวมของต้นไม้ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งที่เราจะนำไปใช้จัดสวน
-ใบและกิ่งก้านไม่มีโรคหรือร่องรอยของแมลงศัตรูพืชมากัดกิน กระถางดูสะอาด ไม่สกปรกจนมีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปอยู่อาศัย
-ดูแล้วต้นไม่แก่หรือแคระแกร็นเกินไป
-ต้นมีรูปทรงสวย มีความสมดุลกันทั้งด้านซ้ายและขวา ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ยกเว้นเป็นความต้องการหรือรูปทรงเฉพาะของต้นนั้นที่เกิดความงามในการนำไปจัดวางได้
-จับดูโคนต้นแล้วรากไม่โยกคลอน มีรากแผ่แล้ว ไม่ใช่กิ่งที่เพิ่งตัดแล้วนำมาปักชำโดยไม่มีราก
สนามหญ้า
สนามหญ้าช่วยเพิ่มความสบายตาและช่วยลดความร้อนหรือแสงสะท้อนให้สวน ทั้งยังให้ผิวสัมผัสที่นุ่มสบายเท้า แต่ก่อนทำสนามหญ้าควรทราบสภาพแสงบริเวณที่ต้องการปูหญ้าเสียก่อน อีกทั้งรู้จักชนิดหญ้าที่เหมาะสมกับสวน ดังนี้
-หญ้านวลน้อย ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด มีความทนทาน ผิวสัมผัสนุ่มนวล เดินเหยียบได้สบาย สภาพแสงแดดเต็มวัน มีราคาถูก สามารถใช้เครื่องตัดหญ้าหรือกรรไกรตัดได้ทุกชนิด
-หญ้ามาเลเซีย เติบโตในสภาพแสงรำไร โตช้า ช่วยลดเวลาในการดูแล เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบปลูกหญ้าแต่ที่สวนมีแสงแดดไม่มากนัก ไม่ต้องทนต่อการเหยียบย่ำ จึงควรทำทางเดินแยกมาจากส่วนสนามหญ้าหรือแทรกเข้าไป สามารถใช้เครื่องตัดหญ้าหรือกรรไกรตัดได้ทุกชนิด
-หญ้าเบอร์มิวด้า ให้ผิวสัมผัสที่สวยงามดูละเอียด เหมาะกับทำสนามกอล์ฟหรือพื้นที่สาธารณะเพราะทนแล้งได้ดี โตเร็ว จึงควรตัดหญ้าทุก 7-10 วัน เพื่อป้องกันโคนหญ้าเหลือง ต้องการสภาพแสงแดดเต็มวัน น้ำค่อนข้างเยอะ สามารถปลูกบริเวณริมทะเลได้
-หญ้าญี่ปุ่น ต้องการน้ำมาก เจริญเติบโตช้า ไม่เหมาะกับการปลูกในบริเวณพื้นที่กว้างมาก ข้อดีคือความแน่น เกิดวัชพืชขึ้นแทรกได้ยาก ชอบอากาศเย็น และสภาพแสงแดดเต็มวัน ควรใช้เครื่องตัดหญ้าที่มีกำลังสูง ใบมีดคม เพราะหญ้ามีความเหนียว
ผักสวนครัว
ผักสวนครัว คือ คำที่ใช้เรียกกลุ่มต้นไม้กินได้ ซึ่งมีทั้งต้นไม้คลุมดิน ต้นไม้พุ่ม ไปจนถึงต้นไม้ยืนต้น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มต้นไม้ล้มลุกที่อายุไม่มาก เช่น พริก โหระพา กะเพรา สะระแหน่ หรือผักสลัด คนส่วนใหญ่ปลูกผักสวนครัวหรือต้นไม้กินได้เหล่านี้อยู่ในบริเวณสวนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ครัวได้สะดวกที่สุดและได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ทำให้สวนครัวส่วนใหญ่ไม่ค่อยตกแต่งให้สวยงามนัก แต่มักทำเป็นแปลงปลูกส่วนตัวแยกกับต้นไม้อื่นในสวน เพื่อง่ายต่อการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยว ด้วยความที่ผักสวนครัวมีระยะเวลาที่สวยได้ไม่กี่วันก็ต้องถูกเก็บเกี่ยว แต่ปัจจุบันมีความพยายามปลูกผักสวนครัวเพื่อประดับในสวน ส่วนใหญ่จะปลูกแยกจากผักสวนครัวที่ต้องเก็บเกี่ยวมาบริโภคเป็นหลัก โดยปลูกคละชนิดกันเพื่อให้หมุนเวียนไปได้เรื่อยๆ และปลูกแทรกกับไม้ดอกหรือไม้ประดับอื่นๆ
การจัดพรรณไม้ชนิดต่างๆให้เข้ากัน
เมื่อนำพรรณไม้ต่างชนิดมาจัดรวมกันจะเกิดความแตกต่างกันทั้งขนาด รูปทรง และสีสัน เบื้องต้นเราควรมีไม้ประธานและไม้รองประธานที่สร้างจุดเด่นนำสายตาร่วมกับไม้พรางตา และกำหนดขอบเขตของแปลงหรือทางเดิน เพื่อให้ภาพรวมของสวนดูสวยงาม
นอกจากรั้วจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของบ้านหรือพื้นที่สวนแล้ว ต้นไม้เองก็อาจทำหน้าที่นั้นได้เช่นกัน ทั้งปลูกเป็นแนวติดกันเพื่อเป็นแนวกำแพงของพื้นที่หรือแบ่งการใช้งานของแต่ละมุม เช่น กันมุมนั่งเล่นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว โดยกั้นมุมนั่งเล่นส่วนตัวออกจากมุมทางเดินเข้าบ้าน หรือบังพื้นที่ครัวเปิดด้านหลังบ้านให้แยกจากพื้นที่ทำอาหาร อีกทั้งแนวต้นไม้ยังสามารถทำให้สวนดูเป็นระเบียบขึ้น เช่น ทำให้ขอบแปลงปลูกแยกออกจากสนามหญ้าหรือทางเดินอย่างชัดเจน สะดวกต่อการดูแลและตัดแต่ง
หากเรามองสำรวจเข้าไปภายในสวนที่จัดเสร็จแล้ว จากมุมใดมุมหนึ่งทั้งหน้าต่างและประตูบ้าน เราจะสะดุดตากับจุดหนึ่งที่เรามองไปเสมอก่อนที่จะมองดูภาพรวมทั้งหมดของสวน จุดนั้นเรียกว่าจุดนำสายตา ซึ่งหากเรามีจุดนำสายตาที่ดูสวยงามโดดเด่น ก็จะช่วยให้ภาพรวมของสวนดูสวยงามตามไปด้วยไม่ยาก โดยสิ่งนั้นอาจเป็นไม้ประธานใหญ่ฟอร์มสวยหรือต้นไม้ที่ดูโดดเด่นวางใส่กระถาง หรืออาจใช้งานประติมากรรมก็ได้
ผสมกันทั้งความกลมกลืนและแตกต่าง
การจัดสวนต้องผสมทั้งความสวยกลมกลืนและจุดเด่นที่แตกต่างกันในจุดต่างๆด้วย จึงทำให้สวนดูสวยงาม โดยความกลมกลืนมาจากการจัดภาพรวมด้วยสวนสไตล์เดียวกันที่เลือกของตกแต่งทั้งเฟอร์นิเจอร์ และพรรณไม้ที่เข้ากัน เช่น ต้นไม้สไตล์ป่าร้อนชื้น ต้นไม้ทะเลทราย หรือต้นไม้ในกลุ่มสน ที่ให้ทั้งรูปทรงและผิวสัมผัสที่ใกล้เคียงกันอยู่ร่วมกัน
ส่วนความแตกต่างคือการเลือกใช้พรรณไม้ที่มีผิวสัมผัสและสีสันที่ต่างๆจากต้นไม้ส่วนใหญ่เข้ามาจัดวางเพื่อเป็นจุดเด่นร่วมกับภาพรวมที่ดูกลมกลืน โดยใช้เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น เพื่อทำให้สวนในมุมนั้นเกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เช่น แปลงที่ปลูกต้นไม้ดอกสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่ การที่เรานำไม้ดอกสีม่วงเข้ามาปลูกแทรกก็จะทำให้แปลงนั้นดูสดใสและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
หลอกให้สวนแคบดูกว้าง
เทคนิคการจัดสวนในพื้นที่แคบมีอยู่หลายวิธี วิธีพื้นฐานคือการจัดวางพื้นที่และพรรณไม้ให้ดูหลอกตา จากเดิมที่เรามักนำต้นไม้ที่มีรูปทรงสูงชะลูด เช่น โมก จั๋ง หรือเฮลิโคเนีย มาปลูกขนาบทางเดินยาวตรงในส่วนที่แคบก็จะได้มุมมองที่ดูธรรมดา เราสามารถแก้ไขให้สวนดูน่าสนใจและกว้างขึ้นโดยการใช้เส้นโค้งลักษณะตัวเอส (s) แล้วเปลี่ยนจากต้นไม้ทรงสูงมาเป็นต้นไม้พุ่มขนาดความสูงไม่เกิน 70 เซนติเมตร เพื่อลดความรู้สึกแคบ โดยแบ่งปลูกเป็นกลุ่มผสมกัน 3-5 ชนิด ก็จะทำให้มุมแคบๆเกิดสีสันและมุมมองที่กว้างและน่ามองมากขึ้น
หรืออาจใช้จุดนำสายตาหรือพักสายตามาขวางเป็นช่วงๆ เช่น ซุ้มประตู งานประติมากรรม หรืออ่างน้ำนก เพื่อให้พื้นที่แคบยาวดูสั้นลงและเกิดมิติในการมองได้หลายระดับขึ้น อีกเรื่องคือการใช้สีสันภายในสวน การใช้สีที่สว่าง เช่น ขาว เทา เหลือง ชมพู จะช่วยให้สวนดูโปรงสบายมากกว่าสีเขียวเข้มหรือสีโทนขรึม แต่ก็สามารถนำมาปลูกผสมกันได้เช่นกัน เพื่อให้เกิดสีสันและมิติในการมองมากขึ้นกว่าปกติ เช่น สีที่ดูขรึมเมื่อไปอยู่ด้านหลังจะหลอกตาให้สวนดูลึกมากกว่าความเป็นจริง
ปลูกต้นไม้ในอาคาร
พรรณไม้ส่วนใหญ่ที่นิยมนำมาปลูกในบ้านมักเป็นต้นไม้ที่ทนร่มหรือแสงแดดรำไร บางชนิดสามารถอยู่ได้ทั้งกลางแจ้งและรำไร เช่น ไทร หมากเหลือง หมากผู้หมากเมีย จันผา ฯลฯ หากวางไว้บริเวณริมหน้าต่างควรหมุนกระถางเพื่อให้ทุกส่วนของต้นไม้รับแสงสม่ำเสมอ และหากต้นเริ่มยืดยาวจนเสียรูปทรง ควรนำออกไปวางไว้นอกอาคารโดยมีวิธีการสังเกตอาการต้นไม้ ดังนี้
-หากต้นไม้ใบซีด มีจุดเหลืองหรือน้ำตาลขึ้นเป็นหย่อมๆ แสดงว่าต้นไม้ได้รับแสงมากเกินไป
-หากต้นไม้มีใบใหม่ลีบเล็กลงและสั้นกุด ใบเก่าที่อยู่ด่านล่างเริ่มเหลืองและหลุดขาด แสดงว่าต้นไม้ได้รับแสงไม่เพียงพอ
-ต้นไม้ด่างที่อยู่ในร่มนานๆ ใบมักเปลี่ยนเป็นสีเขียว จึงควรนำออกไปรับแสงแดดบ้าง
ควรรดน้ำชุ่มถึงรากสัปดาห์ละครั้ง สังเกตที่กระถางหากเป็นกระถางดินเผาจะเก็บความชื้นและกระจายไปที่ดินจนทั่วสามารถสังเกตความชื้นที่ผิวดินได้ แต่หากเป็นกระถางพลาสติกจะเก็บความชื้อไว้ที่ก้นกระถางไม่สามารถสังเกตความชื้นที่ผิวดินได้ ในช่วง 6 สัปดาห์แรกควรงดให้ปุ๋ย รอให้ต้นไม้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมก่อน จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยแบบละลายช้าหรือปุ๋ยแบบฉีดทางใบ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง
ต้นไม้ที่เป็นอันตราย
สวนที่มีขนาดเล็กหรือมีพื้นที่จำกัดควรระมัดระวังต้นไม้อาจทำอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงได้โดยเฉพาะบริเวณทางเดินหรือพื้นที่ที่มีเด็กเล็กใช้งานอยู่เสมอ ได้แก่ กลุ่มต้นไม้ที่มีหนามแหลมคม เช่น หางนกยูงไทย กุหลาบ อากาเว่ กระบองเพชร และกลุ่มต้นไม้ที่มียางที่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนังหากสัมผัสถูกหรือรับประทานไปโดยไม่ตั้งใจ เช่น รำเพย ชวนชม สาวน้อยประแป้ง พญาไร้ใบ มีข้อสังเกตว่าต้นไม้ที่สามารถปลูกในบ้านได้ดีเกือบทุกชนิดจะมียางที่เป็นอันตรายต่อคน ดังนั้นบ้านที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังให้ต้นไม้อยู่ในบริเวณที่เด็กเอื้อมไม่ถึง นอกจากนี้ยังควรหลีกเลียงต้นไม้ใหญ่โตเร็วหรือมีกิ่งก้านรกรุงรังด้วย เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวโดนร่างกายจนเกิดอันตรายได้
ต้นไม้ผลที่น่าปลูกในบ้าน
ต้นไม้ผลส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น หากต้องการปลูกควรมีพื้นที่กว้างพอสมควร ไม่ควรปลูกชิดกับรั้วหรือตัวบ้านมากจนเกินไป มีระยะห่างจากตัวรั้วบ้านอย่างน้อย 2 เมตร เตรียมดินปลูกให้มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ไม่แนะนำให้ใช้ดินถมใหม่เพราะส่วนใหญ่มักเป็นดินเหนียวที่มีแร่ธาตุต่ำและระบายน้ำไม่ดี หากต้องการปลูกจริงๆต้องใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ผสมดินขุยไผ่หรือดินก้ามปูลงไปที่หลุมปลูกก่อน ประโยชน์ของต้นไม้ผลนอกจากออกผลแล้วยังให้ร่มเงากับบ้าน บางชนิดเป็นต้นไม้ฟอร์มสวยที่ตกแต่งสวนได้ เช่น ละมุดสีดา ชมพู่ม่าเหมี่ยว ลิ้นจี่ สาเก
หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ประเภทที่มียางอย่างมะม่วง ขนุน มะละกอ กล้วยไว้ใกล้บริเวณที่จอดรถหรือพื้นที่ซักล้าง เพราะยางจะร่วงตกลงมาก่อความรำคาญและเสียหายได้
เลือกต้นไม้ให้รับกับแสงแดด
ต้นไม้ต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์และปรุงอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ก่อนที่เราจะปลูกต้นไม้ควรทราบข้อมูลเบื้องต้นของต้นไม้ชนิดนั้นๆว่าชอบแสงแดดมากน้อยแค่ไหน และประเมินพื้นที่ที่เราจะปลูกว่าในหนึ่งปีมีแสงสว่างเพียงพอต่อความต้องการเท่าใด
ต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดส่วนมากจะเป็นไม้ดอก ไม้ผล ผักสวนครัว ไม้น้ำ และหญ้า หากนำไปปลูกในบริเวณที่แสงแดดน้อยเกินไป ต้นมักไม่เจริญเติบโต กิ่งก้านผอมบางยืดยาวเก้งก้างและเอนเข้าหาแสงจนเสียรูปทรง ดูไม่สวยงาม อีกทั้งยังไม่ผลิดอกและออกผลตามที่ต้องการ
ส่วนต้นไม้ที่ชอบแสงแดดรำไรส่วนใหญ่จะเป็นไม้ใบขนาดเล็กตั้งแต่กลุ่มไม้คลุมดินไปจนถึงไม้พุ่มที่หากนำไปปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ขอบใบมักไหม้ ดูทรุดโทรมและเหี่ยวเฉาไม่สวยงาม แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดที่สามารถปลูกได้ทั้งบริเวณที่มีแสงแดดจัดหรือแสงแดดรำไร เช่น ลิ้นมังกร เล็บครุฑ พลับพลึงตีนเป็ด ก้ามปูหลุด
ดินปลูกที่ดี
ดินปลูกในท้องตลาดมีให้เลือกหลายชนิด ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เลยหรือผสมกับวัสดุปลูกอื่นๆก่อน เช่น ขุยมะพร้าว แกลบดิน ขี้เถ้าแกลบ เพื่อช่วยเรื่องความโปร่ง การรักษาความชื้นในดิน และการระบายน้ำ เพื่อได้ดินปลูกที่เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้ชนิดนั้นๆ รวมถึงผสมกับพวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อเป็นตัวช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน โดยดินปลูกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ ดังนี้
-ดินผสมใบก้ามปู คือ ดินที่นิยมนำมาใช้เป็นดินปลูกมากที่สุด เนื่องจากเนื้อดินมีความโปร่ง ธาตุอาหารสูง ระบายน้ำได้ดีและมีอากาศถ่ายเท เหมาะกับใช้ปลูกไม้พุ่มและไม้คลุมดิน
-ดินขุยไผ่ มีเนื้อดินหนัก สีดินเข้มจับตัวเป็นก้อน แต่ร่วนง่าย เหมาะกับใช้ปลูกไม้ยืนต้น ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกไม้ล้อม เนื่องจากดินมีความหนาแน่น จึงช่วยพยุงรากและลำต้นของต้นไม้ต้นใหม่ได้ดี
-ดินหมักชีวภาพ เหมาะสำหรับปลูกไม้กระถาง ไม้ดอก ไม้ประดับที่ต้องการธาตุอาหารสูง มีคุณสมบัติคือ เนื้อดินโปร่งแม้ผ่านการรดน้ำหลายครั้งเนื้อดินก็ยังไม่จับตัวเป็นก้อน เป็นดินที่มีคุณภาพดี ราคาสูงกว่าชนิดอื่นๆ
-ดินปลูกแคคตัส มีลักษณะเป็นดินปนทรายที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้ที่ต้องการดินระบายน้ำดีมาก เช่น แคคตัสและไม้อวบน้ำ ซึ่งไม่ต้องการความชื้นมาก