การทำสวนแนวตั้งอาจมีขั้นตอนยุ่งยากเกินไปสำหรับเจ้าของบ้านที่ไม่มีเวลาดูแลสวนมากนัก อีกวิธีหนึ่งในการเนรมิตผนังบ้านให้กลายเป็นผนังต้นไม้เขียวสวยซึ่งทำได้ง่ายกว่าก็คือ การปลูกไม้เลื้อยขึ้นคลุมผนัง จนกลายเป็น ผนังไม้เลื้อย ที่สวยงาม
ซึ่งนอกจากจะทำให้บรรยากาศของบ้านหรืออาคารกลมกลืนไปกับธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิให้สถานที่นั้น ๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากต้นไม้ที่ปกคลุมจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน ช่วยป้องกันแสงแดดที่กระทบตัวอาคารโดยตรง และสะท้อนความร้อนบางส่วนให้กลับสู่อากาศ ไม่สะสมเหมือนวัสดุก่อสร้างทั่วไป รวมถึงมีประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ กล่าวคือ ช่วยกรองฝุ่นละออง ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้สถานที่นั้น ๆ มีความสวยงามมากขึ้น สำหรับบ้านที่ต้องการผนังเขียวแบบไม่ต้องมีงานระบบยุ่งยาก การทำ ผนังไม้เลื้อย / กำแพงไม้เลื้อย ก็เป็นอีกทางเลือกที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง
การทำ ผนังไม้เลื้อย
วิธีทั่วไป คือ ปลูกไม้เลื้อย ลงดินให้เลื้อยขึ้นผนัง แต่หากเป็นบ้านที่ไม่มีพื้นดิน หรือปลูกบริเวณระเบียงก็สามารถปลูกลงกระบะต้นไม้และปล่อยให้เลื้อยขึ้นผนังได้เช่นกัน ทั้งนี้นิยมทำกัน 2 รูปแบบ คือ ปล่อยให้เลื้อยเกาะผนังอาคารโดยตรง อาจมีวัสดุช่วยพยุงให้ไม้เลื้อยยึดเกาะได้ดีมากขึ้น เช่น เอ็น เชือก สะลิง ระแนง หรือคลิปยึดสายไฟ อีกวิธีคือทำโครงสร้าง เช่น ระแนง ตะแกรงเหล็ก ลวดสะลิง โดยเว้นระยะจากผนังประมาณ 10-15 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ต้นไม้ยึดเกาะบนผนังโดยตรง ช่วยป้องกันความชื้นซึมผ่านผนัง ทั้งยังช่วยไม่ให้ไม้เลื้อยทำอันตรายต่อผนัง วิธีนี้ยังช่วยเรื่องการระบายความร้อนได้ดีมากขึ้น เนื่องจากมีช่องว่างให้ลมพัดผ่าน จึงระบายความร้อนจากผนังได้ดีกว่าการปลูกต้นไม้ให้แนบเลื้อยไปกับผนังอาคารโดยตรง
ไม้เลื้อยน่าปลูก
ไม้เลื้อยแทบทุกชนิดสามารถปลูกขึ้นระแนงเพื่อทำผนังสีเขียวได้ โดยทำโครงให้เป็นที่ยึดเกาะ แต่มีข้อควรระวัง คือ การเลือกใช้ไม้เลื้อยที่มีเถาขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อไม่ให้เถาต้นไม้เติบโตจนทำให้โครงที่เตรียมไว้พังเสียหาย สำหรับพรรณไม้น่าใช้ ได้แก่ สร้อยอินทนิล หิรัญญิการ์ จันทร์กระจ่างฟ้า มอร์นิ่งกลอรี่ ม่านบาหลี จัสมินด่าง เถาวัลย์เปรียง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้เลื้อยบางชนิดที่สามารถปลูกในกระบะวางไว้บนอาคารชั้นบน เพื่อให้กิ่งห้อยเป็นสายลงมาเหมือนม่านธรรมชาติ ซึ่งใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน เช่น ลีกวนยู กระดุมทองเลื้อย และเฟื่องฟ้า ไม้เลื้อยบางชนิดยังปลูกให้เกาะยึดไปกับผนังได้ดี ทำให้ผนังดูเขียวสวยเหมือนบ้านในต่างประเทศ พรรณไม้ที่นิยมใช้มีดังนี้
เหลืองชัชวาล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Macfadyena unguis-cati (L.) A.H.Gentry
ลักษณะ: ไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง เลื้อยได้ไกล 3-5 ม.
ไม้เลื้อยที่นิยมปลูกให้เลื้อยขึ้นบนผนังบ้าน เป็นไม้เถาเล็ก เจริญเติบโตเร็ว จึงปลูกให้เลื้อยเต็มผนังได้ในระยะเวลาไม่นานนัก ทั้งนี้จะเกาะยึดผนังขรุขระได้ดีกว่าผนังเรียบ เพราะ เหลืองชัชวาลมีส่วนที่เป็นมือพันสามแฉกเหมือนเล็บเกาะเกี่ยวไปบนผนัง อย่างไรก็ตามควรทำตาข่ายหรือขึงลวดสะลิงช่วย เพื่อไม่ให้ไม้เลื้อยโค่นล้มลงมาได้ง่าย เพราะ เหลืองชัชวาลจะยึดเกาะบนผนังแบบหลวม ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่เหมาะจะปลูกเป็นไม้เลื้อยบนอาคารสูงที่มีลมพัดแรง เพราะจะทำให้กิ่งหลุดจากผนังได้ง่ายและพันกันดูไม่สวยงาม
ตีนตุ๊กแก
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tridax procumbens L.
ลักษณะ: พืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นทอดนอนไปกับพื้น ชูยอดขึ้นสูง 20-70 เซนติเมตร
ไม้เลื้อยที่นิยมปลูกให้ขึ้นผนังกันมานาน ข้อดีของพืชชนิดนี้ คือ ตัวรากจะยึดเกาะกับผนังแนบไปกับตัวอาคาร จึงไม่จำเป็นต้องทำโครงช่วยให้ยึดเกาะ แต่หากต้นเติบโตไปจนสุดผนังแล้ว กิ่งนั้นจะเจริญเป็นกิ่งใหญ่ จึงควรหมั่นเล็มกิ่งอย่างสม่ำเสมอให้ผนังเขียวสวยตลอด ข้อควรระวังอย่างหนึ่งในการปลูกตีนตุ๊กแก คือ ผนังอาคารนั้นไม่ควรมีรอยร้าวหรือกะเทาะ เนื่องจากรากอาจชอนไชเข้าไปตามรอยเหล่านี้และทำให้เกิดความเสียหายได้
ดีปลี
ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper retrofractum Vahl
ลักษณะ: ไม้เลื้อยอายุหลายปี ลำต้นทอดนอนไปกับพื้น ชูยอดขึ้นสูง 15 เซนติเมตร
ไม้เลื้อยขนาดเล็กนิยมปลูกตามแนวรั้วหรือเกาะกำแพง มีรากพิเศษออกตามข้อทำหน้าที่ยึดเกาะ โดยส่วนใหญ่นิยมปลูกดีปลีและพริกไทยเลื้อยเกาะผนังร่วมกับไม้เลื้อยชนิดอื่น โดยเฉพาะตีนตุ๊กแก สร้างเท็กซ์เจอร์ใบที่สวยงามแปลกตาบนผนัง
ไอวี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedera helix L.
ลักษณะ: ไม้เลื้อยเนื้ออ่อนขนาดเล็ก ทอดเลื้อยได้ไกล 2 – 4 เมตร
ในต่างประเทศนิยมปลูกไอวี่ให้เลื้อยเกาะผนังอาคาร ด้วยรูปทรงของใบที่เป็นแฉกสวยงาม มีมือแตกตามข้อจึงยึดเกาะผนังได้ดี สำหรับบ้านในเมืองไทยมีการปลูกเลี้ยงไอวี่ให้เลื้อยขึ้นผนังอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากต้องดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ โดยไอวี่ต้องการสภาพอากาศเย็นและความชื้นปานกลางจึงจะเจริญเติบโตได้ดี โดยส่วนใหญ่แล้วจึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกระถางมากกว่า
การดูแลไม้เลื้อย
ไม้เลื้อยส่วนใหญ่ต้องการแสงแดดเต็มวัน ยกเว้นไม้เลื้อยบางชนิดที่ชอบสภาพร่ม ควรได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ควรเสริมด้วยปุ๋ยสูตรเสมอประมาณเดือนละครั้ง แต่ในฤดูออกดอกควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงเพิ่มเติม หลังจากดอกโรยจึงใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก เพื่อบำรุงดิน
การ ปลูกไม้เลื้อย ให้เกาะผนังได้เร็วในระยะแรกควรให้พืชได้รับความชื้นสูงแต่ไม่แฉะ และสเปรย์น้ำบนผนังร่วมด้วย แต่หลังจากที่ต้นไม้ยึดเกาะผนังได้ดีแล้ว จึงให้น้ำตามปกติ นอกจากนี้ควรดูแลตัดแต่งกิ่งที่ยื่นออกจากผนังให้เรียบร้อยเพื่อให้ผนังเขียวสวยตลอด และหมั่นตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้ไม้เลื้อยที่ปลูกขึ้นผนังได้รับร่มเงามากเกินไป จะส่งผลให้ต้นไม้ทิ้งใบจนผนังอาจไม่เขียวสวยเหมือนช่วงแรกที่ปลูก
เรื่อง : “KESONLA”
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน