4 วิธีพื้นฐานในการ ต่อสายไฟ - ช่างประจำบ้าน โดย บ้านและสวน

4 วิธีพื้นฐานในการต่อสายไฟ

วิธีการ ต่อสายไฟ นั้นมีอยู่หลายแบบ ที่สำคัญคือต้องแน่นและแข็งแรง เพื่อให้สายไม่หลุดง่าย ไปดู 4 วิธีที่เราแนะนำกัน

ก่อนต่อสายไฟเพื่อเพิ่มความยาวของสายหรือต่อแยกสาย เราจะต้องปอกฉนวนที่หุ้มสายออก โดยให้เส้นทองแดงโผล่ออกมายาวประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วใช้คีมดึงหรือบิดเป็นเกลียว เพื่อให้จุดต่อมีการสัมผัสกันอย่างแน่นหนา ต่อไปนี้เป็นวิธีการต่อสายไฟ 4 วิธีที่แน่นและแข็งแรง ไปดูวิธีทำแต่ละแบบกันเลย

1. การต่อสายแบบหางเปียหรือหางหมู

ต่อสายไฟ

เป็นการต่อสายแบบไม่รับแรงดึง เหมาะสำหรับการต่อสายไฟที่มีขนาดเท่ากัน เช่น ต่อภายในกล่องต่อสาย เริ่มต้นด้วยการใช้คัทเตอร์หรือคีมปอกสายไฟ ปอกฉนวนที่หุ้มสายออกข้างละประมาณ 2 นิ้ว ใช้คีมจับสายไฟทั้งสองเส้นไว้ แล้วใช้คีมปากจิ้งจกหรือคีมปากจระเข้มาบิดเป็นเกลียวให้แน่น จากนั้นใช้คีมมาตัดเส้นทองแดงส่วนปลายออกหรือใช้คีมพับหรืองอปลายสายก็ได้ แล้วบีบให้แน่น โดยให้เหลือความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก่อนพันด้วยเทปพันสายไฟหรือสวมด้วยไวร์นัท (Wire Nut)

2. การต่อสายแบบรับแรงดึง

ปลอกสายที่หุ้มฉนวนออกเส้นละประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำมาพาดกันเป็นเครื่องหมายกากบาท หรือเครื่องหมายคูณ (X) ใช้คีมจับสายไฟทั้งสองเส้นไว้ในแน่น แล้วใช้คีมปากจระเข้หรือคีมปากผสมบีบแล้วหมุนให้เป็นเกลียว โดยให้สายไฟทั้งสองเส้นพันรอบตัวซึ่งกันและกัน

3. การต่อสายแบบแยก (หลายจุด)

ใช้สำหรับกรณีที่ต้องการต่อสายไฟฟ้าไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่ต้องตัดสายเส้นหลัก อาจต่อแยกสายออกเป็น 3 ทาง หรือ 4 ทาง เริ่มต้นด้วยการปอกสายไฟเส้นหลักที่ต้องการแยกความยาวประมาณ 1.5 นิ้ว แล้วปอกสายที่จะแยกออกความยาวประมาณ 3 นิ้ว จากนั้นนำมาพันกับสายเส้นหลักในทิศทางตามเข็มนาฬิกา โดยพันจากจุดกึ่งกลางออกไปทางด้านข้าง แล้วใช้คีมดึงและบิดเป็นเกลียวให้แน่น

การต่อสายแบบแยก 3 ทาง หรือตัวที (T)
การต่อสายแบบแยก 4 ทาง

4. การต่อสายแบบหุ้มฉนวนคู่

ต่อสายไฟ

ใช้คัทเตอร์ปอกฉนวนที่หุ้มปลายสายทั้งสองเส้นออกข้างละประมาณ 4-5 นิ้ว จากนั้นใช้คีมตัดสายเส้นใดเส้นหนึ่งของแต่ละข้างให้สั้นลง เพื่อไม่ให้จุดต่อตรงกัน (ให้รอยต่อเยื้องกันเล็กน้อย) แล้วนำมาพาดกันเป็นเครื่องหมายกากบาท ใช้คีมจับสายไฟทั้งสองเส้นไว้ในแน่น แล้วใช้คีมปากจระเข้บิดสายให้เป็นเกลียว เพื่อให้สายไฟพันรอบตัวซึ่งกันและกัน โดยต่อแบบสายเดี่ยวไปทีละเส้น เมื่อต่อเสร็จแล้ว รอยต่อจะไม่ตรงกัน แล้วจึงหุ้มต่อด้วยเทปพันสายไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

TIPS

เมื่อต่อสายไฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องหุ้มจุดต่อสายด้วยฉนวนเพื่อป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด หรือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งการหุ้มฉนวนที่นิยมคือการหุ้มด้วยเทปพีวีซีหรือเทปพันสายไฟ

การทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านนั้น เพื่อความไม่ประมาท ให้ปลดเมนสวิตช์ขณะทำการซ่อมแซม หรือเขียนป้ายเตือนไว้ว่า “ห้ามสับสวิตช์ไฟ!” แขวนไว้ที่เมนสวิตช์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน


เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์

ภาพ : สุพัตรา ภู่ซ้อน


5 ขั้นตอนตรวจระบบไฟฟ้าด้วยตัวเอง

เดินสายไฟร้อยท่อเหล็กสไตล์ลอฟต์

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag