Rapid Antigen Test Kit ตรวจโควิดใช้งานอย่างไร - บ้านและสวน

Rapid Antigen Test Kit ตรวจโควิดใช้งานอย่างไร

เพื่อการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงต้องเรียนรู้ว่า Rapid Antigen Test Kit ใช้งานอย่างไร เมื่อไรที่จะพบเชื้อ ยี่ห้อไหนที่อย.รับรอง และอ่านผลอย่างไรให้ถูกต้อง

 

Rapid Antigen Test คือการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยหาส่วนประกอบของเชื้อไวรัสที่มีอยู่ภายในโพรงจมูกหรือลำคอ ซึ่งการตรวจแบบนี้ใช้ได้กับทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วและผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เป็นการตรวจที่ทราบผลอย่างรวดเร็วได้ด้วยตัวเอง มีความต่างจากการเจาะเลือดหา Antibody ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากภูมิของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาแล้วได้

การตรวจโดยใช้ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วนี้ จะตรวจพบเชื้อไวรัส หลังจากรับเชื้อมาประมาณ 3-5 วัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่แสดงอาการหรือไม่แสดงอาการ (ดีที่สุดในช่วง 5-14 วัน จากนับจากวันรับเชื้อ) หากพ้นระยะ 14 วันและหายป่วยแล้วก็จะไม่สามารถตรวจหาเชื้อเจอ

 

วิธีตรวจโควิด Rapid Antigen Test ด้วยตัวเอง

  1. ก่อนอื่นเตรียมพื้นที่ซึ่งไม่มีการปนเปื้อน ล้างมือให้สะอาด หากมีน้ำมูกควรเคลียร์จมูกก่อน
  2. ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ
  3. แกะบรรจุภัณฑ์ออก โดยปกติชุดตรวจจะประกอบด้วย ก้านสำลีสำหรับ Swab หลอดใส่น้ำยาตัวอย่าง ฝาหยด ตลับทดสอบ และเอกสารกำกับ ทำการอ่านเอกสารกำกับอย่างถี่ถ้วน แต่ละยี่ห้ออาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน
  4. ฉีกซองที่บรรจุก้านสำลีออก ระวังอย่าให้มือไปสัมผัสตรงสำลีที่ต้องใช้เก็บตัวอย่าง และส่วนก้านบางส่วนที่จะต้องจุ่มลงในหลอดน้ำยา
  5. จับก้านสำลีให้ถนัด ทำการ swab หรือกวาดแยงจมูก โดยเงยหน้าเล็กน้อย แยงเข้าไปอย่างช้าๆ ในแนวนอนตามโพรงจมูกด้านใน ความลึกดูตามใบกำกับที่แนบมากับชุดตรวจ ระวังอย่าแหย่แรงจนเกิดบาดแผล และหมุนตามจำนวนรอบที่แนะนำในเอกสารกำกับ (5 รอบ โดยประมาณ) ทำเช่นนี้ทั้งจมูกข้างซ้ายและขวา
  6. เปิดฝาหลอดใส่น้ำยาตัวอย่าง จุ่มสำลีลงไปในน้ำยา แกว่งวนตามจำนวนรอบที่แนะนำในเอกสารกำกับ (5 รอบ โดยประมาณ) และบีบก้นหลอดเบาๆ เพื่อให้น้ำยารับกับสารที่เราทดสอบได้ดีขึ้น นำก้านสำลีออก
  7. นำฝาหยดมาปิดหลอดใส่น้ำยาอย่างระมัดระวัง
  8. หยดน้ำยาลงบนตลับทดสอบ จำนวนตามเอกสารที่กำกับ (3 หยด โดยประมาณ)
  9. วางตลับทดสอบในแนวนอน สังเกตุผลตามเวลาที่แนะนำ โดยทั่วไปจะใช้เวลา 15-30 นาที

 

การอ่านผลตรวจด้วยตัวเอง

แถบ C คือแถบควบคุมที่ตรวจสอบว่าชุดทดสอบนี้ใช้งานได้หรือไม่ ส่วนแถบ T ทดสอบเชื้อ

  1. มีแถบขึ้นทั้ง 2 แถบ ทั้ง C และ T หมายถึง พบเชื้อ
  2. มีแถบขึ้น 1 แถบที่ตัว C หมายถึง ไม่พบเชื้อ
  3. มีแถบขึ้น 1 แถบที่ตัว T หมายถึง ชุดตรวจนี้มีปัญหาใช้งานไม่ได้
  4. ไม่แถบขึ้นเลย หมายถึง ชุดตรวจนี้มีปัญหาใช้งานไม่ได้

*หากมีแถบขึ้นทั้ง 2 แถบทั้ง C และ T แต่สีไม่เท่ากัน ก็หมายถึง พบเชื้อ แต่อาจมีสีต่างกันบ้างตามวิธีการจัดเก็บ

* ตรวจสอบชุดตรวจที่ อย. รับรองได้ที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx

 

เมื่อพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวเองทันที ติดต่อโรงพยาบาลตามขั้นตอนซึ่งปัจจุบันอาจต้องมีการรอเตียง และทำการทดสอบแบบ RT-PCR อีกครั้ง โดยปัจจุบันได้กำลังมีแนวคิด Home Isolation และ Community Isolation หรือกักรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชนในผู้ป่วยรายซึ่งไม่แสดงอาการและไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อที่มีมากขึ้น

 

เรียบเรียง : สมัชชา วิราพร

ภาพประกอบ : คณาธิป จันทร์เอี่ยม


วิธีแยกตัวรักษาที่บ้านเมื่อตรวจพบเชื้อโควิด

มารู้จัก ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่ช่วยรักษาโควิดได้