สถานีกลางบางซื่อ ๙ ความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางรถไฟไทย
การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังพลิกโฉมระบบการเดินทางที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศกว่า ๑๐๕ ปี โดยเปลี่ยนถ่ายจากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) สู่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสถานีรถไฟอย่างเช่นแต่ก่อนเท่านั้น แต่ยกระดับเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆอย่างเต็มรูปแบบ และกำลังจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เรามาดูความพร้อมก่อนการเปิดใช้บริการและความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางรถไฟไทย สะท้อนผ่าน ๙ ไฮไลต์ของสถานีกลางบางซื่อที่ออกแบบเพื่อรองรับการใช้บริการที่สะดวก ปลอดภัย และการเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศ
๑ ชุมทางระบบราง
สู่การเดินทางไร้รอยต่อ
“ย่านพหลโยธิน” คือชื่อเดิมของบริเวณนี้ เป็นชุมทางของเส้นทางรถไฟทุกภูมิภาคมารวมกันบนพื้นที่ 2,475 ไร่ จึงเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางแห่งใหม่ เป็น Grand Station หรือสถานีรถไฟหลักที่ได้พัฒนาให้เป็น “ศูนย์กลางรถไฟไทย” ทุกระบบและรองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เป็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถของไทยที่สามารถเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเข้าด้วยกัน ในพื้นที่ใช้สอยกว่า 270,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 624,000 คนต่อวัน มี 24 ชานชาลาเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆให้เป็น “การเดินทางไร้รอยต่อ น้ำ บก อากาศ” ได้แก่
- เชื่อมต่อการคมนาคมทางราง คือ รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง และเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้ามหานคร
- เชื่อมต่อการคมนาคมทางอากาศ คือ รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
- เชื่อมต่อการคมนาคมทางบก มีการเชื่อมกับโครงข่ายถนนสายหลัก ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก และทางยกระดับอุตราภิมุข
- เชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำ รถไฟทางไกลและรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน เชื่อมต่อกับเรือโดยสารไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ที่สามารถต่อเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือโดยสารคลองแสนแสบ
พื้นที่ใช้งาน
สถานีกลางบางซื่อเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีชั้นลอยและชั้นใต้ดิน ซึ่งมีฟังก์ชันดังนี้
- ชั้นใต้ดิน ลานจอดรถ 1,624 คัน และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน
- ชั้นลอย พื้นที่ร้านค้าและห้องควบคุม
- ชั้น 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอยและห้องน้ำ
- ชั้น 2 รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา, รถไฟชานเมือง สายสีแดง 4 ชานชาลา
- ชั้น 3 รถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา, รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน 2 ชานชาลา
๒ ดีไซน์สะท้อนพลังการขับเคลื่อน
สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน บ้านและสวน ได้มีโอกาสคุยกับสถาปนิก คุณเกียรติสกุล เก็จมะยูร และคุณวินีตา กัลยาณมิตร จาก Design Concept Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและวางผัง งานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานโครงสร้าง งานระบบอาคารและภูมิสถาปัตยกรรม โดยมีแนวความคิดในการออกแบบ 3 ส่วนหลัก คือ
- อาคารส่วนรางรถไฟ เนื่องจากเป็นอาคารที่รองรับระบบรางจำนวนมาก และเพื่อลดปัญหาการจราจรผิวดิน จึงทำโครงสร้างรางยกลอยเหนือระดับดินเข้ามาสถานีที่ชั้น 2 และชั้น 3 ด้วยฟังก์ชันที่เป็นรางทอดยาว รูปทรงอาคารจึงมีลักษณะยาวประมาณ 500 เมตรตามแนวรางรถไฟ และออกแบบหลังคาโค้งทรงคลื่นที่สื่อถึงความเคลื่อนไหวที่มีพลังในการขับเคลื่อน โดยได้แรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์มิราจ (Mirage) ที่ผู้ออกแบบเคยเห็นทัศนียภาพเมืองมีลักษณะเป็นคลื่นซึ่งเกิดจากการหักเหแสงในชั้นบรรยากาศ และได้พัฒนาต่อยอดไอเดียนั้นจนเป็นรูปทรงหลังคาที่มีความพลิ้วไหวอยู่ในบริบทเมือง
- โถงทางเข้าหลัก เป็นจุดเด่นที่แสดงเอกลักษณ์อาคารให้คนจดจำและรองรับคนจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความเชื่อมโยงกับสถานีกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของการรถไฟ จึงออกแบบโถงทางเข้าหลักของสถานีเป็นหลังคาโค้งที่สื่อสัมพันธ์กัน
- สัญลักษณ์ของสถานี หน้าสถานีรถไฟทั่วโลกจะมีนาฬิกาเรือนใหญ่ จึงใช้นาฬิกาเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับเวลาและการเดินทาง โดยให้นาฬิกาทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ใช่เพียงบอกเวลา จึงออกแบบเลข ๙ บนหน้าปัด ซึ่งเป็นทั้งดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำสถานีนี้ และเป็นตัวเลขที่คนไทยทุกคนรู้ซึ้งถึงความหมาย
๓ ความลับของหลังคาโค้ง
หลังคาโค้งทันสมัยของโถงทางเข้าหลักสถานีกลางบางซื่อแห่งนี้กว้างประมาณ 100 เมตร (2 เท่าของหลังคาโค้งสถานีกรุงเทพซึ่งกว้าง 50 เมตร) ออกแบบโครงสร้างด้วยระบบโครงข้อแข็ง 3 มิติ (Space Frame System) และถ่ายแรงลงเสาสองข้างที่ออกแบบให้มีความสวยงามในตัวเอง เหนือฝ้าเพดานที่เห็นได้ซ่อนการออกแบบเปิดรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศไว้ โดยติดตั้งหลังคาสกายไลต์แล้วทำฝ้าเพดานเอียงให้เกิดการสะท้อนและตกกระทบเป็นแสงอินไดเร็กไลต์ เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร และมีช่องระบายอากาศพัดพาความร้อนออกไปด้านนอกได้ เป็นวิธีการออกแบบที่ช่วยให้อาคารขนาดใหญ่ๆแบบนี้มีแสงธรรมชาติส่องได้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็ไม่ร้อน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้แบบยั่งยืน
๔ โครงสร้างพิเศษรองรับแรงสั่นสะเทือนของรถไฟ
สถานีรถไฟมีการสั่นสะเทือนไม่เหมือนอาคารปกติ โครงสร้างเสาที่รับรางรถไฟเรียกว่า Pile และโครงสร้างรับรางเรียกว่า Viaduct มีลักษณะแบบเดียวกับที่เห็นเสาและรางของรถไฟฟ้า BTS และจำเป็นต้องมีการออกแบบรอยต่อระหว่างโครงสร้างหรือที่เรียกว่า Expansion joint เพื่อรับการเคลื่อนไหวของอาคารซึ่งมีการเคลื่อนไหวหลายทิศทาง โครงสร้างอาคารตั้งแต่ฐานรากถึงหลังคาจึงออกแบบให้แยกโครงสร้างกันตามการรับแรงที่ต่างกัน โดยแยกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ส่วนโถงทางเข้าหลักซึ่งรองรับการใช้งานของคน กับส่วนอาคารที่รองรับระบบรางรถไฟซึ่งมีการสั่นสะเทือนมากกว่า อีกทั้งโครงสร้างหลังคาเหล็กในแต่ละชานชาลาก็มีการขยับตัวไม่เท่ากัน จึงออกแบบหลังคาแต่ละผืนแยกโครงสร้างกัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยหลังคาสกายไลต์ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อที่ขยับตัวได้
๕ ดีไซน์ประหยัดพลังงาน
วิธีประหยัดพลังงานที่ได้ผลดีที่สุด คือ การเริ่มที่การออกแบบอาคาร โดยสถานีกลางบางซื่อออกแบบให้ใช้ระบบปรับอากาศเฉพาะโถงอาคารชั้นล่างเท่านั้น ส่วนชั้นอื่นๆ เปิดให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ มีการะบายความร้อนใต้หลังคาและในชานชาลา พร้อมทั้งทำหลังคาสกายไลต์ให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้แบบอินไดเร็กไลต์ ผนังกระจกและกระจกสกายไลต์ใช้กระจก Low-E เป็นกระจกประหยัดพลังงานที่มีการเคลือบผิวบนกระจก ซึ่งยอมให้แสงสว่างผ่านได้แต่ป้องกันความร้อนผ่านเข้ามาได้ดี และติดฟิล์มช่วยกรองแสง ส่วนสำคัญในการป้องกันความร้อนจากแสงแดด คือ วัสดุหลังคาซึ่งเลือกใช้หลังคาเมทัลชีตแบบแซนวิชที่กรุฉนวนใยแก้วหนา 20 เซนติเมตร ซึ่งไม่ลามไฟและปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ
๖ Universal Design
สถานีกลางบางซื่อออกแบบให้ทุกคนใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและเท่าเทียมกัน ทั้งเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ผู้พิการ และผู้โดยสารทั่วไป รวมถึงผู้โดยสารที่มีสัมภาระจำนวนมาก ด้วยการออกแบบตามหลัก Universal Design โดยเตรียมพื้นที่จอดรถสำหรับผู้พิการ การออกแบบระดับพื้นอาคารตั้งแต่ลานด้านหน้าและภายในอาคารทั้งหมดให้เป็นพื้นเรียบไม่มีระดับ มีพื้นทางลาด ลิฟต์ขึ้นไปยังทุกชานชาลา โทรศัพท์สำหรับผู้พิการ ป้ายบอกทอง จุดยึดและจุดจอดรถวีลแชร์ และห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ซึ่งทีมผู้ออกแบบได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมคนพิการเพื่อออกแบบให้ห้องน้ำมีความสะดวกและใช้งานได้จริง โดยทำแยกจากห้องน้ำปกติเพื่อให้ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ คนชราและผู้ดูแลสามารถใช้และดูแลกันได้โดยไม่แยกเพศหญิงหรือชาย
๗ สถานีปลอดภัย
ความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารและผู้โดยสารมีความสำคัญสูงสุด การออกแบบอาคารจึงคำนึงถึงความปลอดภัยในหลายด้านโดยเฉพาะด้านอัคคีภัย โดยโครงสร้างเหล็กทั้งหมดเคลือบด้วยสีป้องกันไฟ เมื่อเกิดเพลิงไหม้สีที่เคลือบไว้จะพองตัวกลายเป็นฉนวนหุ้มโครงเหล็กไว้ ช่วยป้องกันเพลิงไหม้ได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และภายในอาคารมีระบบเครื่องกลดูดควันเมื่อเกิดเพลิงไหม้ แล้วระบายออกภายนอกอาคาร รวมถึงการกำหนดจำนวนและความกว้างของบันไดเลื่อนก็มาจากกฎการคำนวณเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งต้องระบายคนออกมาให้ได้เร็วที่สุดภายใน 4-6 นาที และบันไดต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้มีในกฎหมายไทย แต่ยึดตามข้อกำหนด NFPA ที่เป็นสากล เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีการคำนวณหาระดับน้ำท่วมย้อนหลัง 150 ปี เพื่อการออกแบบป้องกันอุทกภัย รวมถึงรายละเอียดเล็กน้อยอย่าง พื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 จะไม่มีห้องน้ำ เพื่อลดจุดอับสายตา ป้องกันอันตราย เช่น การวางระเบิด หรือภัยจากมิจฉาชีพ
หมายเหตุ NFPA หรือ National Fire Protection Association เป็นองค์กรชั้นนำของโลกที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการป้องกันอัคคีภัย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเพื่อป้องกันอัคคีภัยและอุบัติภัยต่างๆ
๘ ชุมทางและชุมชนที่สัมพันธ์กัน
สถานีกลางบางซื่อเป็นทั้งชุมทางระบบขนส่งและศูนย์รวมผู้โดยสาร ซึ่งต้องออกแบบอาคารให้รองรับการใช้งานพร้อมทั้งกระจายระบบขนส่งและผู้โดยสารให้เร็วและสะดวกที่สุด โดยออกแบบให้เชื่อมกับระบบขนส่งต่างๆ ซึ่งมีสถานีขนส่งรถประจำทางเพื่อเดินทางต่อ มีพื้นที่จอดรถแท็กซี่ให้จอดรอคิวรับผู้โดยสารระบบเดียวกับสนามบิน มีที่จอดรถใต้ดินรวม 1,700 คัน ซึ่งเป็นโจทย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่พยายามให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความสะดวกสบาย เพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีมีร้านอาหารและร้านค้า และมีลานพระบรมราชานุสาวรีย์ด้านหน้าที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมของชุมชน เป็นที่ออกกำลังกาย รวมถึงเป็น Open space ของเมืองด้วย มีการออกแบบให้มีพื้นที่ซึมน้ำ พื้นที่หน่วงน้ำตามธรรมชาติ โดยออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของแลนด์สเคป อีกทั้งพื้นที่รอบอาคารมีการปลูก “ต้นไม้ยั่งยืน” คือเป็นไม้ยืนต้นที่มีระบบรากหยั่งลึกลงไปในพื้นดิน ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในอนาคต พื้นที่โดยรอบสถานีจะมีการพัฒนาด้านธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งเป็นไปตามกลไกของการเกิด “ย่านและชุมชน” แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป
“๙” สัญลักษณ์ในดวงใจ
แลนด์มาร์คที่เป็นหมุดหมายใหม่ของเมืองจะเป็นที่จดจำและกล่าวขวัญเมื่อมีสัญลักษณ์ที่เข้าถึงใจมวลชน นอกจากนาฬิกาจะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสถานีรถไฟแล้ว การออกแบบเลข ๙ ตัวเดียวบนหน้าปัดนั้นยิ่งดูทรงพลัง เนื่องด้วยเป็นอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนาฬิกาเก่าแก่ที่ออกแบบและผลิตนาฬิกากลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยกลไกภายในเป็นระบบสมัยใหม่ อย่างกรณีไฟฟ้าดับนาฬิกาจะหยุดเดิน แต่เมื่อไฟฟ้ามาเครื่องก็จะปรับเวลาตามระบบ GPS ซึ่งนาฬิกานี้จะเป็นที่จดจำและอยู่คู่สถานีกลางบางซื่อตลอดไป
Time Lapse การติดตั้งนาฬิกา
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ฤทธิรงค์ จันทองสุข, Design Concept Co., Ltd.