ออกแบบบ้านให้รู้สึกโปร่งสบาย ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
ทุกคนอยากทำบ้านให้ ”โล่ง โปร่ง สบาย” แต่จะทำ ความสูงฝ้าเพดาน เท่าไรจึงรู้สึกว่าโปร่งโล่ง คนส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึก แต่เรามีคำตอบที่มาจากหลักวิทยาศาสตร์
ซึ่งศึกษาโดย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) หน่วยงานที่ใส่ใจเรื่องสุขภาวะในการอยู่อาศัย ได้พบคำตอบว่า ความสูงฝ้าเพดาน 2.70 เมตร ทำให้รู้สึกไม่อึดอัด และฝ้าเพดานสูง 3.40 เมตร ทำให้รู้สึก โล่ง โปร่ง สบาย มาดูที่มาของคำตอบนี้กัน
การรับรู้ของมนุษย์
ก่อนจะเข้าใจว่าทำไมคนเราจึงรู้สึก “โล่ง โปร่ง สบาย” เพื่อมากำหนด ความสูงฝ้าเพดาน ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า มนุษย์จะเกิดความรู้สึกตามสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง กลิ่น รส อุณหภูมิหรือการสัมผัส ถ้าไม่อยู่ใน “เขตการรับรู้” จะไม่เกิดความรู้สึก เขตการรับรู้จึงเป็นเสมือนเส้นแบ่งระหว่างความรู้สึกกับความไม่รู้สึก และจาก “กฎของเฟชเนอร์” (Fechner’s law) พบว่า ระดับความเข้มของสิ่งเร้าภายนอกมีผลต่อระดับของการรับรู้ภายในของมนุษย์ และจาก “จิตฟิสิกส์” (Psychophysics) ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจ (โลกภายใน) และร่างกาย (โลกภายนอก) สิ่งเร้าที่สามารถวัดได้ โดยศึกษาประสาททั้งห้า รวมทั้งการรู้สึกเกี่ยวกับเวลา และความสามารถในการรับรู้แตกต่างกันของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ซึ่งพบว่าการรับรู้ทางตามีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ของร่างกาย ดังนี้
- การเห็น (Vision) ทางตา 75%
- การได้ยิน (Hearing) ทางหู 13%
- การสัมผัสและความเจ็บปวด (Touch) ทางผิวหนัง 6%
- การรับรส (Taste) ทางลิ้น 3%
- การได้กลิ่น (Smell) ทางจมูก 3%
ขอบเขตภาพ (Field of view)
จากความสามารถของประสาททางตาของคนเรารับรู้ได้มากที่สุด คือ 75% ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจกับปัจจัยของการรับรู้ทางประสาทตากัน
- ขอบเขตภาพ (field of view) ของตาขึ้นอยู่กับโครงสร้างของใบหน้าแต่ละคน แต่ปกติจะจำกัดอยู่ที่ 30° ด้านขึ้น (จำกัดโดยคิ้ว), 45° ด้านจมูก (จำกัดโดยจมูก), 70° ด้านล่าง, และ 100° ด้านขมับ เมื่อรวมการเห็นของตาทั้งสอง ลานสายตาจะจำกัดโดย 135° ในแนวตั้ง (มองขึ้นและลง) และ 200° ในแนวนอน (มองซ้ายและขวา)
- ขอบเขตการมองเห็น คือ มุมมองที่คนเรามองเห็นได้โดยไม่ต้องหันศีรษะ ประมาณ 40 องศาในแนวนอน โดยสามารถมองแนวตั้ง (ขึ้น-ลง) ได้มากกว่ามุมมองแนวนอน (ซ้าย-ขวา) ซึ่งมีมุมมองที่สะดวกสบายที่สุด โดยไม่ต้องก้มหรือเงยศีรษะ คือ มุมมองแนวตั้ง 27 องศา เหนือ/ใต้ระดับสายตา และมุมมองที่กรอกตาได้มากที่สุดโดยที่ยังสามารถแยกแยะสีได้ คือ เมื่อมองขึ้นข้างบน 25 องศา และมองลงข้างล่าง 40 องศา แต่หากมองโดยที่ไม่เจาะจง หรือการมองแบบไม่ต้องพยายามและยังคงมองเห็นได้ชัดเจน คือ มุมมองแนวตั้งเหนือและใต้ระดับสายตา 15 องศา อีกทั้งอิริยาบถต่างๆก็มีผลกับการมอง คือ มุมมองลงของระดับสายตาขณะยืน คือ 0-10 องศา แต่ถ้านั่งอยู่ มุมมองลงจะเป็น 0-15 องศา
ความสูงของฝ้าเพดานที่โปร่ง โล่ง สบาย
จากการศึกษาข้างต้น จึงนำมาสู่การออกแบบบ้านเพื่อสร้างความรู้สึกสบายจากการรับรู้ทางสายตาเป็นหลัก ซึ่ง ความสูงฝ้าเพดาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างรู้สึกให้ผ่อนคลายหรืออึดอัดได้ โดยสามารถคำนวณหาความสูงฝ้าเพดานที่เหมาะสมได้จาก ขอบเขตภาพ (Field of view) ร่วมกับ ระยะการรับรู้ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ (คิดจากคนทั่วไปที่มีความสูงของระดับสายตาอยู่ที่ 1.60 เมตร) สรุปได้ดังนี้
- การมองที่ชัดเจน เป็นการมองเห็นที่ไม่ต้องพยายามจะมีมุมการมองที่ 15 องศา
- การมองแบบที่กรอกตาได้มากที่สุด โดยที่ยังสามารถแยกแยะสีได้จะมีมุมการมองที่ 25 องศา
- การมองที่ยังชัดเจนในระยะไกลที่สุด คือ 3.60 เมตร
- ฝ้าเพดานสูง 2.70 เมตร เป็นระยะความสูงของที่ทำรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ซึ่งคิดจากระยะการมองที่ยังชัดเจนในระยะไกลที่สุด และการมองที่ชัดเจนโดยที่ไม่ต้องพยายาม
- ฝ้าเพดานสูง 3.40 เมตร เป็นระยะความสูงของที่ทำรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย ซึ่งคิดจากระยะการมองที่ยังชัดเจนในระยะไกลที่สุด และการมองแบบที่กรอกตาได้มากที่สุดโดยที่ยังสามารถแยกแยะสี
- ปัจจัยอื่นๆ นอกจากนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ยังขึ้นกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ขนาดของห้อง ความกว้างและความยาวของห้อง หรือแม้แต่หน้าต่างที่เปิดให้เห็นภายนอกร่วมด้วยที่มีผลต่อความรู้สึกคนในห้องนั้นๆ
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมบุคคลากรที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง เพื่อตอบโจทย์ Well-being ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก
เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
ภาพ : แฟ้มภาพบ้านและสวน