บ้านกลางสวน ที่เปิดมุมมองรับธรรมชาติรอบตัว
บ้านกลางสวน สบายๆ แบบรีสอร์ตที่เปิดโล่ง แบ่งโซนนิ่งของบ้านด้วยคอร์ตยาร์ดสองคอร์ตโดยเน้นปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น พร้อมช่องเปิดเพื่อเชื่อมมุมมองธรรมชาติ
การทำให้บ้านน่าอยู่และสดชื่นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสถาปัตยกรรมสวยๆ หรือการตกแต่งภายในให้อยู่สบายเท่านั้น หากแต่ความร่มรื่นจากต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวยังมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิความร้อน กรองแสงกรองฝุ่น เพิ่มออกซิเจน และส่งผลต่อการกระตุ้นพลังงานที่ดีให้ชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะอย่างนี้ คุณหนึ่ง-เดโช สว่างรุ่งเรืองกิจ และ คุณดาว-ดวงดาว รัตนวงศ์ชัย จึงตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังเดิมที่อยู่กลางเมืองซึ่งมีแต่ความแออัดและวุ่นวาย แล้วมองหาทำเลใหม่ที่ห่างจากตัวเมืองเพื่อสร้าง บ้านกลางสวน ให้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัวอย่างแท้จริง
แม้ก่อนหน้านั้นคุณหนึ่งจะยอมรับว่าเขาไม่เคยสนใจลงทุนกับเรื่องการสร้างบ้านเลยก็ตาม “ผมเคยคิดนะว่าการลงทุนกับบ้านมันไร้สาระ ตอนสร้างบ้านหลังนี้ก็ทำไปตามความต้องการของภรรยา ยิ่งมาเจอปัญหาระหว่างการก่อสร้างยิ่งหงุดหงิดมาก แต่พอแก้ปัญหาได้เรารู้สึกว่าโตขึ้น มองย้อนกลับไปแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ไม่ยากเลย เพราะสิ่งที่ได้มาคุ้มค่าสำหรับครอบครัวเรามากๆ” บ้านกลางสวน
ทำเลที่คุณหนึ่งถูกใจนั้นเป็นพื้นที่ของบ้านเดี่ยว 5 หลังติดกันภายในซอยแห่งหนึ่งใกล้กับสนามบิน ด้วยว่าสภาพแวดล้อมที่สงบเงียบและหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ทำให้ราคาบ้านย่านนี้ไม่สูงมากนัก ความตั้งใจเดิมคือ รีโนเวตบ้านแต่ละหลังและทำทางเชื่อมต่อถึงกัน แต่ คุณเต้อ–วิชญ์วัส บุญประสงค์ สถาปนิกแห่ง PVWB studio แนะนำว่าให้รื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ โดยถมที่ให้สูงขึ้นพ้นระดับรอยน้ำท่วมเดิมและออกแบบสเปซให้มีพื้นที่สีเขียวแทรกตัวอยู่กับบ้านอย่างเต็มที่
คุณเต้อเล่าถึงแนวคิดนี้ว่า “เพราะเจ้าของบ้านอยากได้บ้านสบายๆ แบบรีสอร์ตที่เปิดโล่ง ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ทั้งต้นไม้ แสงแดด สายลม และเสียงนกร้อง ทางเดินและช่องเปิดต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จริงเราวางผังบ้านไว้หลายแบบและให้ซินแสเพื่อนคุณหนึ่งดูด้วย ซึ่งก็เลือกแบบนี้ที่เป็นบ้านแนวยาวตามที่ดินรูปทรงแบบตัวที (T) มีทางเข้าบ้านสองทางคือทางหลักและทางเล็กๆ ด้านข้าง ผมอยากสร้างคาแร็กเตอร์ให้พื้นที่ยาวๆ นี้ก็เลยแบ่งโซนนิ่งของบ้านด้วยคอร์ตยาร์ดสองคอร์ต คอร์ตแรกอยู่กลางระหว่างห้องรับแขกกับห้องรับประทานอาหาร ล้อมรอบด้วยทางเดินและมีบ่อปลาคาร์ฟขนาดใหญ่ ส่วนอีกคอร์ตเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ล้อมด้วยทางเดิน แฟมิลี่รูม และห้องนอน ทั้งสองคอร์ตเน้นปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นแล้วยังเชื่อมต่อกันด้วยสระว่ายน้ำที่ยาว 25 เมตร ซึ่งแทนที่จะวางไว้กลางแจ้งเฉยๆ ผมก็ออกแบบให้ลอดผ่านตัวบ้าน จึงเกิดเป็นมุมกลางแจ้งและมุมในร่มสร้างบรรยากาศที่หลากหลาย ทำให้การใช้งานไม่น่าเบื่อ”
สถาปนิกยังออกแบบจังหวะการเข้าถึงของบ้านให้เหมือนการเข้าพักในรีสอร์ตที่มักเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ อย่างตัวบ้านด้านหน้าซึ่งมองจากภายนอกเหมือนเป็นบ้านหลังเล็กพร้อมคอร์ตต้นไม้เล็กๆ หน้าบ้านที่ช่วยปรับความรู้สึกการกลับมาบ้านให้ผ่อนคลาย ก่อนผ่านทางเดินกึ่งกลางแจ้งนำไปสู่มุมมองที่ค่อยๆ เปิดกว้างของห้องต่างๆ พร้อมกับคอร์ตขนาดใหญ่ตรงกลางที่เป็นเหมือนปอดธรรมชาติของบ้าน ซึ่งคุณดาวได้เล่าถึงการเลือกต้นไม้มาเติมเต็มพื้นที่คอร์ตไว้ว่า
“เราเลือกต้นไม้เองหมดเลยค่ะ เหมือนเจอเนื้อคู่ก็คือหลงรักต้นไหนก็ต้นนั้นเลย อย่างพระเอกกลางคอร์ตใหญ่นี่เป็นเสม็ดแดง รอบบ่อปลายังมีกระดิ่งนางฟ้า แก้วมุกดา แก้วเจ้าจอม และพะยอม ส่วนใหญ่เน้นฟอร์มใบสวยๆ ผสมผสานกันไป ส่วนคอร์ตเล็กก็ยังมีต้นเสม็ดแดงที่นกชอบมาทำรัง ตอนเช้าๆ เวลาตื่นมามักจะได้ยินเสียงนกร้อง เพราะเป็นมุมที่ใกล้กับห้องนอนพอดี ทำให้เรารู้สึกถึงพลังงานที่สดชื่นจากธรรมชาติมากๆ อย่างคุณยายที่เป็นภูมิแพ้ก็แข็งแรงขึ้น คุณหนึ่งบอกว่าทุกเช้าจะรู้สึกสมองปลอดโปร่งกว่าเมื่อก่อนมาก ส่วนดาวเองก็ชอบมานั่งห้อยเท้าอยู่ริมบ่อปลา มันทำให้เราหายเหนื่อยได้ดีเลย”
นอกจากการวางผังบ้านโดยแทรกพื้นที่คอร์ตสีเขียวแล้ว ยังมีรายละเอียดของการเลือกใช้วัสดุหลักในบ้านซึ่งนำความชอบจากเจ้าของบ้านทั้งคู่มาผสมผสานกันระหว่างความดิบเท่แบบคุณหนึ่งที่สัมผัสได้จากภาพรวมของสถาปัตยกรรมและการใช้ผนังอิฐสีเทาด้านนอกซึ่งออกแบบจัดวางสร้างแพตเทิร์นใหม่สลับกับเปิดเป็นบล็อกช่องลมในบางจุด กับความเรียบในโทนสีขาวสะอาดแบบคุณดาวซึ่งเป็นภาพรวมของงานตกแต่งภายในทั้งหมด เพื่อทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นและโปร่งสบาย
ยังมีอาคารอีกหลังที่แยกตัวออกจากบ้านพักอาศัยกลุ่มใหญ่นี้ แต่ต่อเนื่องด้วยภาษาทางสถาปัตยกรรมเดียวกัน โดยเจ้าของบ้านตั้งใจสร้างให้เป็นบ้านพักแม่บ้านและคนสวนเพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ สถาปนิกจึงวางตัวบ้านขนาด 2 ชั้นนี้ให้ไปในทิศทางเดียวกับบ้านใหญ่ เปิดชั้นล่างให้โล่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถปูเสื่อและทำกิจกรรมได้เหมือนใต้ถุนบ้านไทย พร้อมกับห้องน้ำรวมชายและมีส่วนบริการต่างๆ สำหรับบ้านใหญ่ ขณะที่ชั้นบนแบ่งเป็นห้องนอนใหญ่ 2 ห้องและห้องนอนเล็ก 3 ห้องกับห้องน้ำรวมหญิง ผนังอาคารส่วนที่หันหน้าเข้าบ้านใหญ่กั้นด้วยบล็อกช่องลมสีขาวที่มีช่องปาดเฉียงมาจัดวางสร้างแพตเทิร์นสลับไปมาถึง 14 ทิศทางเพื่อกรองแสงแต่ไม่ปิดกั้นลม ส่งผลให้เกิดเงาตกกระทบที่แตกต่างและสวยงาม
แม้คุณหนึ่งจะบอกว่าช่วงสร้างบ้านเป็นช่วงที่เหน็ดเหนื่อยและพบกับปัญหามากมาย แต่ทุกวันนี้เขารู้สึกขอบคุณสถาปนิกที่ออกแบบบ้านซึ่งสามารถรวมความสุขของทุกคนไว้ได้อย่างกลมกล่อมขนาดนี้
“เมื่อก่อนเรากินข้าวเสร็จก็แยกย้ายห้องใครห้องมัน หรือบางทีลูกก็อยากไปเที่ยวนอกบ้านมากกว่า แต่พอบ้านนี้มีครบทุกอย่างทั้งพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ส่วนตัว ที่ออกกำลังกาย และธรรมชาติร่มรื่น ทุกคนเลยชอบอยู่บ้านกันมาก เราได้ใช้เวลากับลูกๆ มากขึ้น และไม่อยากออกไปไหน ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่าแค่ทำบ้านดีๆ สักหลังจะทำให้สุขภาพกายและใจของเราทุกคนดีขึ้นขนาดนี้”
และรอยยิ้มของทุกคนที่เราได้สัมผัสในวันนั้นก็ช่วยยืนยันคำพูดของคุณหนึ่งได้เป็นอย่างดี
สถาปนิก : PVWB Studio โดยคุณวิชญ์วัส บุญประสงค์
เจ้าของ : คุณเดโช สว่างรุ่งเรืองกิจ และ คุณดวงดาว รัตนวงศ์ชัย
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์