เป็นที่ทราบกันดีว่าในงานก่อสร้างนั้นมีปัญหามากมายสารพัด รายละเอียดในหลาย ๆ จุดก็เป็นเรื่องค่อนข้างร้ายแรง หากทำไม่ดีแล้วปล่อยให้ผ่านไป ก็จะแก้ไขยากในอนาคต ลองมาดูไอเดียการ ตรวจงานก่อสร้าง ที่เจ้าของบ้านสามารถสังเกตและตรวจเช็กงานได้ด้วยตนเอง มีอะไรบ้างนั้นมาดูกันครับ
ตรวจงานก่อสร้าง
1. เสาและคานโครงสร้างคอนกรีตไม่ได้ผ่านการบ่ม
ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในลำดับต้นๆเลยทีเดียว เพราะเสาและคาน ค.ส.ล.ถือเป็นหัวใจของโครงสร้าง เมื่อคอนกรีตทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำและจับตัวกันจนแข็ง ถ้าถอดแบบแล้วทิ้งไว้โดยไม่ได้บ่ม น้ำจะระเหยออกทำให้คอนกรีตแห้งเร็วเกินไป ดังนั้นจึงต้องบ่มคอนกรีตด้วยการหุ้มกระสอบป่านราดน้ำให้ชุ่ม หรือหุ้มพลาสติกกันน้ำระเหย อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 7 วัน หรือหากถึง 14 วันก็จะยิ่งดี
2. การเปลี่ยนพื้นสำเร็จรูปเป็นพื้นเทคอนกรีต
พื้นสำเร็จรูปจะใช้การวางพาดบนคานหัวท้ายที่ออกแบบให้รับน้ำหนักพื้นชนิดนี้โดยเฉพาะ ส่วนคานด้านข้างทำหน้าที่รัดโครงสร้างเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบมาให้รับน้ำหนัก หากผู้รับเหมาเปลี่ยนสเป็กจากพื้นสำเร็จรูปเป็นพื้นเทคอนกรีตในบางจุด เพราะอาจสั่งของแล้วขาดนิดหน่อย น้ำหนักก็จะถูกถ่ายเทลงคานทั้งสี่ด้าน ซึ่งอันตรายมาก หรือในทางกลับกัน หากเปลี่ยนสเป็กจากพื้นเทคอนกรีตเป็นพื้นสำเร็จรูปก็อันตรายเช่นกัน
3. วงกบประตูหน้าต่างที่ผนังก่อไม่มีเสาหรือคานเอ็นยึด
เสาหรือคานเอ็นทับหลังนอกจากทำหน้าที่เป็นกรอบสำหรับยึดวงกบประตูหน้าต่างให้มั่นคงแข็งแรงแล้ว คานเอ็นทับหลังที่อยู่เหนือวงกบบนของประตูหน้าต่างยังทำหน้าที่รับและถ่ายเทน้ำหนักของผนังก่อที่อยู่เหนือขึ้นไปไม่ให้ตกบนวงกบโดยตรง ซึ่งจะทำให้วงกบแอ่นหรือบิดโก่ง ใช้การไม่ได้ หากผู้รับเหมาลักไก่ไม่ทำ ต้องสั่งให้รื้ออก ! ทำใหม่ด้วย
4. การเจาะพื้นห้องน้ำเพื่อวางระบบท่อ
ตามปกติการสร้างห้องน้ำซึ่งเป็นพื้นเทคอนกรีต มักจะฝังท่อระบบน้ำไว้ตั้งแต่ตอนเทพื้นแล้ว หากมาเจาะเพื่อฝังภายหลัง อาจเกิดปัญหารั่วซึมบริเวณรอบรอยต่อของท่อได้ ซึ่งการแก้ไขในภายหลังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงถ้าเกิดเจาะพื้นแล้วไปโดนเหล็กเสริมโครงสร้างก็เป็นเรื่องอันตรายเช่นกัน
5. ไม่แช่อิฐในน้ำก่อนก่อผนัง
อิฐแห้งๆเมื่อนำไปใช้ในงานก่อและฉาบจะดูดน้ำจากปูนฉาบอย่างรวดเร็ว เมื่อปูนแห้งก็จะเกิดการแตกร้าว หรือถ้าจะฉาบผนังก่อที่แห้งแล้วก็ควรพรมน้ำให้ชุ่ม มิฉะนั้นปูนฉาบจะถูกดูดน้ำและเกิดรอยร้าว แม้จะไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับงานโครงสร้างหลัก แต่เมื่อเกิดความเสียหายก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวเช่นกัน เพราะอาจต้องสกัดผนังทั้งผืนเพื่อแก้ไขซ้ำสอง ฉะนั้นก่อนก่อผนังต้องนำอิฐไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือก่อนฉาบควรพรมน้ำที่ผนังให้ชุ่มก็จะเป็นการดี
6. ลูกฟักกระจกไม่ติดยางรอง
ลูกฟักกระจกที่ติดตั้งในร่องบานกรอบประตูหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือโลหะเหล็กต้องมียางรองหรือยาแนวด้วยซิลิโคน ป้องกันการโคลงและรับแรงกระแทก หากไม่ติดตั้งอาจเป็นอันตรายยามเปิด-ปิดประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะมุมขอบกระจกซึ่งอาจบิ่นแตกร้าวได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่กระจกที่ใช้กับบ้านพักอาศัยมักเป็นกระจกธรรมดาไม่ใช่กระจกนิรภัย
7. เทพื้นคอนกรีตที่ชั้นล่าง โดยไม่รองแผ่นพลาสติกกันชื้น
การเทพื้นคอนกรีตบนดินจะต้องรองแผ่นพลาสติกกันความชื้นจากดินก่อน มิฉะนั้นความชื้นจากดินจะซึมเข้าไปทำให้เหล็กเสริมในพื้นเป็นสนิม บางทีอาจซึมขึ้นมาถึงวัสดุปูพื้นจำพวกปาร์เกต์หรือสีตามขอบผนังใกล้พื้นให้หลุดล่อนด้วย
8. สกัดเสาและคานเพื่อฝังท่อไฟฟ้า
บ้านที่ต้องการเดินไฟแบบฝังผนัง ช่างจะสกัดอิฐก่อบางส่วนออกเพื่อเดินท่อไฟ กรณีที่มีเสาและคานขวางแนวท่อสายไฟ ตามหลักการก่อสร้างที่ดีแล้วผู้รับเหมาจะต้องฝังปลอกรัดท่อสำหรับเดินแนวท่อเอาไว้ก่อน ห้ามเจาะหรือสกัดตัวโครงสร้างโดยตรง เพราะโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักเหล่านั้นอาจเกิดความเสียหายแตกร้าว หากสกัดไปถูกเหล็กเสริมภายในด้วยแล้วยิ่งอันตรายมาก
9. ติดตั้งถังบำบัดโดยไม่เติมน้ำให้เต็มก่อนฝังกลบ
ถังบำบัดน้ำเสียในปัจจุบันมักใช้ระบบสำเร็จรูปฝังในดิน ตัวถังผลิตจากวัสดุพีวีซี เวลาติดตั้งต้องขุดหลุมฝังตอกเสาเข็มและฐานรากรองรับ เมื่อวางถังแล้วต้องเติมน้ำให้เต็มถังก่อนฝังกลบ มิฉะนั้นแรงอัดจากดินด้านข้างจะทำให้ถังเปล่าเกิดการบุบแตกเสียหาย การแก้ไขจะยุ่งยากและเลอะเทอะมากๆ
10. ใช้ปูนสำหรับงานก่อฉาบมาเทโครงสร้าง
โดยทั่วไปปูนซีเมนต์ที่ใช้ในงานก่อสร้างมีอยู่สองประเภท ได้แก่ ปูนสำหรับงานโครงสร้างหรือปอร์ตแลนด์ประเภทที่1 (type I) เช่น ตราเพชร ตราช้าง ตราทีพีไอ(สีแดง) ตราพญานาคเขียว ฯลฯ และปูนที่ใช้สำหรับงานก่อฉาบหรือปูนซิลิกา จำพวกตราเสือ ตรานกอินทรีย์ ตราทีพีไอ(สีเขียว) ตรางูเห่าฯลฯ ต้องระวังช่างมักง่ายที่อาจหยิบปูนฉาบที่เหลือๆอยู่มาผสมเทโครงสร้างหรือพื้น ซึ่งจะทำให้บ้านคุณพังเอาง่ายๆ ตรวจงานก่อสร้าง
เรื่อง : นาย อ.
ภาพประกอบ : มาโนช กิตติชีวัน