หลังจากมีการแถลงข่าวและเริ่มต้นดำเนินการรื้อถอนไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ตามนโยบายในการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองพัทยาตลอดแนวชายหาดพัทยาของ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ภายใต้งบประมาณดำเนินการกว่า 166 ล้านบาท ซึ่งออกแบบและดำเนินการปรับปรุงโดยบริษัทนงนุชแลนด์ แอนด์ การ์เด้นดีไซน์ จำกัด กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าวควบรวมไปถึงการรื้อถอนและทำลายต้นหูกวางเก่าแก่ รวมทั้งต้นไม้เดิมของพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาเกือบทั้งหมดไปอย่างน่าเสียดาย
หลังจากเริ่มดำเนินการไปเพียงไม่กี่วันก็เริ่มมีเสียงร้องเรียนจากชาวเมืองพัทยาบางส่วนถึงความเหมาะสมของการเข้าไปรื้อถอนและทำลายต้นหูกวาง รวมถึงต้นไม้เดิมบางส่วนที่มีอายุตั้งแต่หลายสิบปีไปจนถึงหลักร้อยปี ในบริเวณชายหาดพัทยาเหนือ -ใต้ ตลอดระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตรของโครงการ Pattaya New look เพื่อปรับระดับพื้นที่ให้ดูเป็นระเบียบร้อยก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยต้นปาล์ม(ไม่ทราบชนิด) ตามที่ปรากฎในแบบการก่อสร้างของบริษัทนงนุชแลนด์ แอนด์ การ์เด้นดีไซน์ จำกัด และเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา โดยในภาพทัศนียภาพที่นำเสนออกมาให้ประชาชนบางส่วนได้เห็นแทบไม่มีเค้าโครงของบริบทและองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมเดิมในพื้นที่ใดหลงเหลืออยู่เลย โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่เหล่านี้
รู้จักกับต้นหูกวางกันสักหน่อย
ต้นหูกวางมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia catappa L. อยู่ในวงศ์ Combretaceae เป็นต้นไม้ยืนต้นอายุยาวนาน สูงได้ถึง 15 – 20 เมตร เป็นต้นไม้ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่เขตร้อนของโลกทั้งอนุทวีปอินเดีย เอเซียตะวันตกเฉียงใต้ ยาวไปจนถึงภูมิภาคโอเชียเนียและหมู่เกาะฮาวาย โดยส่วนมากจะพบบริเวณป่าชายหาดริมทะเล สถานะเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในยุคหนึ่งนิยมใช้ปลูกในงานภูมิทัศน์ที่มีขนาดโครงการค่อนข้างใหญ่มากเช่นรีสอร์ตริมทะเลและสวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่โตเร็วและแข็งแรงคงทนมาก สามารถเติบโตได้ในพื้นที่แห้งแล้งและดินทุกชนิดแม้แต่ดินปนทรายที่มีเพียงต้นไม้ไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ดี อีกทั้งยังมีความสวยงามในแง่ของรูปทรงพุ่มที่ค่อนข้างกลมหรือรูปพีระมิดหนาทึบ นอกจากนั้นยังผลัดใบจากสีเขียวอ่อนเป็นสีส้มแดงดูสดใสสวยงามในฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
แต่อย่างไรก็ตามต้นหูกวางเองก็มีข้อเสีย เช่น ไม่ควรปลูกในบริเวณลานจอดรถเพราะมีผลที่แข็งและใบร่วงมาก หรือมีระบบรากที่ใหญ่และแผ่กว้างจนอาจสามารถทำความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างเช่นอาคารหรือพื้นคอนกรีตได้ แต่อย่างไรก็ตามในมุมกลับกัน ระบบรากที่แข็งแรงนี้ถือว่าเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมทางธรรมชาติชั้นดีในการช่วยยึดเกาะกันระหว่างต้นไม้และตลิ่งไม่ให้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะได้โดยง่าย จึงถือว่าเป็นต้นไม้ที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศริมทะเลและพื้นที่ชายหาดที่มีลมและคลื่นแรง
นอกจากนั้นต้นหูกวางยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆอีกหลากหลายในวิถีชีวิตของชาวไทยทั้งอดีตถึงปัจจุบัน เช่น นิยมนำใบที่ร่วงไปแช่น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด เนื่องจากใบมีสารแทนนินซึ่งมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและปรับสภาพน้ำให้เป็นกรดอ่อนๆเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลา หรือนำมาบดและต้นเพื่อใช้ย้อมสีผ้า เนื้อไม้ยังให้สีและลวดลายสวยงามสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งก่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน เครื่องดนตรี อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ เมล็ดที่มีลักษณะคล้ายอัลมอนด์ยังสามารถนำมารับประทานและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคได้อีกด้วย
คุณค่าที่มากกว่าความงาม
ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วมีการให้ความสำคัญกับต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่เป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนไม่ไกลจากบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์ ต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 30 เซนติเมตรจะได้รับการขึ้นทะเบียนและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ท่ามกลางการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์อยู่ตลอดเวลาต้นไม้ใหญ่เหล่านี้คือสิ่งต้องห้ามที่ไม่สามารถรื้อถอนหรือทำลายได้ แม้แต่ในการตัดแต่งหรือดูแลแต่ละครั้งก็ต้องใช้รุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปประเมินและทำเรื่องขออนุญาตทุกครั้ง หากจำเป็นต้องมีการื้อถอนจริงแม้จะอยู่ในที่ดินของเอกชนก็ต้องได้รับการประเมินและยินยอมจากผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านทั้งเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม การตัดต้นไม้หนึ่งต้นอาจต้องปลูกทดแทนอีกหลายต้น ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และกิ่งเปราะจนอาจทำอันตรายต่อผู้คนหรือทรัพย์สินได้อย่างต้นจามจุรีก็ตาม ทำไมพวกเขาถึงหวงแหนต้นไม้ใหญ่เหล่านี้นัก?
นอกเหนือจากประโยชน์ในด้านกายภาพ คำตอบอาจอยู่ที่การให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุนทรียะที่เรียกว่า “sense of place“หรือจิตวิญญาณของสถานที่นั้น เราแทบจะไม่เคยเห็นงานออกแบบสากลในต่างประเทศโดยเฉพาะงานในยุคปัจจุบันที่หยิบยกภาพจากสถานที่หนึ่งในโลกและนำมาใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบอีกสถานที่หนึ่ง เพราะถือเป็นความเข้าใจร่วมกันว่าทุกสถานที่ในโลกล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน จนไม่มีอะไรสามารถเทียบเท่าหรือแทนที่กันได้ด้วยความตั้งใจ
ต้นไม้ทุกต้นโดยเฉพาะต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่สาธารณะล้วนมีคุณค่ามากกว่าแค่ความสวยงามและการนำไปใช้ประโยชน์ เหนือสิ่งอื่นใดคือคุณค่าทางจิตใจเช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนได้โดยง่าย นอกจากจะเป็นบ้านและที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็กอย่างนกหรือกระรอก ต้นหูกวางบางต้นยังเป็นร่มให้กับคนที่มานั่งเล่น เป็นห้องทำงานให้กับบางคน หรือสถานที่อันมีค่าในความทรงจำของผู้คนอีกมากมาย ไม่นับรวมราคาต้นทุนในแง่ของระยะเวลาและอายุของต้นไม้แต่ละต้นที่ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยเยอะกว่าอายุขัยของมนุษย์หลายเท่านัก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาต้นไม้ต้นไหนที่สามารถปลูกทดแทนต้นไม้ต้นเดิมที่เสียไปได้โดยเร็ว
ปัญหาการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เรื่องเดิมๆที่ควรมีทางออก
ปัญหาสำคัญที่สุดของการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีมาตลอด คือการเข้าไปทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้บริหาร ผู้ออกแบบและคนในชุมชน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จของงานภูมิทัศน์สำหรับพื้นที่สาธารณะที่สวยงาม ตรงตามความต้องการและสามารถเกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงกับทุกฝ่าย เพราะตราบใดที่งานออกแบบพื้นที่สาธารณะในประเทศไทยยังเป็นการออกแบบในรูปแบบที่คิดแทนให้กันเพียงไม่กี่ฝ่าย ท้ายที่สุดผลของงานที่ออกมาอาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนบางส่วนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์หลักและได้รับผลกระทบมากที่สุดในก่อสร้างโครงการครั้งนี้ สุดท้ายแล้วผลงานที่สำเร็จออกมาก็อาจจะเป็นงานที่ให้ความสวยงามแค่เพียงไม่กี่วันที่เสร็จและใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่ยั่งยืนตามจุดประสงค์ที่ควรจะเป็น
สิ่งสำคัญต่อมาคือการสื่อสารกันระหว่างองค์กรบริหารกับประชาชน นอกเหนือไปจากภาพประชาสัมพันธ์และรายละเอียดของโครงการ ฝ่ายบริหารควรแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในทุกส่วน ทั้งเหตุผลในการก่อสร้าง งบประมาณ รวมไปถึงสิ่งที่ต้องทำการรื้อถอนและสูญเสียไปจากการดำเนินการโครงการนั้นๆ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันก่อนที่จะทำการเรื้อถอนและก่อสร้างจริง ซึ่งหากมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในขณะนั้นก็สามารถที่จะชี้แจง ทำความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงและหาทางออกที่ดีร่วมกันได้ตั้งแต่ต้น ช่วยให้โครงการนั้นไม่เกิดเป็นตราบาปที่เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบไปด้วยกันและไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปได้อย่างไม่มีวันกลับ
เรื่อง : ปัญชัช
ขอขอบคุณ คุณ Chairat Rattanopas และ คุณ Bhanuwat Jittivuthikarn